“กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” เชิญผู้แทน สมช. ศอ.บต. และ กอ.รมน. ร่วมประชุมให้ข้อมูลพร้อมข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาความขัดแย้งปลายด้ามขวาน “ประธานฯจาตุรนต์” เผย 3 หน่วยงานถือกฎหมายคนละฉบับ อำนาจหน้าที่ลักลั่น ไม่บูรณาการ ด้านความคืบหน้าเจรจาสันติภาพ ลุยตั้งคณะอนุกรรมาธิการเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นทั้งในและนอกพื้นที่
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” เดินหน้าทำงานและจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ
ล่าสุดวันพุธที่ 8 พ.ย.66 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 4 ในมิติด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และด้านการบริหารจัดการองค์การการบังคับใช้กฎหมาย และการพิจารณาความเหมาะสมของการขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ กมธ.รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การกำหนดประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่อไป
โอกาสนี้ได้มีการเชิญผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนโยบายการดำเนินงานของหน่วยงานในด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่, การเสริมสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบังคับใช้กฎหมาย และด้านงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม
ผลการประชุมสามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า สมช., ศอ.บต. และ กอ.รมน. มีดำเนินการและข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
1. สมช. ได้จัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน
โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการพัฒนาศักยภาพและทักษะการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน และการบูรณาการของส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ศอ.บต.ได้จัดทำแผนงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ, แผนงานพัฒนาศักยภาพในพื้นที่, แผนงานพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และแผนงานเสริมสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรในประเทศและต่างประเทศ
โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 โดยจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และแผนปฏิบัติการต่อไป
3. กอ.รมน.ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, การยุติการก่อเหตุรุนแรง และการบริหารจัดการชายแดน, การจัดทำกรอบแผนงานเพื่อสร้างสันติสุข และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข
โดยมีข้อเสนอแนะให้ปรับลดพื้นที่ที่ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกลับไปใช้กลไกเดิมที่ใช้บังคับในสถานการณ์ปกติ
ด้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หน่วยงานทั้ง 3 ต่างมีอำนาจตามกฎหมายคนละฉบับ อาจมีปัญหาในการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินงานมีความลักลั่น ทั้งมิติด้านหน้าที่ และมิติด้านอำนาจ กมธ.จะต้องพิจารณาว่า ระบบที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร โครงสร้างองค์กรที่จะดูแลจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเป็นระบบที่ดีและมีบูรณาการที่ดีมีประสิทธิภาพต้องมีลักษณะเช่นไร รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ส่วนประเด็นการเจรจาสันติภาพที่หลายฝ่ายมีความประสงค์ให้พลเรือนมีบทบาทมากกว่าหน่วยงานความมั่นคง และปัจจุบันยังมิได้มีการแต่งตั้งเลขาธิการ สมช. มีส่วนทำให้กระบวนการเจรจาสันติภาพไม่มีความคืบหน้า ในส่วนนี้ทาง กมธ.ได้มีการตั้งคณะอนุ กมธ.ขึ้นคณะหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเจรจาสันติภาพ โดยเฉพาะผ่านเครื่องมือกลไกรับฟังความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงทั้งหมด อันจะเป็นการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเจรจาพูดคุยสันติภาพที่มีประสิทธิภาพว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
“ทั้งจะมีการรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้นอกพื้นที่ด้วย เพราะ กมธ.พิจารณาว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศ จำเป็นต้องให้ประชาชนในสังคมส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากขึ้น และพร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหา
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ กมธ.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาอธิบายสถานะการแก้ปัญหา และข้อเสนอแนะต่อไป อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมพระธรรมนูญ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เป็นต้น
ภายหลังจากเชิญหน่วยงานรัฐครบถ้วนแล้ว กมธ.จะเชิญนักวิชาการที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ บทบาทภาครัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในคณะทำงานเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา มาให้ข้อเสนอด้วย อันจะเป็นเสมือนการฉายภาพรวมต่อ กมธ. ทำให้เห็นปัญหาโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
@@ นายกฯส่งสัญญาณชัดไม่ยุบ กอ.รมน.
ในขณะที่ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็น กมธ.วิสามัญ และเป็นกลไกทางนิติบัญญัติที่กำลังศึกษา ตรวจสอบ พร้อมจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมองว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ยังไม่บูรณาการกันอย่างเป็นเอกภาพ เพราะถือกฎหมายคนละฉบับ มีความลักลั่นทั้งมิติของหน้าที่และอำนาจ โดยกรรมาธิการหลายคนใน กมธ.ชุดนี้ ยังร่วมรณรงค์ให้ยุบหน่วยงาน กอ.รมน.ด้วยนั้น
ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบท่าทีของฝั่งรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีอำนาจบริหาร กลับมองประเด็นนี้สวนทางกันแทบจะสิ้นเชิง
วันที่ 9 พ.ย.66 นายกฯเศรษฐา ทวีสิน แถลงผลงานในรอบ 60 วัน โดยตอบคำถามพิธีกรช่วงหนึ่งของการแถลง เกี่ยวกับประเด็นการยุบ กอ.รมน.ว่า “ผมรู้สึกตกใจกับเรื่องนี้ เนื่องจากไม่เคยแถลงนโยบายนี้ออกไป ซึ่งทุกๆ องค์กร ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ กอ.รมน. ไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) หรืออีอีซี (คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ก็ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามบริบทของสังคม
ขณะนี้ทางกองทัพเองก็ได้ตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแนวทางในการใช้ กอ.รมน. เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน ร่วมแก้ปัญหาทางสังคม คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกิน ปัจจุบันนี้ได้นำเอาพื้นที่ของหน่วยงานที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนกว่า 1 หมื่นไร่ (หนองวัวซอโมเดล จ.อุดรธานี) และปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ก็กำลังหาแนวทางร่วมกัน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”