ประเด็นที่กำลังอ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงถูกขยายผลทางการเมืองเพื่อโจมตีรัฐบาลอีกระลอก ก็คือประเด็น “เรือดำน้ำจีน”
เพราะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กมธ.ทหาร มี สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล เป็นประธาน มีกำหนดเรียกผู้แทนกระทรวงกลาโหมเข้าชี้แจงเรื่องนี้
จากนั้นวันที่ 22 พ.ย. ก็จะยกคณะไปที่กระทรวงกลาโหม พบ “บิ๊กทิน” สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ถึงที่กระทรวงกันเลยทีเดียว
ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหา “เรือดำน้ำจีน” ที่ไม่สามารถติดตั้งเครื่องยนต์เยอรมันให้กับไทยได้ตามสัญญา เริ่มมีความสับสนเกิดขึ้นอีกแล้ว
- เดิม “บิ๊กทิน” ออกมาบอกเมื่อราวๆ ปลายเดือน ต.ค.ว่า กองทัพเรือเสนอมาเอง จะทบทวนโครงการจัดหาเรือดำน้ำ โดยเสนอเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตแทน
- คำกล่าวของ “บิ๊กทิน” ทำให้เกิดความเข้าใจว่า จะนำเงินที่จ่ายไปแล้วสำหรับเรือดำน้ำ ไปแลกหรือเปลี่ยนเป็นราคาเรือฟริเกต และจ่ายเพิ่มเฉพาะส่วนต่าง ทำให้ได้เรือฟริเกตราคาไม่แพงนัก แต่ศักยภาพสูง และไม่ต้องเสี่ยงกับเรือดำน้ำผิดสเปค เครื่องยนต์จีน ไม่ใช่เครื่องยนต์เยอรมัน
- แต่ไปๆ มาๆ เริ่มไม่มีความชัดเจนว่า เป็นการเสนอแลกเรือ หรือตั้งโครงการซื้อเรือฟริเกตเพิ่มกันแน่
ที่สำคัญหากแลกเรือแล้ว ไทยต้องจ่ายอีกเท่าไหร่ เนื่องจากเงินที่จ่ายไปแล้วกับเรือดำน้ำ ฝ่ายจีนจะนำมาหักกับค่าเรือฟริเกตทั้งหมดเลย หรือว่าต้องหักส่วนที่ลงทุนต่อเรือดำน้ำไปแล้วออกก่อน ซึ่งก็จะทำให้มีเงินมาหักเป็นส่วนต่างได้ไม่มากนัก หรือหากไม่มีเลย ไม่เหลือเลย ก็เท่ากับว่าต้องซื้อเรือฟริเกตในราคาเต็มนั่นเอง
หลังจากถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันช่วงนั้น เรื่องก็เงียบหายไปราวๆ 10 กว่าวัน
กระทั่งล่าสุด “บิ๊กทิน” ได้พบกับผู้แทน บริษัท CSOC บริษัทต่อเรือดำน้ำของจีน ซึ่งเป็นคู่สัญญากับกองทัพเรือ ในงานนิทรรศการอุปกรณ์ป้องกันประเทศ หรือ Difense & Security 2023
ปรากฏว่าผลการหารือย้อนกลับไปเหมือนที่สังคมเคยตั้งคำถามเอาไว้เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แถมข่าวที่ออกมาคู่ขนานกันจากทางกองทัพเรือคือ จริงๆ แล้ว ทร.ยังต้องการเรือดำน้ำ ไม่ใช่แลกเรือดำน้ำกับเรือฟริเกต โดยอ้างถึงรายงานสรุปที่เสนอรัฐบาล โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีต ผบ.ทร.ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไป
บทสรุปที่ได้จากการหารือระหว่าง “บิ๊กทิน” กับตัวแทนบริษัท CSOC จึงย้อนกลับไปจุดเดิม และตรงกับข้อสังเกตในช่วงเดือน ต.ค.ทั้งหมด กล่าวคือ
- บริษัท CSOC อ้างไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องเป็นหน่วยงานระดับรัฐ เพราะเป็นโครงการ จีทูจี
- “บิ๊กทิน” แย้มว่า ข้อติดขัดน่าจะเป็นนโยบายของบริษัทจีนเอง เพราะได้ผลิตและลงทุนสร้างเรือดำน้ำไปแล้ว หากไทยไม่ซื้อ ก็จะมีปัญหาขาดทุน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหาทางดูแลชดเชย
- เรื่องนี้ต้องจบกันที่ระดับนโยบาย ไม่จบที่ระดับปฏิบัติ
- “บิ๊กทิน” ยอมรับว่าท่าทีกองทัพเรือยังต้องการเรือดำน้ำ ถ้าไม่ได้จริงๆ จึงจะขอเรือฟริเกต หรือ เรือโอพีวี (เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง)
แต่ “บิ๊กทิน” ก็ไม่ได้บอกอยู่ดีว่า เป็นการตั้งโครงการใหม่ หรือนำโครงการเรือดำน้ำไปแลก
แต่เมื่อ “บิ๊กทิน” พูดเรื่องบริษัทจีนขาดทุน แปลว่าไม่มีการแลกเรือ
- เมื่อโดนนักข่าวซักว่า หากสุดท้ายต้องติดเครื่องยนต์จีน รับได้หรือไม่ “บิ๊กทิน” โยนให้เป็นมติ ครม.
แปลง่ายๆ ว่าไม่ยอมรับความเสี่ยงไว้คนเดียว
@@ นายกฯขยับ 2 ประเด็นความมั่นคง “เรือดำน้ำ-ไฟใต้”
ความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ทำให้เมื่อวันพุธที่ 8 พ.ย. มีข่าว นายกฯเศรษฐา เรียก “บิ๊กทิน” และผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล
- มีการหารือเรื่องเรือดำน้ำด้วย เพราะ “บิ๊กทิน” เผยหลังการประชุมว่า นายกฯได้กำชับให้เตรียมข้อมูลชี้แจงในสภาให้พร้อม
- มีข่าวการเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องภาคใต้ เคยมีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีกรรมการขับเคลื่อนแผนงานดับไฟใต้ ขณะที่รัฐบาลชุดต่างๆ ในอดีตมีคณะกรรมการลักษณะที่ว่านี้ โดยรัฐบาล “บิ๊กตู่” คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. มี ”บิ๊กป้อม” เป็นประธาน
มีข้อสังเกต 2 ประการ จากความเคลื่อนไหวนายกฯเศรษฐา เรียก “บิ๊กทิน” และ “บิ๊กทหาร” ตบเท้าเข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาล
1.ประเด็นเรือดำน้ำ การเปลี่ยนเรือ เปลี่ยนสัญญา หรือแก้สัญญา ไม่ใช่เรื่องง่าย
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ยุค “บิ๊กป้อม” ให้ข้อคิดเอาไว้แบบนี้
- การมีเรือดำน้ำ เป็นยุทธศาสตร์และนโยบายการป้องกันประเทศด้านการทหารทางทะเลเฉพาะด้าน มีความสลับซับซ้อนมาก ใช้งบประมาณสูง และต้องพึ่งพาระบบสนับสนุนทั้งในและต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน ไม่สามารถทดแทนด้วยระบบป้องกันประเทศอื่นๆ ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในเวลาอันสั้นหรือง่ายๆ โดยไม่มีความเสียหายหรือข้อบกพร่องตามมา
- ดังนั้น ข้อเสนอที่พูดกันในช่วงนี้ว่าจะไปแทนด้วยสินค้าอื่น เช่น เรือรบผิวน้ำ ฯลฯ จะยิ่งสลับซับซ้อน เพราะต้องยกเลิกแผนเดิมและต้องไปเจรจาระดับรัฐบาล ระดับกองทัพ และกับผู้ผลิต ซึ่งก็ต้องตั้งคณะพิเศษต่างๆ และในระดับปกติทำไม่ได้
อาจารย์ปณิธาน ให้ข้อมูลว่า ความจริงไทยเคยขอยกเลิกการจัดซื้อโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการเครื่องบินขับไล่ F-18 มาแล้ว แต่เป็นเงื่อนไขพิเศษในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อช่วงปี 2540-2542 และต้องใช้การเจรจาระดับสูงโดยตรงของฝ่ายผู้นำหรือฝ่ายการเมือง
แต่ผลที่จะตามมาก็คือ หากต้องยกเลิกโครงการเรือดำน้ำ ก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงข้อบกพร่องหรือความเสียหายต่อระบบการป้องกันประเทศในระยะยาวได้ และในอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้นมาต่อความมั่นคง หรือต่อระบบการป้องกันประเทศที่ร้ายแรง โดยเฉพาะทางทะเล ใครจะต้องรับผิดชอบ และจะต้องรับผิดชอบแค่ไหนอย่างไร
2.ประเด็นการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องนี้ยังไม่มีข่าวผลการหารือออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ท่าทีแบบนี้ ความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ บ่งชี้ว่า...
- นายกฯเศรษฐา และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้บริการกองทัพในภารกิจดับไฟใต้เหมือนเดิม
- โครงสร้าง กอ.รมน.คงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
- ต้นปีหน้าจะครบวาระ 20 ปีไฟใต้ 20 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นปฐมบทไฟใต้รอบปัจจุบัน การตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนฯ จะเป็นกลไกของฝ่ายบริหารที่ทำงานคู่ขนานกับฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภา ที่มีการตั้ง “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” หรือ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
องค์ประกอบใน กมธ.ส่วนใหญ่ และมีบทบาทสูง ล้วนเป็น สส.ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกล และภาคประชาสังคมที่ยืนตรงข้ามกับกองทัพและฝ่ายความมั่นคงเกือบทั้งสิ้น
การตั้งคณะทำงานของรัฐบาล จึงน่าจะมาถ่วงดุล “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” ชุดนี้ด้วย
และนี่คือ 2 ประเด็น 2 ความเคลื่อนไหวในมิติความมั่นคงที่น่าสนใจจากรัฐบาลเพื่อไทย ณ ต้นเดือนพฤศจิกายน!