ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากคนใน กอ.รมน. เคยถูกปฏิบัติการในลักษณะ “ไอโอสีดำ” ด้อยค่า ด่าทอ
ผมเคยทำข่าวปัญหาชายแดนใต้ ลงพื้นที่อยู่หลายปีในนาม “ศูนย์ข่าวอิศรา” โครงการนำร่องรายงานข่าวในพื้นที่ขัดแย้งของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันพัฒนาเป็นศูนย์ข่าวสืบสวน ตรวจสอบทุจริต แต่ก็ยังมีหน้าเว็บไซต์ย่อยของภาคใต้อยู่)
คนใน กอ.รมน.เคยทำสื่อโจมตีผมว่าเป็นแนวร่วมโจรใต้ นำภาพผมไปเสนอในรายงาน และฉายขึ้นจอวิดีทัศน์เวลามีคณะบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่เยี่ยมเยือน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ภายในค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยมีการนำภาพตัวตะกวด ตัวเห้ ประกบกับภาพใบหน้าผม ซึ่งระบุชื่อ-นามสกุลจริงชัดเจนด้วย
หลายคนที่รู้จักผมมีโอกาสลงพื้นที่ชายแดนใต้ และได้ไปฟังบรรยายสรุปของ กอ.รมน. เห็นภาพจากวิดีทัศน์ที่ว่านี้ยังตกอกตกใจ โทรมาเล่าให้ผมฟังอย่างตื่นเต้นอยู่เนืองๆ ว่าผมเป็นแนวร่วมโจรไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่ผมเติบโตมาจากครอบครัวทหารผ่านศึก
ที่เล่าให้ฟังนี้กำลังจะบอกว่า ผมเองก็โดนคนใน กอ.รมน.เล่นงานหนัก แต่สิ่งที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้ไม่ได้ตั้งบนอคติ หรือความโกรธเกลียดใดๆ เป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ผมได้ศึกษามาอย่างยาวนาน และรู้จักองค์กรแห่งนี้เป็นอย่างดี
ผมเห็นด้วยกับการยุบเลิก กอ.รมน. แต่ไม่ใช่ยุบให้หายไปจากสารบบงานความมั่นคง แต่ควรปรับภารกิจและโครงสร้างไม่ให้เป็นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือเป็น “หน่วยงานของกองทัพ” และเป็น “หมวกใบที่ 2” ของบรรดาแม่ทัพ ขุนทหารของกองทัพบก
เพราะต้องยอมรับว่าการมีกฎหมายและโครงสร้างองค์กรเพื่อบูรณาการหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหมด เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงใหม่ๆ ที่มีพลวัต และเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่โครงสร้างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่โครงสร้างภายใต้การกำกับของทหาร โดยเฉพาะเมื่อต้องรับภารกิจที่ไม่ใช่การรบทัพจับศึกโดยตรง
ไม่ใช่รบกับเชื้อโรค ก็ยังต้องใช้ทหาร หรือแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายใน ต่อสู้ทางความคิดกับคนไทยด้วยกัน อย่างเช่นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังใช้ทหาร แบบนี้มันผิดฝาผิดตัวชัดเจน เพราะกรอบคิดของทหารคือมองอีกฝ่ายเป็น “ศัตรู” แต่การต่อสู้ทางความคิดความเชื่อ เป็นการสู้กับ “คนชาติเดียวกัน”
เน้น “ชนะใจ” ไม่ใช่ “ชนะด้วยอาวุธ” หรือ “ชนะบนซากศพ”
ฉะนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลที่เสนอกฎหมายให้เลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพียงเพื่อจะยุบ กอ.รมน.ให้สิ้นซากไป เพราะไม่พอใจที่ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง เนื่องจากกฎหมายในลักษณะนี้ยังสมควรต้องมี และควรใช้วิธีแก้กฎหมาย มากกว่ายกเลิกกฎหมาย เพื่อไม่ให้มี “สุญญากาศ” ในช่วงที่กฎหมายเดิมถูกยกเลิกไป และยังไม่มีกฎหมายใหม่มารองรับ
การปรับแก้ คือการเตรียมการสร้างหน่วยงานใหม่ หรือโครงสร้างใหม่มารองรับในช่วงเปลี่ยนผ่านนั่นเอง
เพราะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “เป็นเจ้าภาพเพื่อบูรณาการ” มันไม่มีจริงๆ ย้อนกลับไปตอนไฟใต้ปะทุใหม่ๆ เมื่อปี 2547 รัฐบาลคุณทักษิณตอนนั้นก็พบปัญหานี้ คือไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพบูรณาการ จึงต้องออกคำสั่งสำนักนายกฯ ตั้ง “กอ.สสส.จชต.” ขึ้นมา เรียกสั้นๆ ว่า “กอ.3ส.” หมายถึง กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
แล้วโครงสร้างนี้มันก็ไม่เวิร์ค เพราะมันไม่เป็นทางการ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับ ตบโต๊ะก็ไม่มีใครฟัง แม้รัฐบาลในสมัยนั้นได้ไปอัญเชิญ “ทหารใหญ่” มาเป็น ผอ.ก็ตาม (ถ้าจำไม่ผิด คือ “บิ๊กยักษ์” พล.อ.สิริชัย ธัญญศิริ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม)
โปรดสังเกตว่า รัฐบาลคุณทักษิณก็เป็นรัฐบาลพลเรือน มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังไปอัญเชิญทหารมาเอง ฉะนั้นก็อยากจะบอกพี่ๆ น้องๆ ในพรรคก้าวไกลว่า การไปเปิดวอร์ด่าทหาร ด่ากองทัพแบบสาดเสียเทเสีย ทำนองว่ากองทัพอยากมีอำนาจจนตัวสั่น สอดแทรกเข้ามามีบทบาทในทุกภารกิจ มันก็ไม่ค่อยจะถูกนัก เพราะหลายๆ ครั้งฝ่ายการเมืองก็ไปกวักมือเรียกเขาเข้ามาเอง
เมื่อโครงสร้าง “กอ.3ส.” ไม่เวิร์ค รัฐบาลจึงต้ดสินใจฟื้น กอ.รมน.ขึ้นมารับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ ซึ่งเป็นการฟื้นขึ้นมาก่อนมีกฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มารองรับเมื่อปี 2551 เสียอีก
และอยากฝากถึงพี่ๆ น้องๆ ในพรรคก้าวไกล อย่าไปพูดโจมตี กอ.รมน.ด้วยการโยงไปถึงยุคปราบคอมมิวนิสต์ ยุคสงครามเย็น แล้วไปกล่าวหาว่าเขาเป็นวัตถุโบราณ หลงยุค เพราะภารกิจปราบคอมมิวนิสต์มันจบไปนานแล้ว และกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ก็ยกเลิกไปแล้วในรัฐบาลคุณชวน สมัยที่ 2 เมื่อปี 2543
กอ.รมน.ที่อยู่ต่อมาได้ เพราะไม่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายคอมมิวนิสต์โดยตรง และคนที่ไม่ยอมให้ยุบ ก็คือรัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยคุณทักษิณนั่นเอง
ฉะนั้นอย่าไปด่าเขาเป็น “ปรสิตความมั่นคง” มันด้อยค่ากันเกินไป นึกถึงคุณงามความดีของเขาบ้าง คอมมิวนิสต์จบลงได้ ไทยเป็นประเทศเดียวในย่านนี้ที่หยุด “โดมิโน” ไม่ให้ล้มต่อๆ กันไปอีกได้ ก็ต้องยอมรับฝีมือกองทัพประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ไปด้อยค่าคนโน้นคนนี้เป็นปรสิต ระวังถูกย้อนถามบ้างว่า พรรคการเมืองที่ไม่คัดสรรคนดีๆ มาสมัคร สส. ได้มาแต่คนอื้อฉาว ก่อปัญหา แถมไม่แสดงสปิริต ไม่มีกลไกจัดการได้อย่างเด็ดขาด แบบนี้เป็นปรสิตในระบบการเมืองด้วยหรือเปล่า
อย่าลืมหลักการพรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค อย่าโทษแต่ตัวบุคคล โดยไม่ย้อนดูตัวเองเลย
กลับไปที่โครงสร้าง กอ.รมน. สรุปว่าโครงสร้าง “หน่วยงานบูรณาการ” ยังมีความจำเป็น แต่โครงสร้าง กอ.รมน.มันผิด ก็ต้องแก้ที่ตรงนั้น
ภารกิจหลายๆ อย่างที่ไม่ควรทำ เช่น ไอโอสีดำ แจ้งความจับนักสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม เป็นศัตรูกับประชาชนเสียเอง แบบนี้ก็ต้องเลิก ซึ่งคิดว่าหากออกแบบโครงสร้างใหม่ สร้างกรอบคิดใหม่ให้องค์กร และคัดเลือกบุคลากรที่เข้าใจปัญหา เข้าใจภารกิจเข้าไปทำงาน ก็จะแก้ไขได้ไปเอง
ส่วนเรื่องงบประมาณที่นำมาชำแหละกันว่า 10 ปี แสนล้าน ปีล่าสุด 7 พันกว่าล้าน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมเขาบ้าง เพราะเขารับผิดชอบจ่ายเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัยให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติราชการสนามที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นงบบุคลากร เมื่อคนเยอะ หลายหมื่นอัตรา งบมันก็ต้องเยอะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งที่ควรไปตรวจสอบเขามากกว่าคือ “อัตรา กอ.รมน.” มีบัญชีผีเท่าไหร่ เด็กนายกี่คน พวกไม่ได้ลงพื้นที่จริง แต่รับเบี้ยเสี่ยงภัย วันทวีคูณ มีมากน้อยแค่ไหน แบบนี้น่าจะตรงเป้ามากกว่า
จะต่อสู้กับองค์กรที่มีอำนาจล้น อย่าพูดแค่เอามัน ควรสู้อย่างมียุทธศาสตร์และข้อมูล หาพวกหาเพื่อนให้มาก ผมยังงงว่าไปเปิดศึกกับพรรคเพื่อไทย แล้วจะแก้กฎหมายความมั่นคงได้อย่างไร เพราะประธานสภาตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องใช้คำรับรองของนายกฯ จึงจะเสนอเข้าสภาได้ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133) หรือเป็นความพยายามตีปี๊บ เพื่อกลบปัญหาอื่นของตัวเอง...
ความจริงเชิงลึกที่ไม่ค่อยมีใครรู้ และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่มีความพยายาม “ไม่ยุบ กอ.รมน.” ก็เพราะองค์กรนี้คือ “ขุมทรัพย์” หรือ “บ่อน้ำมัน” ของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก
ข้อมูลนี้มาจากนายทหารระดับสูงในกองทัพที่มองเห็นปัญหา ให้ข้อมูลเชิงยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ดังนี้
1.โครงสร้าง กอ.รมน. แบ่งเป็น 4 ภาค ตามกองทัพภาค ของกองทัพบก ซึ่งมี 4 ภาคเหมือนกัน, ผอ.รมน.ภาค คือ แม่ทัพภาคนั้นๆ
เท่ากับว่า แม่ทัพ สวมหมวก 2 ใบ คือ เป็นทหาร (แม่ทัพ) และเป็นหัวหน้าหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่บูรณาการ นั่นก็คือ ผอ.รมน.ภาค
งบที่มีให้ใช้จึงมี 2 ก้อน เท่ากับว่า แม่ทัพมีงบในมือเพิ่ม มีอำนาจเพิ่ม มีรถราม้าใช้เพิ่ม และมีบุคลากรให้ใช้งานเพิ่ม
อาทิ แม่ทัพมีสิทธิบินแบล็กฮอว์ก งบของกองทัพจะคำนวณออกมาเลยว่า ถ้าสถานการณ์ปกติ เหมือนปีก่อนๆ จะขึ้นบินได้กี่เที่ยว สมมติปีนี้ภารกิจมาก แม่ทัพบินจนครบโควต้าแล้ว งบน้ำมันหมดแล้ว ก็ไปใช้งบ กอ.รมน.มาบินเพิ่มได้ อย่างนี้เป็นต้น
2.มีการเปิดตำแหน่งใน กอ.รมน. รองรับนายทหารที่ถึงทางตัน ไม่มีเส้นทางเจริญเติบโตในกองทัพบก หรือแม้แต่กองทัพไทย
เช่น เติบโตสายทหารพราน หรือเป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบก พอจะโตต่อ เพื่อขึ้นแม่ทัพ ปรากฏว่าขึ้นไม่ได้ ก็คาอยู่ที่ยศ “พลตรี”
ในอดีต แต่ละกองทัพภาค มี “พลโท” คนเดียว คือแม่ทัพ (ปัจจุบันมี “แม่ทัพน้อย” ด้วย) แต่เมื่อมีโครงสร้าง กอ.รมน. ก็เปิดตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” อัตราพลโท และเลื่อนไหลถึง พลเอก
ใครสนใจลองเสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูได้ ตำแหน่งที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือ ที่ปรึกษา กอ.รมน.เฉยๆ หรือตำแหน่งแปลกๆ ที่ไม่มีในกองทัพ จะเป็นตำแหน่งในสาย กอ.รมน. และเลื่อนไหลถึงยศ “พลเอก” ทำให้ทหารที่ยศตัน ตำแหน่งตัน มีเส้นทางไปต่อ ใช้งบ กอ.รมน.ในส่วนงานหรือภารกิจที่อุปโลกน์เพิ่มขึ้นมา
นี่คือต้นตอของปัญหา ทางแก้คือแก้กฎหมาย รื้อโครงสร้างใหม่ และจัดบุคลากรใหม่ให้สอดคล้องกับภารกิจ ยุติแนวคิด “ทหารคือยาสามัญประจำบ้าน” แก้ได้ทุกปัญหา เพราะมันได้พิสูจน์แล้วว่า อำนาจที่ได้มา มาพร้อมกับผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน!
-------------------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์โหมโรง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 6 พ.ย.66 ด้วย