ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 พ.ย.2566 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ความว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ พ้นจากตำแหน่ง อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
@@ เปิดประวัติ “เลขาฯบิลลี่”
สำหรับ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ชื่อเล่น “บิลลี่” เกิดเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2511 ปัจจุบันอายุ 55 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และอดีตรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เป็นบุตรชายของ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อดีตผู้บังคับการปราบปราม (อดีตผู้การกองปราบ) โดยสมัยที่ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ อยู่กองปราบ เคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ด้วย
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ จบโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 27 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 43 สมัยรับราชการตำรวจ เคยปฏิบัติหน้าที่ที่กองปราบ ก่อนจะโอนย้ายไปรับราชการที่ดีเอสไอ เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในดีเอสไอ ทั้งผู้บัญชาการสำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศ, ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร และรองอธิบดีดีเอสไอ (อ่านประกอบ : รู้จัก “วรรณพงษ์ คชรักษ์” ว่าที่เลขาฯศอ.บต.คนใหม่)
@@ เลขาฯศอ.บต. คนที่ 5
สำหรับ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ นับเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.คนที่ 5 ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ.2553 และกำหนดให้ผู้บริหารหน่วยงาน ศอ.บต. คือ เลขาธิการ ศอ.บต. แทนที่ตำแหน่งเดิมคือ ผู้อำนวยการ ศอ.บต.
โดยเลขาธิการ ศอ.บต. คนแรก ได้แก่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ผอ.ศอ.บต.มาก่อนด้วย ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา
เลขาธิการ ศอ.บต.คนที่ 2 คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เลขาธิการ ศอ.บต.คนที่ 3 คือ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ และคนที่ 4 คือ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร ก่อนที่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ จะมารับไม้ต่อในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่พอดี
@@ เส้นทาง ศอ.บต. 4 ทศวรรษ
องค์กร ศอ.บต. ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานนี้จัดเป็น “หน่วยงานพิเศษ” ได้ัรับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่อย่างมาก เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากข้าราชการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในพื้นที่มาทุกยุค
โดยในอดีต ผอ.ศอ.บต. มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการที่มีปัญหา หรือถูกประชาชนต่อต้าน ออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
ศอ.บต.ในยุคอดีต มีอายุ 21 ปี มี ผอ.ศอ.บต.ทั้งสิ้น 8 คน ถูกยุบเลิกในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ.2545 เพราะมองว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะจบลงแล้ว ไม่ควรมีองค์กรพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่พิเศษในพื้นที่นี้
แต่หลังจากการยุบ ศอ.บต. ปรากฏว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้กลับมาปะทุรุนแรงยิ่งกว่าในอดีต แต่เมื่อไม่มีองค์กร ศอ.บต. ทำให้ทิศทางการแก้ไขปัญหาไปอยู่ในมือของฝ่ายกองทัพเป็นหลัก และมุ่งเน้นปฏิบัติการด้านความมั่นคง
ต่อมา รัฐบาลนายทักษิณ ถูกยึดอำนาจจากการรัฐประหารปี พ.ศ.2549 มีการตั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาบริหารประเทศแทน และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ฟื้นองค์กร ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่ ภายใต้โครงสร้างเดิม และมี ผอ.ศอ.บต.ต่อมาอีก 2 คน คือ นายพระนาย สุวรรณรัฐ กับ นายภาณุ อุทัยรัตน์
จากนั้นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตรากฎหมายขึ้นมารองรับองค์กร ศอ.บต. และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 โดยโครงสร้าง ศอ.บต.ได้รับการปรับใหม่ ให้มีเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นผู้บริหารสูงสุด และมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ เป็นผู้กำกับดูแล ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.
โครงสร้าง ศอ.บต.ดังกล่าวนี้ ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน และมีเลขาธิการ ศอ.บต.มาแล้ว 4 คน โดย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คือคนที่ 5