ข้อเสนอการต่ออายุ-ขยายเวลาการบังคับใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หนนี้ มีพลวัตที่น่าสนใจประการหนึ่ง
นั่นก็คือไม่ใช่แค่ขยายเวลา พร้อมลดพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯลง เหมือนการต่ออายุครั้งอื่นๆ เท่านั้น แต่มีการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับมาใช้ใหม่ในบางอำเภอที่ยกเลิกไปแล้วด้วย
อำเภอนั้นคือ อำเภอศรีสาคร จ.นราธิวาส
จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่าการปลด อ.ศรีสาคร ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีขึ้นในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.62 มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กมฉ. เป็นประธานการประชุม
การต่ออายุ-ขยายเวลาครั้งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.62 ถึงวันที่ 19 ธ.ค.62 โดย อ.ศรีสาคร เป็นอำเภอที่ 5 ที่มีการปลด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อจาก อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
ครั้งนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ให้เหตุผลในการขอปรับลดพื้นที่ อ.ศรีสาคร ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ว่าสถานการณ์ความไม่สงบและสถิติการก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มดีขึ้น โดยการปรับลดพื้นที่ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี
พร้อมกันนั้นได้เสนอให้นำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" มาบังคับใช้แทน และคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบตามที่ กบฉ.เสนอ
ส่วนการเสนอให้ อ.ศรีสาคร กลับมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯฯ อีกครั้ง ในการประชุม กบฉ. เมื่อวันที่ 11 ต.ค.66 ที่ผ่านมา มีเหตุผลประกอบว่า “เพราะสถิติการเกิดเหตุเพิ่มสูงขึ้น”
@@ บึ้ม-ยิงถี่-พันตรีพลีชีพ
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ตรวจสอบเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ศรีสาคร ย้อนหลังไปตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน (12 ต.ค.) พบว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นหลายเหตุการณ์จริง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย
11 ม.ค.66 - ลอบวางระเบิด อส.ชุดคุ้มครองตำบลศรีสาคร บนถนนบ้านไอร์แยง หมู่ 3 ทำให้เจ้าหน้าที่ อส.ชคต.ศรีสาคร เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บสาหัส 2 นาย
20 ม.ค.66 - เจ้าหน้าที่ปิดล้อมยิงปะทะคนร้ายในพื้นที่บ้านอาฮง หมู่ 4 ต.เชิงคิรี วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคง เสียชีวิต 3 ราย
2 มี.ค.66 - กลุ่มคนร้ายโจมตีและขว้างระเบิดใส่ฐานปฏิบัติการร้อยทหารพรานที่ 4906 ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านไอร์กาแซ หมู่ 6 ต.ศรีสาคร แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ
3 มี.ค.66 – คนร้ายลอบวางระเบิดและโจมตีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ทหารชุดอีโอดี ที่ขับนำขบวนคณะของรองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ไปตรวจฐานทหารพรานที่ถูกโจมตี ในพื้นที่ บ้านไอร์กาแซ หมู่ 6 ต.ศรีสาคร ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 2 นาย ( หนึ่งในนั้นเป็นนายทหารยศพันตรีชุดอีโอดี ) และบาดเจ็บ 1 นาย
3 ส.ค.66 – คนร้ายลอบวางระเบิดท่อลอดใต้ถนน บ้านไอร์ตืองอ หมู่ 5 ต.ศรีสาคร ชาวบ้านบาดเจ็บ 2 ราย
17 ส.ค.66 - คนร้ายลอบวางระเบิดทหารพราน สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 ขณะปฏิบัติหน้าที่สร้าง “บ้านปันสุข” ให้ชาวบ้านในพื้นที่ บ้านตะโล๊ะ หมู่ 2 ต.ซากอ ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 4 นาย
1 ต.ค.66 – คนร้ายโจมตีฐานชุดคุ้มครองตำบลศรีสาคร บ้านไอร์แยง หมู่ 3 ต.ศรีสาคร ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
@@ ไทยพุทธเคลื่อนต่อ จี้นายกฯอย่าเลิก พ.ร.ก.
ความเคลื่อนไหวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีการเดินขบวนเรียกร้องจากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ ให้รัฐบาลยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯในพื้นที่ต่อไป ไม่ยกเลิกตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้อง
พี่น้องไทยพุทธยะลา เพิ่งชุมนุมและยื่นหนังสืงถึงผู้ว่าฯในประเด็นเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ก่อนการประชุม กบฉ.
แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ กบฉ.จะมีมติให้ต่ออายุ-ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้ว ก็ยังมีการชุมนุมต่อเนื่อง แต่คราวนี้รวมตัวกันกว่า 200 คน ในนามสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินขบวนพร้อมถือป้ายประกาศข้อเรียกร้องไปที่หน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 ออกมารับหนังสือด้วยตนเอง
แถลงการณ์ของพี่น้องไทยพุทธ อ้างข้อมูลว่าประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพี่น้องมุสลิมบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าการยกเลิก พ.ร.ก.จะทำให้ผู้บริสุทธิ์มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น
ด้าน แม่ทัพน้อยที่ 4 กล่าวว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ กบฉ.สรุปความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างชัดเจนว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความจำเป็นอยู่
ขณะที่ น.ส.นภศร ศิริมังคะโล ตัวแทนกลุ่มชาวไทยพุทธในพื้นที่ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของพวกตนไม่ได้ให้มีการประกาศใช้ทั้งหมดทุกพื้นที่ เพียงแค่บางพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงที่ขอให้ประกาศใช้ต่อไป เพราะไม่อย่างนั้นเวลามีเหตุการณ์ขึ้นมาก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร
@@ ผู้ประกอบการเบตงหนุนต่อ พ.ร.ก.
อีกด้านหนึ่ง นายรีฮาน มามุติพงศ์ ผู้ประกอบการในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา กล่าวว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนตัวคิดว่า ควรที่จะต่ออายุ-ขยายเวลาออกไปอย่างต่อเนื่อง เพราะยังคงเกิดสถานการณ์ไม่สงบไม่หยุด โดย อ.เบตง เป็นเมืองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของยะลา มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก หากมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ อ.เบตง มากขึ้น
อย่างไรก็ดี “ทีมข่าว” รายงานเพิ่มเติมว่า อ.เบตง จ.ยะลา เป็นพื้นที่ที่ฝ่ายความมั่นคงเสนอปลด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำเภอแรกๆ ต่อจาก อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ปัจจุบันใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในการดูแลความปลอดภัยพื้นที่ ไม่ใช่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ