อีกแค่ 8 วัน จะมีเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รัฐบาล “นายกฯเศรษฐา” ต้องตัดสินใจ
นั่นก็คือการพิจารณาว่าจะต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีกหรือไม่ หลังจากประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 ขยายเวลาทุกๆ 3 เดือนมาแล้ว 73 ครั้ง รวมเวลามากกว่า 18 ปี จนหลายคนอยากจะเรียกว่า “ฉุกเฉินถาวร”
สาเหตุที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคไปหาเสียงเอาไว้ ว่าหากเข้ามามีอำนาจ จะยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ชายแดนใต้ทันที
จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยังประกาศจะยกเลิกกฎอัยการศึก, พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (ประกาศอยู่ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา และ 11 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้ว) และยุบองค์กรอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กับ ศอ.บต.ด้วย
แต่พอเข้ามามีอำนาจจริงๆ รัฐบาลกลับมีมติให้ต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้ต่อไปอีก 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ไม่น้อย
แต่การต่ออายุขยายเวลาแค่ 1 เดือน ก็ทำให้ฝ่ายที่อยากจะให้เลิก พ.ร.ก. มีความหวัง เนื่องจากปกติจะต่ออายุขยายเวลาคราวละ 3 เดือน เมื่อต่ออายุแค่ 1 เดือน แสดงว่าเตรียมจะเลิกหรือไม่
ทว่าคำถามที่ท้าทายก็คือ รัฐบาลจะกล้าเลิกจริงหรือ เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ก็ยังไม่ได้สงบราบคาบ และเป็นที่ทราบกันว่า “ข้อดีของกฎหมายฉบับนี้” ทำให้ฝ่ายความมั่นคงรับรู้โครงสร้างของผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก
ขณะที่ความเห็นของคนในพื้นที่ก็แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน คือ ฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับฝ่ายที่คัดค้าน โดยเฉพาะพี่น้องไทยพุทธที่ทราบกันดีว่า ตกเป็นเป้าหมายถูกข่มขู่ ทำร้าย ขับไล่พ้นพื้นที่ เรียกว่าโดนกดดันคุกคามทุกรูปแบบ พวกเขาก็อยากให้มีเครื่องมือปกป้องดูแลพวกเขาต่อไป
การตัดสินใจหนนี้จึงเป็นงานยากจริงๆ ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง เขียนบทความเสนอทางออกที่เรียกว่า “ผ่าทางตันเอาไว้” ในลักษณะ “พบกันครึ่งทาง”
@@ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ : อยู่หรือไป
รัฐบาลไทยจะเอาอย่างไรกับปัญหาของพระราชกำหนดฉุกเฉิน ที่ประกาศออกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้?
ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงใหญ่ในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ … รัฐบาลควรจะยังคง “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ไว้ต่อไปหรือไม่? … ปัญหานี้เป็นหัวข้อของการถกเถียงของหลายๆ ฝ่ายมาโดยตลอดในหลายเวที และเป็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติที่เป็นความเห็นร่วมกันแต่อย่างใด
// ปัญหา //
หากย้อนกลับไปสู่จุดกำเนิด “พ.ร.ก.ใต้” นั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้เป็นผลผลิตของสถานการณ์ความรุนแรงหลังเหตุการณ์การปล้นปืนที่ “ค่ายปิเหล็ง” ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ในค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547
ตามรายงานที่ปรากฏนั้น มีอาวุธปืนที่ถูกปล้นเป็นจำนวนมากถึง 413 กระบอก และการบุกที่เกิดขึ้นมีรายงานว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 20 กว่านาทีเท่านั้น อันเป็นการปฏิบัติการทางทหารในแบบที่เป็นระบบ และผู้ปฏิบัติการน่าจะได้รับการฝึกเป็นอย่างดี
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในคืนที่มีการบุกปล้นค่ายทหาร ยังมีปฏิบัติการเพื่อดึงความสนใจของเจ้าหน้าที่ ด้วยการก่อเหตุในจังหวัดยะลา และปัตตานีในเวลาเดียวกัน หากมองในมิติความมั่นคงแล้ว ต้องยอมรับว่าการก่อเหตุในระยะเวลาต่อมามีลักษณะของ “การยกระดับ” ในแต่ละช่วงเวลาอย่างชัดเจน และผู้ก่อเหตุได้รับการฝึกทางยุทธวิธีอย่างชัดเจน
เมื่อเผชิญกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบ (insurgency) ด้วยกำลังอาวุธ สิ่งที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ดำเนินการในวันถัดมา คือ การออกประกาศ “กฎอัยการศึก” เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ความมั่นคงใหม่หลังการปล้นปืน โดยกฎหมายนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
สภาวะเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยเผชิญความรุนแรงชุดใหม่ในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ หรืออาจกล่าวในมิติทางทหารได้ว่า สงครามชุดเก่าของสังคมไทยในยุคสงครามเย็นจบลง และสงครามชุดใหม่เริ่มขึ้นในภาคใต้
แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงต้องการกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อเอื้อในเรื่องของการจับกุม จึงได้มีการประกาศใช้ “พระราชกำหนดฉุกเฉิน” ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และเชื่อว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นทางออกที่จะทำให้เกิดการจับกุมผู้ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการขอหมายจับจากศาล และจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการก่อเหตุในพื้นที่ เพราะจะสามารถเข้าควบคุมตัวได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องแก้ปัญหาในอีกด้านที่จะไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจอย่างไม่มีกรอบเวลา ดังนั้น พ.ร.ก. ดังกล่าวจึงถูกกำหนดให้ต่ออายุทุก 3 เดือน และจะต้องขอขยายเวลาการใช้ด้วยการออกเป็น “มติคณะรัฐมนตรี”
ว่าที่จริง ก็มีข้อถกเถียงเรื่องเวลาอย่างมากในขณะนั้น เพราะฝ่ายความมั่นคงเองมองว่า 3 เดือนสั้นเกินไป แต่รัฐบาลยืนยันในกรอบการขยายเวลาที่ 3 เดือน แต่กระนั้น พ.ร.ก.นี้ตกเป็นเป้าหมายวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเสียงเรียกร้องจากบางภาคส่วนในสังคมที่ต้องการให้ยกเลิก
นับจากการประกาศใช้ในปี 2548 ทุกๆ 3 เดือนจะมีข่าวถึงการต่ออายุกฎหมายนี้มาโดยตลอด และการต่ออายุครั้งล่าสุดเกิดขึ้นด้วยมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ พ.ร.ก.นี้ในช่วงวันที่ 20 มิถุนายน ถึงวันที่ 19 กันยายน 2566 และต่อมาในวันที่ 18 กันยายน มติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการขยายเวลาอีกครั้ง แต่แปลกที่เป็นการต่ออายุเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งต่างจากทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับ พ.ร.ก.นี้จะมีอายุจากวันที่ 20 กันยายน ถึงเวลาเที่ยงคืนวันที่ 19 ตุลาคม 2566
หากพิจารณาจากวันหมดอายุแล้ว ในวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ก่อนการหมดอายุของกฎหมายในวันที่ 19) จึงเป็นวันที่ถูกจับตามมองอย่างมาก นายกรัฐมนตรีเศรษฐา จะตัดสินใจในเรื่อง พ.ร.ก.นี้อย่างไร เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากบางส่วนในสังคมและในรัฐสภา
โดยมีเหตุผลหลักคือ กฎหมายนี้มีผลกระทบกับชีวิตของประชาชน เช่น ในกรณีการจับกุม และตามมาด้วยการเรียกร้องให้ใช้กฎหมายปกติในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายความมั่นคงจะเห็นต่าง เพราะพื้นที่สามจังหวัดไม่ใช่พื้นที่ปกติทางด้านความมั่นคง การจะใช้เพียงกฎหมายปกติจึงอาจเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่มีการก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
// ทางเลือก //
การตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด เพราะสถิติของการก่อเหตุรุนแรงยังคงมีอยู่มาก และที่สำคัญสถานะของพื้นที่เองก็มีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนพอสมควร
ฉะนั้น ฝ่ายความมั่นคงเองด้านหนึ่งยังคงต้องการ พ.ร.ก.ฉบับนี้ต่อไป แต่ยอมรับถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายที่เห็นแย้ง ดังที่กล่าวแล้วว่าต้องการให้ยกเลิกการบังคับใช้ทั้งหมด ซึ่งการหาทางออกในแบบ “พบกันครึ่งทาง” แม้จะดูเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ก็ไม่ง่ายเลย
สิ่งที่ต้องระวังจากข้อเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.นั้น อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎอัยการศึกอย่างเข้มงวดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่เป็นผลดีต่อพื้นที่ แต่ในอีกมุม ฝ่ายเห็นแย้งอาจจะต้องการให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงทั้งหมดในภาคใต้ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ฉบับ คือ
1) พ.ร.บ.กฎอัยการศึก (พ.ศ.2457)
2) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พ.ศ.2548)
3) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน (พ.ศ.2551)
แต่ดูเหมือนว่าภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น รัฐยังคงต้องการมี “กฎหมายพิเศษ” เพื่อการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ต้องตระหนักว่า กฎหมายเช่นนี้ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือกลายเป็นโอกาสของการใช้อำนาจเกินกว่ากรอบทางกฎหมาย เพราะการกระทำเช่นนั้น ย่อมเป็นการละเมิดต่อหลักของ “สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ” ที่การกระทำของรัฐจะต้องไม่กลายเป็นปัจจัยของการสร้างเงื่อนไขให้สถานการณ์ความรุนแรงดำรงอยู่ และ/หรือขยายตัวในพื้นที่ที่เป้าหมายต่อไป
ทางออกเฉพาะหน้าของฝ่ายรัฐต่อปัญหา พ.ร.ก.นี้ อาจต้องเริ่มด้วยการกระทำแบบ “3 ลด” คือ
1) ลดพื้นที่การบังคับใช้
2) ลดระดับการบังคับใช้ พร้อมกับดำเนินการโดยมีเป้าหมายที่จะก่อให้เกิด...
3) ลดความรุนแรงในพื้นที่ลงให้ได้
และเมื่อความรุนแรงดังกล่าวลดลงจนถึงจุดที่ควบคุมได้แล้ว กฎหมายความมั่นคงต่างๆ จะสิ้นสภาพไปเอง แต่ในสภาวะที่ความรุนแรงยังเกิดต่อเนื่องนั้น การปรับพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะการเลิกทุกอย่างทันที ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาในพื้นที่อีกแบบ และอาจเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองและความมั่นคงที่ผิดพลาดว่า รัฐบาลไทยกำลังถอยตัวเองออกจากพื้นที่ดังกล่าว
// อนาคต //
ถ้ารัฐบาลเลือกหนทางที่ไม่ใช่การ “ยกเลิกทุกอย่าง” ก็จะต้องให้ความมั่นใจถึงปรับการใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ชุดใหม่ อีกทั้งยังอาจต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งไทยพุทธและมุสลิมในเรื่องนี้ และทั้งจะต้องมีกระบวนตรวจสอบและทบทวนการใช้กฎหมายเหล่านี้ เพื่อจะเป็นคำตอบในอนาคตว่า พื้นที่ใดที่ไม่มีความจำเป็นทางด้านความมั่นคงแล้ว รัฐบาลจะยุติการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นสัญญาณถึงการกลับสู่ “ความเป็นปกติของพื้นที่” นั้นๆ
และจะต้องยอมรับอีกด้วยว่า การคืนพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นสัญญาณของความสำเร็จของรัฐบาลในการแก้ปัญหา และฝ่ายรัฐจะต้องเร่งสร้างพื้นที่ปกติเช่นนี้ให้ได้
ฉะนั้น การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ จึงเป็นความท้าทายต่อทิศทางการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นอย่างยิ่ง!