มีการวิเคราะห์หลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับความตึงเครียดล่าสุดในตะวันออกกลาง จากการเปิดฉากสู้รบกันระหว่าง กลุ่มฮามาส กับอิสราเอล
หลายฝ่ายพยายามค้นหาสาเหตุ โดยเฉพาะการภาพการโจมตีและทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยม และการตอบโต้โดยเกือบจะไม่เลือกเป้าหมาย
ทั้งฮามาส และอิสราเอล หรือพูดให้ถูกคือกองกำลังที่เคลื่อนไหวอยู่ในดินแดนแห่งนี้ รวมถึงชาติอาหรับ มีความขัดแย้งกันมาเนิ่นนาน
การประเมินทิศทางของสงครามและหาทางออกจากสถานการณ์นี้ จำเป็นต้องรู้รากเหง้าของปัญหาอย่างถ่องแท้
โดยเฉพาะฮามาสในวันถือกำเนิดขึ้นในฐานะ “ขบวนการต่อสู้ระดับท้องถิ่น” ใช้ยุทโธปกรณ์แบบ “แสวงเครื่อง” หรือ Homemade แต่วันนี้กลับบุกฝ่า Iron Dome อันแข็งแกร่งและเลื่องชื่อของอิสราเอลได้
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวอิศรา” เอาไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะเงื่อนปมของสงคราม
@@ 16 ปีแห่งความหลัง...
ดินแดนปาเลสไตน์ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกคือ เวสต์แบงก์ ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลปาเลสไตน์ ภายใต้การนำของผู้นำปัจจุบัน มาห์มุด อับบาส
ส่วนที่สอง คือ ฉนวนกาซา ซึ่งปกครองโดยกลุ่มฮามาส
สองดินแดนนี้ไม่ได้อยู่ติดกัน อยู่แยกออกจากกัน มีอิสราเอลคั่นกลางอยู่
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งระหว่างฮามาสกับอิสราเอล เพราะว่าอิสราเอลเข้าไปปิดล้อมดินแดนฉนวนกาซา นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ไม่ให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาหลุดรอดออกไปได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ให้คนจากข้างนอกเข้าไปในฉนวนกาซาได้ง่ายๆ
อาหารการกิน ยารักษาโรค หรืออุปกรการก่อสร้าง ก็ถูกจำกัดการเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซา
ฉนวนกาซานี้เป็นดินแดนเล็กๆ มีพื้นที่ราวๆ 360 ตารางกิโลเมตร แต่มีคนอยู่อาศัยประมาณเกือบ 2 ล้านคน องค์การสหประชาชาติบอกว่าเป็นดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก
นับตั้งแต่ปี 2007 อิสราเอลก็เข้าไปถล่ม โจมตีฉนวนกาซา สร้างความเสียหายเยอะมาก เหตุการณ์อย่างนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำซาก ฮามาสเองก็ยิงจรวดเข้าไปโจมตีอิสราเอล แต่ก็ถูกสกัดไว้หมด
นี่คือลักษณะปัญหาความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 มีการต่อสู้เป็นระลอกๆ ส่วนใหญ่คนที่เสียชีวิตและฝ่ายที่เสียหายมากที่สุดคือชาวปาเลสไตน์ เพราะว่าระหว่างฮามาสกับอิสราเอลไม่มีอะไรที่คู่ควรกัน ฮามาสเป็นแค่กลุ่มติดอาวุธ ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรมากมาย มีแต่อาวุธที่ผลิตแบบบ้านๆ จรวดก็เป็นจรวดบ้านๆ ผลิตเองภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกปิดล้อม แต่อิสราเอลเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจทางการทหาร เป็นถึงมหาอำนาจทางการทหารของโลก
ปัญหาก็คือตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่อิสราเอลเข้าไปปิดล้อมในฉนวนกาซา คนในฉนวนกาซาก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจ มีปัญหาทางสุขภาพ มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นที่นั้น แล้วทำให้กลุ่มฮามาสต้องหาวิธีในการที่จะแก้แค้นเอาคืน
@@ อีกหนึ่งชนวน : ตั้งนิคมชาวยิวในเวสต์แบงก์
อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในเวสต์แบงก์ มีมาตรการเข้าไปจัดการกับกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ แล้วเข้าไปตั้งนิคมชาวยิวในเวสต์แบงก์ในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนั้นอิสราเอลเข้าไปบุกมัสยิดอัลอักศอ เข้าไปทำลายคนที่ปฏิบัติศาสนกิจที่นั่น ภายใต้การควบคุมของทหาร ตำรวจอิสราเอล
เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้มันทำให้ฮามาสคิดหาวิธีในการเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับอิสราเอลบ้าง ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างฮามาสในฉนวนกาซา กับอิสราเอล มันเป็นลักษณะฮามาสส่งจรวดเข้าไปโจมตีในอิสราเอล แล้วอิสราเองก็ใช้กองกำลังทางอากาศเข้ามาถล่มโจมตีฮามาสในฉนวนกาซา อันนี้คือเกิดขึ้นปกติหลายระลอก หลายครั้ง จนประชาคมโลกชินกับเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้
@@ จุดเปลี่ยนปฏิบัติการ 7 ตุลาฯ
แต่ว่าครั้งนี้แปลกออกไป คือ ฮามาสส่งนักรบของตัวเองเข้าไปในดินแดนของอิสราเอล แล้วนักรบพวกนี้ก็เข้าไปบุกโจมตี เข้าสังหารทหารชาวอิสราเอล แล้วจับตัวประกันที่เป็นทหาร เป็นพลเรือน จำนวนหนึ่ง
นี่เป็นเหตุการณ์ใหม่ และเป็นเหตุการณ์ที่คิดว่าอิสราเอลก็คงช็อกเหมือนกัน ทั้งที่ตนเองก็ปิดล้อมฉนวนกาซาเป็นอย่างดี ปรากฏว่าความหละหลวมในด้านความมั่นคงครั้งนี้ทำให้ฮามาสส่งกองกำลังของตัวเองเข้ามาได้ แล้วสร้างความเสียหายในลักษณะที่อิสราเอลไม่เคยเสียหายอย่างนี้มาก่อนในบ้านของตัวเอง นับตั้งแต่หลังส่งครามปี 1973 เป็นส่งครามที่อิสราเอลต้องสู้กับกลุ่มติดอาวุธในการรบ แล้วอิสราเอลก็ทำอะไรไม่ได้มาก ลักษณะของการต่อสู้กับกลุ่มขบวนการคล้ายๆ แบบนี้
ผมคิดว่าอิสราเอลเป็นประเทศที่หวาดกลัวที่จะต่อสู้ในลักษณะอย่างนี้มากๆ
@@ กำเนิด “ฮามาส” ใช้หินสู้รถถัง
“กลุ่มฮามาส” เกิดขึ้นในปี 1987 ตอนนั้นพวกอาหรับเลิกรบกับอิสราเอลไปเรียบร้อยไปแล้ว มันจึงทำให้ชาวปาเลสไตน์ที่เป็นประชาชนต้องลุกขึ้นต่อสู้ด้วยตัวเอง แล้วก็นำไปสู่การลุกฮือครั้งใหญ่ในปี 1987 แล้วฮามาสก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนั้น
การเกิดขึ้นของฮามาสในยุคนั้น เป็นบรรยากาศของการต่อสู้ระหว่างประชาชนคนปาเลสไตน์ที่ไม่ค่อยมีอาวุธ กับกองทัพอิสราเอลที่อาวุธครบมือ เราจะเห็นการต่อสู้แบบใช้หินต่อสู้กับรถถังของอิสราเอล
ฮามาสเกิดขึ้นในลักษณะของกองกำลังติดอาวุธ แล้วก็บางครั้งฮามาสก็ไม่มีทางเลือกนอกจากระเบิดฆ่าตัวตาย หรือ “ระเบิดพลีชีพ” นับจากนั้นมาชาติตะวันตกและอเมริกาจึงขึ้นแบล็กลิสต์กลุ่มฮามาสว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสได้พัฒนาตนเองมาระยะหนึ่ง จากกลุ่มติดอาวุธก็เข้าไปสู่เวทีทางการเมืองในปาเลสไตน์ คือ ผันตัวจากการใช้วิธีสู้แบบกองโจร ก็สถาปนาตัวเองเป็น “กลุ่มการเมือง” แล้วก็เข้าไปเล่นการเมืองในกติกาประชาธิปไตยของปาเลสไตน์
ฮามาสตั้งพรรคการเมือง ในช่วงปี 2003-2004 แล้วไปลงเลือกตั้งปาเลสไตน์ครั้งแรกในปี 2005 ปรากฏว่าฮามาสชนะการเลือกตั้งครั้งนั้น แต่ชัยชนะของฮามาสไม่ได้นำฮามาสไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล เพราะว่าอิสราเอลไม่ยอมรับ สหรัฐอเมริกาก็ไม่ยอมรับ มาห์มุด อับบาส ผู้นำของปาเลสไตน์ในปัจจุบันก็ไม่ยอมรับด้วย เพราะ มาห์มุด อับบาส เป็นอำนาจเก่าของปาเลสไตน์ จนเกือบเกิดการทำสงครามภายใน ทั้งที่เป็นปาเลสไตน์เหมือนกัน
สุดท้ายทำให้ฮามาสตัดสินใจไม่ตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ว่าไปยึดครองฉนวนกาซา นับจากนั้นเป็นต้นมาดินแดนปาเลสไตน์ก็เลยแบ่งแยกออกเป็น 2 การปกครอง มี 2 รัฐบาล มีการเรียกร้องให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ที่แตกต่างกัน
ปัจจุบัน ฮามาสเป็นกลุ่มการเมืองเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ว่าฮามาสมีปีกทางการทหารอยู่ ขณะที่แบล็กลิสต์ของชาติมหาอำนาจและตะวันตกก็ยังอยู่ ยังมองว่าฮามาสเป็นกลุ่มขบวนการก่อการร้าย แต่โลกมุสลิมไม่ได้มองว่าฮามาสคือก่อการร้าย มองเป็นขบวนการต่อต้านการยึดครองที่มีความชอบธรรม
--------------------------
ภาพประกอบเรื่อง - วิกิพีเดีย th.wikipedia.org , https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/religion/10000-5648.html