เช้าตรู่เวลาในท้องถิ่นของอิสราเอล 06.30 น.วันเสาร์ที่ 7 ต.ค.66 กองกำลังฮามาส (Hamas) ชาวปาเลสไตน์ (Palestines) ที่บริหารฉนวนกาซา (Gaza) โจมตีอิสราเอลแบบเซอร์ไพรซ์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี
เป็นการปฏิบัติการณ์ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยรุกเข้าไปในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล และยิงขีปนาวุธหลายพันลูกข้ามจากฝั่งปาเลสไตน์เข้าอิสราเอล
ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คนและถูกจับเป็นตัวประกันจำนวนมาก (ซึ่งมีทั้งทหารและพลเรือน)
ภาพที่ออกมาตามสื่อและโซเชียลมีเดียนั้นแสดงให้เห็นถึงความรุนแรง และตัวประกันหลายคนเป็นสตรีและเด็กที่บาดเจ็บ (มีข่าวว่าสองสามีภรรยาสัญชาติไทยถูกจับไปเป็นตัวประกันด้วย)
นายกรัฐมนตรีอิสราเอลแจ้งประชาคมโลกว่า “อิสราเอลกำลังอยู่ในภาวะสงคราม ไม่ใช่เพียงเป็นการต่อสู้ประปรายตามชายแดน หรือการก่อการร้ายซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งมานาน”
สหประชาชาติกำลังประชุมเพื่อหามาตรการแก้ไขโดยด่วน
ประชาคมยุโรปออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด
อิสราเอลตอบโต้กลับด้วยกองกำลังทหารอย่างเฉียบพลัน โดยใช้เครื่องบินรบหลายสิบลำโจมตีเป้าหมายของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา
ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซาเสียชีวิตอย่างน้อย 232 รายและบาดเจ็บกว่า 1,610 ราย
@@ สองฝ่ายสูญเสียเฉียดพันศพ ยูเอ็นประชุมด่วน
ข้ามมาเพียง 1 วัน อิสราเอลประกาศเป็นทางการว่าเข้าสู่สงครามแล้ว
จำนวนผู้เสียชีวิตในอิสราเอลกว่า 600 คน คอนเฟิร์มโดยรัฐบาล
ด้านปาเลสไตน์แถลงว่าเสียชีวิตกว่า 313 คน
สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมด่วนบ่าย 3 โมงเวลานิวยอร์ก (วันอาทิตย์ที่ 8 ต.ค.)
อ.กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระชาวไทย จากแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวอิศรา” ขมวดองค์ความรู้สั้นๆ เพื่อให้ผู้ติดตามข่าวสารได้รู้จักตัวละครสำคัญของเหตุการณ์นี้
@@ ฮามาสคือใคร?
“ฮามาส” เป็นองค์กรทางทหารและการเมืองนิกายสุหนี่-อิสลามิสต์ปาเลสไตน์ที่ควบคุมฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2550
จำนวนทหารประมาณ 20,000 ถึง 25,000 นาย
สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ กำหนดให้กลุ่มฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย
เป้าหมายของฮามาส ได้แก่ การสถาปนารัฐอิสลามในปาเลสไตน์ทั้งหมด รวมถึงเขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และอิสราเอล
@@ ปาเลสไตน์คือใคร?
ชาวปาเลสไตน์ซึ่งมีเชื้อสายอาหรับนับถือศาสนาอิสลาม อยู่ในบริเวณฉนวนกาซาประมาณกว่า 2.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้จดทะเบียนเป็นผู้อพยพ 1.4 ล้านคน
แต่ชาวปาเลสไตน์หากรวมบริเวณอื่นด้วยประมาณ 14.3 ล้านคน ซึ่งอยู่ในจอร์แดน อิสราเอล ซีเรีย ชิลี ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ สหรัฐอเมริกา ยูเออี เลบานอนและที่อื่นๆ
ปาเลสไตน์ไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นรัฐอิสระที่ได้รับการรับรองโดย 138 ประเทศจากสมาชิกของสหประชาชาติ 193 ประเทศ
และ นับตั้งแต่ปี 2555 สามารถส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมสหประชาชาติ แม้ไม่ได้เป็นสมาชิก
@@ อิสราเอลคือใคร?
อิสราเอลเป็นประเทศที่มีประชากรเกือบ 10 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวยิว ตั้งอยู่ในตะวันออกกลางริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2491 ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งนาซีเยอรมนีสังหารชาวยิวไปหกล้านคน
อิสราเอลได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ พ.ศ.2492 ปัจจุบันมีการรับรองโดย 165 ประเทศจากสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ
อิสราเอลมีความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านอาหรับนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ และได้ทำสงครามกันหลายครั้ง
ความขัดแย้งระหว่างฮามาสและอิสราเอลมีความซับซ้อนและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ได้แก่...
สถานะของกรุงเยรูซาเล็ม :
กรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์สำหรับทั้งชาวยิวและชาวมุสลิม เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนาของทั้งสองศาสนา รวมถึงกำแพงตะวันตกสำหรับชาวยิว และมัสยิดอัลอักซอสำหรับชาวมุสลิม
อิสราเอลอ้างว่ากรุงเยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นเมืองหลวง ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์อ้างว่ากรุงเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต (ชาวคริสเตียนถือว่า เยรูซาเล็มเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจเช่นกัน เนื่องจากพระเยซูใช้ชีวิตสมัยเป็นเด็ก และสอนศาสนาให้กับคนยากจนเมื่อตอนเป็นหนุ่ม และถูกตรึงกางเขน รวมถึงฟื้นคืนพระชนม์ที่นี่)
การยึดครองเวสต์แบงก์ของอิสราเอล :
อิสราเอลได้ยึดครองเวสต์แบงก์นับตั้งแต่สงครามหกวันในปี พ.ศ.2510 ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเวสต์แบงก์อยู่ภายใต้การปกครองของทหารอิสราเอล และไม่ได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของอิสราเอล
การปิดล้อมฉนวนกาซา :
อิสราเอลได้ปิดล้อมฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2550 การปิดล้อมดังกล่าวจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าเข้าและออกจากฉนวนกาซา และมีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา
ความขัดแย้งระหว่างฮามาสและอิสราเอลต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนจากทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและการพลัดถิ่นอย่างกว้างขวาง
มีมุมมองที่แตกต่างกันหลายประการเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างฮามาสและอิสราเอล บางคนเชื่อว่าความขัดแย้งนั้นเป็นความขัดแย้งทางศาสนา ในขณะที่บางคนเชื่อว่าเป็นความขัดแย้งทางการเมือง
บางคนเชื่อว่าอิสราเอลต้องรับผิดชอบต่อความขัดแย้ง ในขณะที่บางคนเชื่อว่ากลุ่มฮามาสต้องรับผิดชอบ