ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับวันออกพรรษาปีนี้ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม
ทุกปีเทศบาลนครยะลาจะจัดให้มี “งานประเพณีชักพระ” เพื่อเป็นอนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีท้องถิ่นภาคใต้ วัดต่างๆ ในพื้นที่จึงใช้เวลาในช่วงนี้เร่งประดับตกแต่ง “เรือพระ” เพื่อนำมาร่วมประกวดในงานเรือพระ
อย่างที่ วัดศรีพัฒนาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดบ้านคล้า” วัดโบราณเก่าแก่อายุนับร้อยปี ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านคล้า หมู่ 1 ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา “เรือพระ” จากที่นี้ครองแชมป์ประกวดประเภท “เรือยอด” มาอย่างต่อเนื่องหลายปี รวมทั้งปีที่แล้ว 2565 ก็ยังคงรักษาแชมป์ไว้ได้
ปีนี้ทางวัดและชาวบ้านได้เริ่มลงมือทำเรือพระกันมาตั้งแต่เดือนกันยายน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเขียนแบบลายเพื่อนำมาแกะ โดยจะส่งให้กลุ่มแม่บ้าน เด็กๆ ในพื้นที่ที่อยู่ในช่วงปิดเทอม ช่วยกันสอดสีและนำส่งคืนเพื่อประดับเรือพระ รวมถึงให้พระลูกวัดช่วยกันลงพื้นกระดาษ
การทำเรือพระของวัดบ้านคล้า ชาวบ้านในหมู่บ้านจะเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ไม่ต้องไปจ้างใคร
ขั้นตอนการทำก็จะนำเรือพระของเดิม ซึ่งเป็นเรือขนาดกลาง มีความสูง 13 เมตร กว้าง 2 เมตรเศษ มาแกะลายเก่าออก ทำลายใหม่ใส่เข้าไปให้มีความสวยงามโดดเด่นมากยิ่งขึ้น พร้อมกับประดับตกแต่งไฟต่างๆ เพื่อโชว์ความสวยงามในส่วนของ “เรือยอด”
สำหรับที่หัวพญานาค 2 หัวของเรือพระเป็นแบบโบราณ แกะด้วยไม้ที่มีอายุยาวนาน เพียงแต่ต้องนำมาแกะลายเก่าออก เพื่อทำลายใหม่ให้สวยงามขึ้น แต่ทั้งหมดก็ยังคงอนุรักษ์ลวดลายการทำเรือพระแบบโบราณตามประวัติประเพณีวันออกพรรษา
ส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ทำ นอกจากจะมีไม้บรรทัด คัตเตอร์ กระดาษ เป็นหลักแล้ว ที่เห็นก็จะเป็นการใช้มีดแกะแบบโบราณที่ทำขึ้นมาเองจากใบเลื่อย ใช้เทียน ป็นตัวช่วยหล่อลื่นในการแกะลาย
สมพงศ์ เพ็ญบูรณ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านคล้า เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาในการทำเรือพระว่า เรือพระที่นี่เป็นการสืบสานกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เดิมจะชักพระไปในโซนพื้นที่หมู่บ้าน ละแวกกลางทุ่งนา เป็นประเพณีเก่าสืบสานกัน
ต่อมาทางเทศบาลนครยะลาได้จัดงานประเพณีชักพระขึ้นในช่วงวันออกพรรษา และมีการประกวดเรือพระ ก็ได้เชิญวัดต่างในพื้นที่มาร่วมกิจกรรม ทางวัดบ้านคล้าก็ได้เข้าร่วมด้วย โดยการนำเรือพระไปประกวดทุกปี เพื่อร่วมสืบสวนประเพณีอันดีงาม
ในการทำเรือพระ ได้มีศึกษาการทำ “เรือยอด” จากการไปดูแบบตามวัดต่างๆ ในโซน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับเรือพระของวัด และได้นำเข้าร่วมประกวดกับเทศบาลนครยะลา
“ช่วงปีแรกๆ ตอนที่ทำเรือพระของเราส่งเข้าประกวด จะได้รางวัลแค่ประเภทชมเชย แต่พอมา 10 ปีหลัง เรือพระที่นำเข้าประกวด จะได้รางวัลอยู่ในอันดับ 1 หรือไม่ก็อันดับ 2 ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศมาตลอด”
ผู้ใหญ่บ้านบ้านคล้า แย้มทีเด็ดของการคว้าแชมป์เรือพระว่า ความยากง่ายของเรือพระประเภท “เรือยอด” อยู่ที่สัดส่วนโครงสร้างมากกว่ารูปแบบลายกนก ตัวจบของลายกนกจะสำคัญ ซึ่งปีนี้เราก็ประดิษฐ์ใหม่ แม่เรือรวมทั้งโครงสร้างทำใหม่ รื้อใหม่หมด ทำลวดลายใหม่ด้วย
“จริงๆ แล้วของเก่าก็ใช้ได้ แต่เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และเพื่อความสามัคคีของชุมชน ก็อยากให้ชาวบ้านในชุมชนได้เข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ จะได้ร่วมกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรม และได้มีความสามัคคีกันในชุมชนมากขึ้น” ผู้ใหญ่บ้าน บอก
และว่าตอนนี้ก็ได้เริ่มถ่ายทอดการทำเรือพระให้กับลูกชาย น้องๆ คนรุ่นหลังอีกหลายคนในพื้นที่แล้ว เพื่อจะได้ร่วมกันอนุรักษ์การทำเรือพระไว้ให้คงอยู่ตลอดไป...
ประเพณีชักพระ และศิลปะการทำ “เรือพระ” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คืออีกหนึ่งหลักฐานยืนยันว่า ดินแดนแห่งนี้คือพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง