“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เล็งเสนอรัฐบาลตั้ง “กรรมการอิสระ” สอบเจ้าหน้าที่เอี่ยวโกดังพลุมูโนะระเบิด พร้อมหาเจ้าภาพลุยฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายให้ผู้ประสบภัย แฉรับเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมตำรวจเพียบ ทั้งไม่รับแจ้งความ อมของกลาง แนะกระทรวงยุติธรรมแก้ปัญหาทุจริตในเรือนจำ ด้าน “ทวี สอดส่อง” ประกาศ 3 แนวทางปฏิรูปคุก
วันจันทร์ที่ 2 ต.ค.66 ผู้แทนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เข้าพบและหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดในพื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ ผู้แทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อธิบดีได้มอบหมายให้ นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดี พร้อมด้วย นางสาวจิฬาภรณ์ ตามชู กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา และ นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เข้าร่วมหารือ
โอกาสนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะเรื่องสำคัญที่เคยมีการร้องเรียน และหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา
@@ เสนอตั้ง “กรรมการอิสระ” สอบ จนท. ปมโกดังพลุระเบิด
1.ช่วยเหลือเยียวยากรณีโกดังพลุระเบิด จ.นราธิวาส
- ผลักดันให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แก้ไขระเบียบการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือจากด้านความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยผลักดันให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ร่วมพิจารณาในประเด็นดังกล่าว
- ทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ในส่วนของบ้านเรือน ส่วนใหญ่ประชาชนประสงค์จะออกแบบบ้านเอง ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องเร่งให้การช่วยเหลือ
- ผลักดันการของบกลางกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน รวมถึงการช่วยเหลือในการดำรงชีพในเบื้องต้น
- ติดตามการดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ไปเร่งรัดติดตามคดีแล้ว
- เสนอแนะให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมอิสระตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงการหา มาตรการป้องกันในเรื่องต่างๆ
- ประสงค์ให้มีการฟ้องดำเนินคดีทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่
@@ เร่งลดปัญหาทุจริตในเรือนจำ
2.พัฒนาในเชิงนโยบายและระบบกับผู้ต้องขังในเรือนจำ
- ส่งเสริมในส่วนของการป้องกันการทรมาน เพื่อให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
- การปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และการพัฒนาพฤตินิสัย ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
- การป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้นในเรือนจำ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังร้องเรียน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดหาน้ำดื่ม
@@ แฉพนักงานสอบสวนโดนร้องเรียนอื้อ
3. เรื่องอื่น ๆ
สืบเนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
ประเด็นที่มีการร้องเรียนจำนวนมาก คือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น การไม่รับแจ้งความ การไม่คืนของกลาง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำความผิดเสียเอง เป็นต้น
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือในการผลักดันเชิงนโยบายที่จะพัฒนางานในระบบกระบวนการยุติธรรมภาพรวมให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาโกดังพลุระเบิด ณ ปัจจุบัน มีผู้เสียหายที่ได้รับรายงานจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จำนวน 357 ราย พิจารณาให้ความช่วยเหลือแล้ว 355 ราย โดยรายเสียชีวิต ได้ลงพื้นที่มอบเงินแล้วเมื่อวันที่ 4 ส.ค.66 สำหรับรายที่บาดเจ็บ 346 ราย จะได้มอบเงินช่วยเหลือ รวมเป็นเงิน 2,196,888 บาท โดยตนจะลงพื้นที่ไปมอบเงินเยียวยาด้วยตนเองในเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ต่อไป
@@ เปิด 3 นโยบายปฏิรูปคุกยุค “ทวี”
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ต.ค.66 พ.ต.อ.ทวี พร้อมด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปที่โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา อำเภอเมือง จ.ปัตตานี เพื่อร่วมงานรำลึก 104 ปีของโรงเรียน และงานเปิดอาคารเรียน 100 ปี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งขณะให้โอวาท โดยระบุว่า แนวนโยบายที่จะดำเนินการในส่วนของกระทรวงยุติธรรม คือต้องไม่ให้มีการย้ายผู้ต้องขังไปอยู่พื้นที่ห่างไกล เพราะเราพรากเขาไปอยู่ในเรือนจำก็พอ อย่าไปพรากเขาจากสายสัมพันธ์ครอบครัว
สำหรับนโยบายการย้ายผู้ต้องขังกลับไปขังที่เรือนจำในภูมิลำเนา หรือในพื้นที่บ้านเกิด เพื่อให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพนั้น เป็นอีกหนึ่งนโยบายปฏิรูปเรือนจำของ พ.ต.อ.ทวี
โดยก่อนหน้านี้ รัฐมนตรียุติธรรมเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ต่างกรรมต่างวาระมาแล้วหลายครั้ง โดยมีแนวทางจะปฏิรูประบบราชทัณฑ์ 3 เรื่องด้วยกัน คือ
1.แยกพื้นที่ขัง สำหรับผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี กับนักโทษเด็ดขาดออกจากกัน โดยอาจต้องหาสถานที่คุมขังใหม่ หรือใช้พื้นที่เอกชน
2.พิจารณาลบประวัติการต้องโทษให้กับนักโทษคดีบางประเภท เพื่อให้สามารถออกไปหางานทำหลังพ้นโทษได้ และไม่เป็นตราบาปไปตลอดชีวิต
และ 3.พิจารณาแนวทางการย้ายผู้ต้องขังหรือนักโทษกลับไปขังที่เรือนจำในภูมิลำเนาบ้านเกิด