มีความเคลื่อนไหวทางความมั่นคงที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนชายแดนใต้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ นั่นก็คือการเรียกเก็บ “ถังแก๊สคอมโพสิต”
ทั้งๆ ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รณรงค์ให้ชาวบ้านร้านตลาดช่วยกันเปลี่ยนถังแก๊สเหล็ก มาเป็นถังแก๊สคอมโพสิต กันมาอย่างคึกคักต่อเนื่องหลายปี เพื่อป้องกันคนร้ายขโมยไปประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่มีอานุภาพสูง เพราะชิ้นส่วนของเหล็กจากถังแก๊ส เมื่อโดนแรงอัดระเบิดจะกลายเป็นสะเก็ดสังหารอย่างดี
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่รณรงค์ แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาคในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ออกเป็นนโยบาย กำหนดให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) เปลี่ยนถังแก๊สหุงต้มจากถังเหล็กแบบปกติ ขนาด 15 กิโลกรัม มาเป็นถังแก๊สคอมโพสิต พลัส ขนาด 11 กิโลกรัมแทน โดยให้มีการทยอยเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2558 และให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย.2559
ครั้งนั้น พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “แนวคิดในการใช้ถังแก๊สคอมโพสิต พลัส มาแทนถังเหล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยจากการก่อเหตุรุนแรงด้วยการลอบวางระเบิดที่บรรจุในถังแก๊ส ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก”
แต่เมื่อเร็วๆ นี้เองกลับมีข่าวว่า บริษัท ปตท. ได้เรียกเก็บถังคอมโพสิตคืนทั้งหมด ด้วยเหตุผลความกังวลเรื่องไม่ได้มาตรฐาน!
@@ ปตท.ยันถังแก๊สเหล็กคุณภาพดีกว่า
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ ปตท. ประจำภาคใต้ว่า เป็นเรื่องจริงที่ทาง บริษัท ปตท. มีการเรียกเก็บถังคอมโพสิต เพราะว่าถังที่ส่งลงไปครบวาระ ก็ต้องเรียกกลับมาตรวจสอบ แต่ว่าพอเราเรียกเก็บมาทำการทดสอบ ก็เหมือนจะต้องทำลายถังใบนั้น ทำให้เราไม่สะดวกที่จะทดสอบ ก็เลยต้องเปลี่ยนเป็นถังเหล็กให้กับลูกค้า เพื่อกลับมาใช้ถังเหล็กแบบเดิม
เมื่อถามว่า หากเรียกเก็บถังคอมโพสิตแล้วเปลี่ยนกลับมาใช้ถังเหล็ก จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ เพราะเท่ากับขัดนโยบายฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ ปตท.ประจำภาคใต้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะว่าถังบรรจุแก๊สยี่ห้ออื่นก็ไม่ได้เปลี่ยนมาใช้คอมโพสิต และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังใช้ถังเหล็กกันอยู่
“แต่ที่เรากังวลกว่าก็คือ ถ้ายังให้ลูกค้าหรือประชาชนใช้ถังคอมโพสิตอยู่ แล้วไม่ผ่านการทดสอบ จะเป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรั่ว การแตก การระเบิดมันจะเกิดง่ายกว่า ซึ่งเรามองแล้วว่า ถ้าเอาถังเหล็กลงไป เรามีโรงซ่อมที่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เราลงทุนไปประมาณ 300 ล้านบาท จะสร้างความมั่นใจ แล้วก็รักษาคุณภาพได้ดีกว่า”
@@ เรียกเก็บตั้งแต่ปลายปี 64 ได้คืนมาแล้ว 80%
เจ้าหน้าที่ ปตท. ประจำภาคใต้ กล่าวอีกว่า จริงๆ เราเริ่มเรียกเก็บถังคอมโพสิต ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2564 เรียกเก็บมาได้ประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากตัวถังที่ลงไปประมาณ 30,000 กว่าใบ ซึ่งตามข้อมูลที่ผลิต แลก 1 ต่อ 1 ประมาณ 161,085 ใบ
ส่วนประชาชนหรือผู้บริโภคที่ยังต้องการใช้ต่อก็ถือว่าจะเป็นปัญหา เพราะว่าอย่างที่บอก ถังที่ลงไปเกิน 5 ปีแล้วกฎหมายมีว่าถังแก๊สจะต้องมีการทดสอบทุก 5 ปี ถ้าไม่ได้ทดสอบ เราไม่มั่นใจว่าจะใช้ได้ตามมาตรฐานหรือเปล่า ก็เลยอยากให้ทุกคนเปลี่ยน ซึ่งประชาชนสามารถแลกฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็ขอเชิญชวนทุกคนมาแลก
“ในส่วนมิติเรื่องของความมั่นคงต้องคุยกับฝ่ายนโยบาย ไม่แน่ใจว่าข้างบนเขาได้คุยกับฝ่ายความมั่นคงอย่างไร” เจ้าหน้าที่ ปตท. กล่าว
@@ ถังคอมโพสิต – ถังเหล็ก ครบ 5 ปี ต้องทดสอบแรงดัน
ด้านพลังงานจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า เกี่ยวกับถังคอมโพสิต เบื้องต้นทางสำนักงานพลังงานฯ ไม่ได้รับแจ้งจาก ปตท.ในส่วนนี้ แต่โดยปกติแล้วถังแก๊สหุงต้ม พอใช้งานครบ 5 ปี ก็จะครบวาระที่ต้องไปทดสอบขึ้นแรงดัน ถ้าทดสอบไม่ผ่านก็ต้องเรียกเก็บทันที
“ส่วนประเด็นที่มีการส่งเสริมให้มีการใช้ถังคอมโพสิต เพราะต้องการลดความเสี่ยงที่คนร้ายจะนำไปใช้ประกอบระเบิดนั้น ก็ถือว่าต้องอยู่กับสถานการณ์ด้านความมั่นคง ซึ่งจะเป็น กอ.รมน. ศอ.บต. จะเป็นผู้กำหนดในแนวทางนั้น”
พลังงานจังหวัดปัตตานี กล่าวอีกว่า กรณีที่จะกลับไปใช้ถังแก๊สเหล็กแบบเดิม ทางพลังงานจังหวัดก็จะไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ก็ต้องดูเป้าหมายของผู้ที่จะไปก่อเหตุว่า จะใช้ถังแก๊สหุงต้มนี้ในการก่อเหตุอีกหรือเปล่า แต่ในเบื้องต้นเมื่อครบวาระ ครบอายุการใช้งาน ก็ต้องนำไปทดสอบ ไม่ว่าถังแบบเหล็กหรือถังคอมโพสิต ทดสอบไม่ผ่านก็ต้องเก็บ ไม่ว่าจะเป็นถังแก๊สของบริษัทไหนก็ตาม
@@ ร้านข้ามต้มกุ๊ยปัตตานี เผยใช้ถังเหล็กดีกว่า
ไปฟังเสียงจากผู้ใช้งานกันบ้าง น.ส.นุรฟาติน ดือเมา ลูกสาวเจ้าของร้านข้าวต้มกุ๊ยอาบีกู จ.ปัตตานี กล่าวว่า ที่ร้านใช้ถังแก๊สแบบเหล็กมาตลอด ไม่ได้ใช้ถังแบบคอมโพสิตเลย เพราะถังแก๊สแบบเหล็กรู้สึกว่าใช้แล้วสะดวก และตนเองก็คุ้นเคยถังแบบเหล็กด้วย ตอนที่เปิดร้านอยู่มาเลเซียก่อนโควิดก็ใช้แบบเหล็ก กลับมาไทย หลังโควิดก็มาเปิดร้านตรงนี้ ได้ใช้ถังแก๊สแบบเหล็กเหมือนกัน ความร้อนมันดีกว่าถังคอมโพสิต
“ส่วนเรื่องที่คนร้ายจะเอาไปทำระเบิดก็กลัว แต่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะมีทางออกอย่างอื่น ยืนยันว่าใช้ถังแก๊สแบบเหล็กดีกว่า” นุรฟาติน บอก
เช่นเดียวกับแม่ครัวของร้านต้มกุ๊ยอาบีกู ยืนยันด้วยว่า การใช้ถังแบบเหล็กให้ความร้อนดีกว่าถังคอมโพสิต ทางร้านจึงเลือกใช้แบบเหล็กมาตลอด และใช้ได้นานกว่าด้วย
@@ ถังคอมโพสิตก็ทำระเบิดได้ไม่ต่างถังเหล็ก
ทางด้านมิติความมั่นคง ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด เคยให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ไว้ว่า ถังแก๊สแบบคอมโพสิต หรือใยแก้วผสมเรซิน ที่ต้องการนำมาใช้แทนถังแก๊สที่เป็นเหล็ก โดยหวังลดความเสี่ยงจากการที่คนร้ายนำถังแก๊สแบบเหล็กไปดัดแปลงเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่มีความร้ายแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แท้ที่จริงแล้วแทบจะไร้ผลในแง่การลดความรุนแรงของระเบิด
"ถังแก๊สแบบคอมโพสิตไม่ได้ช่วยให้คนร้ายเอาไปทำระเบิดไม่ได้ ซึ่งผลการทดสอบก็บอกอยู่แล้วว่าเอาไปทำระเบิดแสวงเครื่องได้ ส่วนอำนาจการระเบิดและความรุนแรงของระเบิดขึ้นอยู่กับปริมาณดินระเบิดที่บรรจุเข้าไปในถัง ฉะนั้นหากคนร้ายนำถังแก๊สแบบคอมโพสิตไปใช้ทำระเบิด แรงระเบิดก็ไม่ได้ลดลง ใส่ดินระเบิดเข้าไปเท่าไหร่ก็ระเบิดเท่านั้น ไม่ต่างกับถังแก๊สแบบเดิมๆ"
“แต่สิ่งที่แตกต่างจากถังแก๊สแบบเหล็กมีเพียงอย่างเดียว คือ สะเก็ดระเบิดที่เกิดจากตัวถังแก๊ส (หลังถูกแรงอัดของดินระเบิด) หากเป็นถังเหล็ก เศษของตัวถังก็เป็นสะเก็ดระเบิดที่ทำอันตรายได้มาก แต่ถังแก๊สแบบคอมโพสิต สะเก็ดของมันจะเป็นชิ้นเล็กๆ มีอันตรายน้อยกว่าถังเหล็ก”
"ความแตกต่างมีแค่ตรงนี้เท่านั้น ถามว่าหากคนร้ายเอาไปทำระเบิดแสวงเครื่องจะปลอดภัยกว่าถังแบบเก่าหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะเมื่อเอาไปทำระเบิด มันก็คือระเบิด ความอันตรายมันก็ยังมีอยู่ เมื่อตัวถังไม่มีสะเก็ด คนร้ายก็ทำสะเก็ดใส่เข้าไปได้ เหมือนระเบิดแสวงเครื่องชนิดอื่นๆ ที่เอาเหล็กเส้นตัดท่อนมาเป็นสะเก็ด ก็ทำให้เกิดความรุนแรงเสียหายได้เหมือนเดิม" ผู้เชี่ยวชาญสรุป
@@ 3 บททดสอบถังแก๊สคอมโพสิตจาก “อีโอดี”
ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ได้ดำเนินการทดสอบและประเมินผลตัวถังบรรจุแก๊สแบบคอมโพสิต “อิ่มอุ่น” ที่ผลิตโดย บริษัท พีเอพี แก๊สแอนด์ออยล์ จำกัด ที่ได้รับมอบมา ใน 3 ลักษณะ ได้แก่
1.ทดสอบโดยการยิงด้วยกระสุนปืนชนิดและขนาดต่างๆ ทั้งถังเปล่าและถังบรรจุแก๊ส ผลการทดสอบพบว่าสามารถยิงทะลุผ่านถังเปล่าและถังบรรจุแก๊ส
2.ทดสอบโดยการระเบิดด้วยแท่งดินระเบิด ขนาด 1 และ 1/4 ปอนด์ ผลการทดสอบสามารถทำให้เกิดการระเบิดได้เช่นเดียวกับถังบรรจุแก๊สแบบเหล็ก แต่มีส่วนที่คงรูปเหลือมากกว่า และมีรัศมีการกระจายเล็กน้อย
3.ทดสอบโดยการบรรจุวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่อง ANFO น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ผลการทดสอบพบว่าเมื่อทำการจุดระเบิดจากภายใน (บรรจุวัตถุระเบิดไว้ภายในถัง) สามารถเกิดการระเบิดได้เช่นเดียวกับถังบรรจุแก๊สแบบเหล็ก แต่สะเก็ดระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นขนาดชิ้นเล็ก มวลเบา ไม่สามารถกระเด็นได้ไกล ไม่เป็นอันตรายเหมือนถังบรรจุที่เป็นเหล็ก