30 กันยายนปีนี้ เป็นวันสุดท้ายในชีวิตราชการของใครหลายคน...
หนึ่งในนั้นคือ “แม่ทัพเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งจะเกษียณในปีนี้เช่นกัน
เป็นการอำลาชีวิตราชการพร้อมกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.22 และ จปร.33
วีรกรรมความกล้าหาญ วิธีการทำงาน และเส้นทางรับราชการของ “แม่ทัพเกรียง” ทำให้เจ้าตัวเป็นนายทหารชื่อดังแห่งยุคคนหนึ่ง ถึงขั้นที่ ยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ.2556 ได้แต่งเพลง ขับร้อง และบรรเลงกีตาร์ด้วยตนเอง เพื่อมอบให้กับ พล.อ.เกรียงไกร ในวาระเกษียณอายุราชการ
เพลงใหม่ของ แอ๊ด คาราบาว ใช้ชื่อเพลงง่ายๆ ตรงไปตรงมาว่า “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” ซึ่งเป็นชื่อจริง นามสกุลจริงของ “แม่ทัพเกรียง”
เนื้อหาของเพลงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวการทำงาน และยกย่องชีวิตราชการทหารของ พล.อ.เกรียงไกร
เนื้อเพลงมีดังนี้...
จากดินสู่ดาว นี่คือเรื่องราวชายชาติทหาร
รับราชการปฏิบัติงานเพื่อให้ใต้ร่มเย็น
เคยรบรากับ ทปท.ถึงปราบปราม จคม.มลายู
ชีวิตเขาเกิดมาเพื่อต่อสู้ จนเครื่องบินตกแต่ก็ยังไม่ตาย
มุ่งมั่นทุ่มเททั้งงานประจำและงานภาคสนาม
หนักเบาเขาลงมือทำ ยังไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
ทดแทนคุณแผ่นดิน เทิดทูนสถาบันสุดใจ
ทั้งภูมิใจที่ได้อยู่กิน ในเครื่องแบบทหารราบ จปร.
ชาตินี้เพียงพอก็อยู่อย่างพอเพียง
*เป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกับเหล่าทหารและประชาชน
เป็นแม่ทัพที่ไม่เคยยกตน อยู่อย่างสมถะ เยี่ยงนักรบผู้ติดดิน
จนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
คือเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล
เกรียงไกร ศรีรักษ์ ได้ทุ่มทุน
เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เยี่ยงทหารมืออาชีพ
(*)
พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ คือ ที่รักของพวกเรา ของเหล่าทหารประชาชน
พี่เกรียงของพวกเรา...
@@ เส้นทางเหล็ก “แม่ทัพเกรียง”
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2506 เข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 22 (ตท.22 ) และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 33 (จปร.33) รุ่นเดียวกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก
พล.อ.เกรียงไกร ติดร้อยตรีเมื่อปี 2529 เริ่มรับราชการครั้งแรกที่ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 25 (ร.25 พัน3) ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี และชีวิตราชการเติบโตอยู่ภายในกองทัพภาคที่ 4 มาตลอด
เคยเป็นผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 42 เปิดยุทธการไล่ล่าโจรจีนคอมมิวนิสต์ หรือ จคม. เคยเป็นเสนาธิการจังหวัดทหารบกปัตตานี รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อปี 2562 ก่อนผงาดขึ้นเป็นแม่ทัพในปีถัดมา เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนที่ 13 นับตั้งแต่ไฟใต้ปะทุขึ้นมาเมื่อปี 2547
ชีวิตรับราชการทหารของ พล.อ.เกียงไกร ถือว่าเป็นทหารสายบู๊ ถึงลูกถึงคน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง เวลามีปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น ยิงปะทะ
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นคนที่เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง ทั้งยังมีคอนเนคชั่นในหลากหลายวงการ และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับภาคประชาสังคมหลากหลายกลุ่ม จนเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งยังเป็นนายทหารคนสำคัญที่เป็นผู้ดำเนินการ “โครงการพาคนกลับบ้าน” ครั้งแรกจำนวน 93 คน เมื่อวันที่ 11 ก.ย.55 ตั้งแต่ยุคสมัยที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.เกรียงไกร เคยประสบเหตุเฮลิคอปเตอร์ “แบล็กฮอว์ก” ลงจอดฉุกเฉินที่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.65 ขณะเดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไปปฏิบัติภารกิจ
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ พล.อ.เกรียงไกร ได้รับบาดเจ็บและต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานหลายเดือน แต่ก็ไม่เคยทิ้งงาน ยังคงเซ็นเอกสารแม้ช่วงที่พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
กระทั่งต่อมาได้ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. เข้าไลน์ 5 เสือ ทบ.ในปีสุดท้ายของชีวิตราชการ
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.เกรียงไกร ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการประสานงานการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2559
ทั้งยังได้นั่งควบในตำแหน่งรองประธานอนุกรรมการประสานงานการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 อีกด้วย
ภารกิจเพื่อชาติของ “แม่ทัพเกรียง” จึงยังไม่จบไปพร้อมกับวันเกษียณอายุราชการ!