สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิ่งดีๆ อยู่มากมาย และหลายสิ่งไม่ค่อยถูกพูดถึง หนึ่งในนั้นคือ “ชันโรง”
“ชันโรง” เป็นชื่อเรียกประจำถิ่น ความหมายคือ “ผึ้งจิ๋ว” เป็นแมลงผสมเกสรตัวเล็กๆ จัดอยู่ในจำพวกผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กในเหมือนผึ้ง
ข้อมูลจากเว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน ระบุว่า “ชันโรง” มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งป่าและผึ้งหึ่ง อีกทั้งชันโรงยังให้น้ำผึ้ง โดยน้ำผึ้งและเกสรของชันโรงมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วๆ ไป เนื่องจากเชื่อกันว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า เพราะรังของชันโรงหายาก และมีปริมาณน้ำผึ้งน้อย
เดิมทีจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเลี้ยงผึ้งชันโรงอยู่กระจัดกระจาย มีตลาดส่งออกหลักไปยังมาเลเซีย คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาทต่อปี ทั้งในรูปแบบ “รังพร้อมเลี้ยงชันโรง” คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออก ที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรง
แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2565 ทำให้ไม่สามารถส่งออกผึ้งชันโรงไปมาเลเซียได้ ขณะที่มีแรงงานคืนถิ่นที่ไม่มีอาชีพกลับมาจากมาเลย์จำนวนมาก เพราะมาเลเซียก็ปิดประเทศยาวนาน เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จึงมีโครงการสนับสนุนให้มีการเลี้ยงผึ้งชันโรง เพื่อขยายตลาด และสร้างอาชีพให้กับ “แรงงานคืนถิ่น”
โครงการที่ว่านี้มีชื่อว่า “โครงการการพัฒนาศักยภาพและยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงและวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงจังหวัดยะลาและนราธิวาส” ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ซึ่งมี ผศ.ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง จากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรภ.ยะลา) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
ที่ผ่านมา มรภ.ยะลา จับมือสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา และพหุภาคีเครือข่าย ช่วยชุมชนเกษตรกรรอดพ้นจากภัยโควิด ด้วยชุดความรู้จากงานวิจัย พัฒนาศักยภาพและยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงและวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงจังหวัดยะลาและนราธิวาส สร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชนจากผลผลิตผึ้งชันโรงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
“น้ำผึ้งชันโรง” คือ น้ำผึ้งที่ถูกผลิตขึ้นมาจากผึ้งจิ๋ว (Stingless Bee) มีสารของฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ต้านเชื้อโรค ยับยั้งการเติบโตของเชื้อราและจุลินทรีย์ได้ รวมไปถึงยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
นี่เองคือเหตุผลที่ทำให้น้ำผึ้งชันโรงมีราคาแพงมากกว่าน้ำผึ้งทั่วๆ ไป
คุณลักษณะทั่วไปของน้ำผึ้งชันโรง จะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีสรรพคุณทางยาสูงกว่าน้ำผึ้งปกติถึง 2 เท่า มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไปหลายเท่า ซึ่งเกิดจากกระบวนการหมักทางธรรมชาติ รสชาติจะต่างตามชนิดสายพันธุ์และชนิดดอกไม้ที่เป็นแหล่งอาหาร
สายพันธุ์ที่นิยมนำมาเลี้ยง คือ พันธุ์อิตาม่า (สายพันธุ์ใหญ่) ซึ่งจะให้ผลผลิตน้ำผึ้งในปริมาณที่สูงกว่าพันธุ์ขนเงิน (พันธุ์เล็ก)
ผศ.ดร.อิสมะแอ เล่าว่า ชุดความรู้จากงานวิจัยที่ถ่ายทอดแก่กลุ่มเกษตรกร ประกอบไปด้วย การพัฒนายกระดับให้มีนวัตกรรมการทำรังสำหรับเลี้ยงผึ้งชันโรงให้ได้ผลผลิตน้ำผึ้งที่มีความสมบูรณ์, มีนวัตกรรมในการขยายรังผึ้ง, มีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ, มีขีดความสามารถในการพัฒนาต่อยอดน้ำผึ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการการตลาดได้เอง แทนที่จะพึ่งพาเฉพาะตลาดมาเลเซียเหมือนที่เคยผ่านมา
สำหรับลูกค้ามาเลย์ หลังเปิดประเทศ เปิดด่านพรมแดนทุกด่าน โดยเฉพาะทางด่านเบตง จ.ยะลา ปรากฏว่าเป็นตลาดหลักของน้ำผึ้งชันโรงที่รองรับลูกค้าจากมาเลย์
หัวหน้าโครงการวิจัย บอกด้วยว่า การเลี้ยงน้ำผึ้งชันโรงในโครงการ ยังได้พบน้ำผึ้งสีม่วงดำ สีเขียว และสีเหลืองปกติ เป็นสีสันแตกต่างกันตามชนิดของพืชที่ผึ้งกินแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ส่วนตัวผึ้งชันโรงมีทั้งจากธรรมชาติและการแยกขยายให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น
เคล็ดลับของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การเชื่อมประสานและบูรณาการกัน ที่เรียกกันว่า connectivity อย่างเช่นโครงการเลี้ยงผึ้งชันโรง ที่นำไปเชื่อมต่อกับโครงการ “ธนาคารค้นไม้”
รุสดี ยะหะแม ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา เล่าว่า วิสาหกิจชุมชนที่ตนเป็นประธาน มีสมาชิกประมาณ 50 คน จากชาวชุมชน กลุ่มทายาทเกษตรกรคนรุ่นใหม่บ้านบือมัง และบัณฑิตคืนถิ่นที่มีความคิดก้าวหน้า ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ป่า โดยจัดทำโครงการธนาคารต้นไม้ ปลูกต้นไม้เศรษฐกิจมีค่า ได้แก่ ตะเคียนทอง พยุง แต่การปลูกตันไม้ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน 10-20 ปี จึงจะสามารถสร้างรายได้
ทำให้เกิดคำถามถึงแหล่งที่มาของรายได้ระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากต้นไม้เศรษฐกิจ และเราพบว่า การเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อเก็บน้ำผึ้งชันโรงขาย รวมทั้งนำผลพลอยได้จากผึ้งชันโรงไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย คือคำตอบของ “โครงการธนาคารต้นไม้” เพราะผึ้งชันโรงเลี้ยงอยู่ในป่าไม้เศรษฐกิจ สามารถเก็บน้ำผึ้งชันโรงจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี
ในเบื้องต้นชาวบ้าน 11 คนรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านบือมัง (Kelulut Bukit Bumae) โดยเลี้ยงผึ้งชันโรงเพียง 2 รัง แล้วขยายเพิ่มถึง 30 เท่า คือ 60 รัง ภายในเวลาเพียง 3 เดือน เนื่องจากผลผลิตจากผึ้งชันโรงสร้างรายได้ที่ดีมาก จนทุกวันนี้กลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านบือมังที่พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการธนาคารต้นไม้ ได้ยกระดับขึ้นเป็น “ศูนย์เรียนรู้ธุรกิจชุมชนผึ้งชันโรง” ภายใต้แนวคิด “แมลงจิ๋ว สร้างชุมชน”
พร้อมกันนี้ได้วางแผนผลิต “กล่องถาดน้ำหวาน” ออกจำหน่าย เพิ่มเติมจากผลผลิตน้ำผึ้งชันโรง รวมทั้ง สบู่ ลูกอม เพราะในห่วงโซ่ไม่ได้ขายน้ำผึ้งอย่างเดียว สมาชิกในกลุ่มบางคนเตรียมผันตัวเองมายึดอาชีพเลี้ยงผึ้งชันโรงเป็นอาชีพหลัก และเตรียมต่อยอดไปทำสวนทุเรียน โดยใช้ผึ้งชันโรงช่วยผสมเกสร เพิ่มผลผลิตทุเรียน
โดยภาพรวมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยนี้ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตจำนวนไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มาจากการจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงเพิ่มร้อยละ 10.26 - 13.79 ด้วยราคารับซื้อที่ 700 - 750 บาทต่อ 1 กิโลกรัม และนำมาขายในราคา 1,000-1,200 บาทต่อ 1 กิโลกรัม การผลิตรังผึ้งชันโรง พร้อมเลี้ยง จำหน่ายใน ราคา 3,000 - 4,000 บาทต่อรัง
ปัจจุบันพื้นที่วิจัยภายใต้โครงการของ ผศ.ดร.อิสมะแอ มีอยู่ด้วยกัน 5 แห่งได้แก่ วิสาหกิจชุมชน/กลุ่มผู้เลี้ยงชันโรง อ.แว้ง จ.นราธิวาส, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชันโรงบ้านไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส, วิสาหกิจชุมชนบัยตุลมานบ้านเจาะตูแน อ.ยะหา จ.ยะลา, วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา และกลุ่มครัวเรือนตกเกณฑ์ จปฐ. (ข้อมูลจำเป็นพื้นฐาน) อ.กรงปีนัง จ.ยะลา