กรณีฆ่าตำรวจระดับสารวัตรคาบ้าน “กำนันนก” แห่งนครปฐม ทำให้เกิดการสาวข้อมูลด้านมืดของกำนันคนดัง ทั้งเรื่องที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับคดีสังหารเจ้าหน้าที่
โดยหนึ่งในประเด็นที่กำลังมีการตรวจสอบกันอยู่อย่างครึกโครมในขณะนี้ คือ พฤติการณ์ฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างของรัฐ เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทของ “กำนันนก” ซึ่งรับงานมาตั้งแต่รุ่นพ่อนั้น ได้งานก่อสร้างของรัฐจำนวนมาก และอาจจะมากเกินไป โดยวิธีการได้มา อาจเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือไม่
เมื่อวันพุธที่ 13 ก.ย.66 ตำรวจปูพรมค้น 15 จุด และ ดีเอสไอ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ออกมาแถลงรับลูก ตรวจสอบกันอย่างขะมักเขม้น จนผู้คนในสังคมบางส่วนเริ่มสงสัยว่า หากไม่เกิดกรณียิงตำรวจตาย จะมีการขุดข้อมูลเล่นงานกันแบบนี้หรือไม่
เผลอๆ “กำนันนก” ก็คงยังอยู่สบาย ประมูลงานรัฐได้ต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่พฤติการณ์ฮั้วประมูล ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็มีองค์กรหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบอยู่มากมายหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สตง. หรือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, กรมบัญชีกลางเอง, หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ หรือแม้แต่ ป.ป.ช. กับ ป.ป.ท.
คำถามก็คือ ถ้าผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หรือส่วนกลางก็ตาม ไม่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาตำรวจ และผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งหลาย จะมีการตรวจสอบแบบพลิกแผ่นดินกันขนาดนี้หรือไม่ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐเองบางหน่วยงานนั่นแหละที่ร่วมอยู่ในขบวนการฮั้ว และขบวนการส่วยสินบน หากผลประโยชน์ลงตัวก็เงียบ แต่ถ้าขัดแย้งกันเมื่อไหร่ ผู้มีอิทธิพลก็อยู่ไม่ได้
แบบนี้แปลว่าประเทศไทยมีผู้มีอิทธิพล มาเฟียท้องถิ่นเป็นจำนวนมากก็จริง แต่คนที่เป็น “เบอร์ใหญ่ตัวจริง” คือเจ้าหน้าที่รัฐสีเทา...ใช่หรือเปล่า?
@@ ชำแหละ 5 วิธี “ฮั้วประมูล” จากไซส์ S ถึง XL
คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า วิธีการ “ฮั้วประมูล” ที่วิจารณ์กันให้แซ่ดอยู่ในขณะนี้เขาทำกันอย่างไร และมันทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ร่ำรวยมหาศาลได้จริงๆ หรือ
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานตรวจสอบโครงการภาครัฐ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการตรวจสอบฮั้วประมูล ซึ่งเคยรับราชการทั้งในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ตอนล่าง
เจ้าหน้าที่รายนี้ชำแหละวิธีการมาให้เห็นกันจะๆ อย่างน้อย 5 รูปแบบด้วยกัน
1.ใช้วิธีจัดจ้าง “แบบเฉพาะเจาะจง” กรณีหน่วยงานรัฐ หรือท้องถิ่น ต้องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้งบประมาณไม่สูงนัก สมมติถ้าตั้งงบไม่เกิน 500,000 บาท ก็ใช้วิธีการจ้างแบบ “เฉพาะเจาะจง” คือ ล็อกตัวผู้รับจ้างได้เลย (แต่ต้องมีรายละเอียดเป็นเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมา คือ การตกลงราคา หรือสอบราคา)
วิธีการที่นิยมใช้กัน ก็เช่น ตั้งงบไม่เกิน 500,000 บาท แต่ตั้งราคาใกล้เคียงที่สุด คือ 495,000 บาท หรือ 489,000 บาท เมื่อไม่ถึง 5 แสน ก็จัดจ้างแบบ “เฉพาะเจาะจง” ได้
บางโครงการมีการนำรายการจัดซื้อจัดจ้าง ไปหั่นซอยเหลือครั้งละต่ำกว่า 5 แสนบาท จะได้ไม่ต้องเปิดประมูล หรือเปิดประกวดราคา แบบนี้ก็เข้าข่าย “ฮั้ว” รูปแบบหนึ่ง เพราะคนที่ได้งาน ก็มักจะมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเจ้าของโครงการ
2.ถ้าวงเงินงบประมาณของโครงการสูงขึ้น จนใช้วิธีซอยย่อยเหลือต่ำกว่าเพดานงบที่กำหนดไม่ได้ ก็จะใช้ “วิธีสอบราคา” คือ ไปหาบริษัท “คู่เทียบ” จำนวน 2-3 บริษัท แล้วตกลงราคาให้เสนอเหลื่อมกัน เพื่อให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นผู้ชนะ เพราะเสนอราคาต่ำสุด
วิธีนี้มีช่องโหว่ให้ทำได้ เพราะกรมบัญชีกลางเคยออกหนังสือเวียนให้ทำได้ในบางกรณีที่งบประมาณไม่สูงมาก เช่น ไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี หรือมาตรการยกเว้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคง เป็นต้น
การจะทำให้เข้าเงื่อนไข “สอบราคา” ไม่ต้องเปิดประมูล ก็สามารถทำได้แบบวิธีการแรก คือกดราคาโครงการลงมา หรือแบ่งซอยการจัดซื้อจัดจ้างเป็นรายการย่อยๆ ไม่เกินรายการละ 2 ล้าน ก็จะทำรูปแบบนี้ได้ ซึ่งถือเป็นการ “ฮั้ว” อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะบริษัทที่ได้งาน มักจะเป็นบริษัทหน้าเดิมๆ ส่วนคู่เทียบก็จะเป็นหน้าเดิมๆ เหมือนกัน และแพ้ตลอด (เสนอราคาสูงกว่าตลอด) จนไม่เข้าใจว่าจะยื่นเสนอราคาซ้ำๆ ทำไม เพราะแทบไม่เคยได้งานเลย
แต่เบื้องหลังของการสอบราคา บริษัททั้งหมดจะรู้จักกัน อาจมีการจ่ายเงินค่าจ้างที่เสนอราคาแพง เรียกว่า “จ้างให้แพ้” หรือไม่ก็แบ่งโครงการกัน สลับกันไปมา ได้งานบ้าง พลาดงานบ้าง เฉลี่ยๆ กันไป
3.งบเกิน 2 ล้านบาท ใช้วิธี e-bidding หรือ e-auction หรือการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ วิธีนี้ก็จะฮั้วได้เหมือนกัน
-มีคนในกรมบัญชีกลาง หรือคนของหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ ขายข้อมูลซื้อซอง ว่าบริษัทไหนซื้อซองบ้าง เพราะการประกวดราคาแบบนี้ ทำผ่านออนไลน์ ไม่ต้องเจอหน้ากัน
เมื่อได้ข้อมูลบริษัทที่ซื้อซอง กลุ่มนักฮั้วก็จะติดต่อไปบริษัทเหล่านั้น เพื่อขอโครงการ มีทั้งขอดีๆ และข่มขู่ ถ้าขอดีๆ ก็อาจมีค่าใช้จ่ายแลกเปลี่ยน เช่น ซื้อซองมา 10,000 บาท จ่ายคืนให้ 50,000 บาท แต่ขอไม่ให้ยื่นเสนอราคา
หลายโครงการจึงพบความผิดปกติ มีบริษัทซื้อซอง 10-20 ราย แต่เวลายื่นเสนอราคาจริง หรือยื่นประกวดราคา เหลือแค่ 2-4 ราย แถมผู้ที่เสนอราคาในชั้นตอนสุดท้าย ยังเป็นหน้าเดิมๆ ทั้งๆ ที่ตอนซื้อซองต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เหตุใดบริษัทที่ไม่ยื่นประกวดราคา จึงยอมเสียค่าซองไปเฉยๆ
ส่วนวิธีการข่มขู่ ก็มีทั้งโทรขู่ และส่งคนไปขู่ ฯลฯ
สำหรับการเสนอราคา ทั้ง 3 รูปแบบ “เจ้าใหญ่” หรือ “ผู้มีอิทธิพล” จะรู้ข้อมูลวงใน โดยเฉพาะรู้ว่าใครซื้อซองบ้าง และยังรู้ด้วยว่าแต่ละบริษัทเสนอราคาเท่าไหร่ ใกล้เคียงราคากลางแค่ไหน ทำให้สามารถเสนอราคาได้ใกล้เคียงกับราคากลางมาก (เสนอราคาได้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้ได้กำไรเพิ่ม) ขณะเดียวกันก็แจ้งให้บริษัทคู่เทียบในเครือข่าย เสนอราคาให้สูงกว่า เพื่อให้ตนได้งาน ทั้งหมดเป็นการทำบนเงื่อนไข “รู้ข้อมูลวงในล่วงหน้า”
4.วิธีการที่ 4 ต่อเนื่องจากวิธีการที่ 3 คือ หน่วยงานเจ้าของโครงการเขียนข้อกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ซื้อซองได้ หรือมีสิทธิ์เสนอราคา จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมาตรวจหน้างาน มีการนัดพร้อมกันหน้างาน หากไม่มาหน้างาน ก็ไม่มีสิทธิ์ยื่นซอง
วิธีนี้จะทำให้บริษัทที่เป็น “ขาใหญ่” คุมเกมได้ เพราะเมื่อเปิดหน้ากัน ก็จะทำให้บริษัทที่ไม่มีอิทธิพล ถูกข่มขู่ ถูกกีดกัน ส่วนหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ ก็ปฏิบัติเหมือน “ล็อกสเปค” นั่นเอง
การ “ล็อกสเปค” ยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น เขียนคุณสมบัติเอื้อให้บริษัทที่เครือข่าย ทำให้บริษัทอื่นตกคุณสมบัติทั้งหมด เหลือบริษัทที่มีคุณสมบัติแค่เจ้าเดียว เช่น กำหนดเงื่อนไขว่าเคยเป็นคู่สัญญาโครงการรัฐมูลค่าสูงๆ ก็จะทำให้บริษัทใหญ่เท่านั้นที่มีคุณสมบัติ หรือเขียนล็อกสเปคว่า บริษัทที่จะมีคุณสมบัติ ต้องมีเครื่องจักรประเภทนั้นประเภทนี้ ซึ่งมีไม่กี่เจ้าในประเทศที่มี ก็จะล็อกตัวบริษัทที่ชนะประมูลล่วงหน้าเลย
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานตรวจสอบการประมูล สรุปว่า ไม่แปลกที่แต่ละจังหวัด เอกชนที่ได้งานมีไม่กี่เจ้า และเป็นเจ้าเดิมๆ ซ้ำๆ แม้งานจะช้า ไม่เสร็จตามกำหนด ชาวบ้านบ่น แต่บริษัทเหล่านี้ก็ไม่ถูกแบล็กลิสต์ เพราะเส้นใหญ่ แบ่งผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะทุกขั้นตอนต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่หัวหน้าหน่วยงานลงมาเลย
5.วิธีจัดการที่ปลายทาง สมมติว่าคุมไม่ได้จริงๆ บริษัทคู่แข่งหลุดมา และได้งานไป ก็จะมีวิธีกดดันให้ทำงานไม่ได้ หรือบีบให้ต้องซื้อวัตถุดิบกับเช่าอุปกรณ์จากบริษัทเจ้าใหญ่
เช่น ถ้าเป็นโครงการสร้างถนน ก็บังคับให้เช่าเครื่องจักรกับเจ้าใหญ่ ซื้อหิน ซื้อทรายจากบริษัทในเครือข่ายของเจ้าใหญ่ หรือร้ายกว่านั้น คือตัดยอดมูลค่าโครงการ แบ่งไป 10% แล้วกลับไปนอนที่บ้าน ไม่ต้องทำ ที่เหลือเจ้าใหญ่ทำเอง แต่ทำในนามบริษัที่ชนะประมูล ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ทำ แล้วโอนสิทธิ์เรียกร้องไปให้เจ้าใหญ่รับค่าจ้างแทน
ถ้าเสนอขนาดนี้แล้วยังไม่ยอม ก็จะเข้าสู่วิธีการใช้ความรุนแรง เริ่มตั้งแต่ยิงคนงาน ยิงคนขับรถแบ็คโฮ เผารถ ทำลายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งวิธีการใช้ความรุนแรง เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
@@ ขายข้อมูลราคากลาง - ใครซื้อซอง ต้นตอฮั้วประมูล
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานตรวจสอบโครงการภาครัฐ ซึ่งประจำอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ปลายด้ามขวาน พบปัญหาเข้าข่าย “ฮั้ว” แทบทุกกรณี และยังเปิดช่องให้เกิดขบวนการฮั้วได้ง่าย เนื่องจากมีการยกเว้นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เนื่องจากเป็นพื้นที่มีปัญหาความไม่สงบ โดยให้ส่วนราชการที่จะทำการจัดซื้อ วงเงิน 100,000 ถึง 15,000,000 บาท และจัดจ้าง วงเงิน 100,000 ถึง 30,000,000 บาท สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้เลย
ด้านเจ้าหน้าที่ในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า โครงการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ โดยมากใช้วิธีสอบราคา และตกลงราคา จึงแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ พอสมควร
ปัญหาที่ทราบจากพื้นที่อื่นๆ ที่มีการเปิดประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ก็คือ การรับรู้ข้อมูลวงใน ทั้งข้อมูลผู้ซื้อซอง และข้อมูลการเสนอราคาของแต่ละเจ้า ทำให้เจ้าใหญ่ที่ต้องการได้งาน ไปล็อบบี้เจ้าอื่น ทั้งจ่ายผลประโยชน์และข่มขู่ หากตกลงกันได้ เวลาเสนอราคาจริง ก็จะเสนอโดยรู้กันอยู่แล้วว่าใครจะเสนอราคาเท่าไหร่ ซึ่งก็คือการฮั้วประมูลนั่นเอง
“สมมุติผมทำธุรกิจก่อสร้าง ผมก็จะรู้ว่าในรายการนี้ใครที่อยู่ในสายงานธุรกิจเดียวกัน เช่น บริษัท ข.ไข่ บริษัท ค.ควาย ผมก็โทรไปหา 2 บริษัทนี้ บอกว่าผมจะเอางานนี้ คุณช่วยหลบให้หน่อย มีส่วนต่างที่คิดเป็นความเสียหายอย่างไร ผมจ่ายให้ ดูแลให้ ประมาณอย่างนี้”
เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานจัดซื้อจัดจ้าง บอกว่า หน่วยงานรัฐจะไม่ทราบรายละเอียดของการล็อบบี้กันของเอกชน เนื่องจากเป็นการตกลงกันเองของผู้ประกอบการที่ยื่นซองเสนอราคา ปัญหาอยู่ที่การนำข้อมูลภายในไปขายให้กับคนนอก
“หากผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ มีสายของตัวเองอยู่ในหน่วยงานรัฐเจ้าของข้อมูล เช่น กรมบัญชีกลาง ก็จะสามารถรู้ได้ว่าโครงการนี้มีผู้ประสงค์จะยื่นซองเท่าไหร่ กี่ราย รายไหนบ้างที่จะเข้าสู่กระบวนการเสนอราคา ก็จะมีการติดต่อไปล็อบบี้กัน หรือแบ่งงานกัน ไม่กดราคาแบ่งกันเอง ทั้งหมดก็เข้าข่ายฮั้วทั้งสิ้น” เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญงานจัดซื้อจัดจ้าง กล่าวในที่สุด