ตามกันต่อกับโครงการติดตั้งเสาไฟ “ไฮแมส” ซึ่งหมายถึงเสาไฟถนนแบบสูง มีไฟส่องสว่างแบบสว่างจ้าพิเศษ
โครงการตั้งอยู่บริเวณริมอ่าวปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี โดยทางราชการหวังให้เป็น “แลนด์มาร์คท่องเที่ยวแห่งใหม่” ของจังหวัด
แต่ปรากฏว่าเสาไฟไฮแมส 28 ต้น ใช้งบประมาณสูงถึง 18 ล้านบาท ไฟไม่ติดเลยสักต้น ทำให้กลายเป็น “แลนด์มืด” ความหวังที่จะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามที่วาดฝัน กลายเป็นแหล่งมั่วสุม และชุมโจร ของมีค่าสูญหายเป็นประจำ
ก่อนหน้านี้ “ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่พิสูจน์ ปรากฏว่าไปตอนกลางคืนก็มืดจริง ไม่มีนักท่องเที่ยว มีแต่สุนัขจรจัด ไปอีกรอบตอนกลางวันก็พบแต่ความรกร้าง เสาไฟชำรุดเสียหาย อุปกรณ์ถูกขโมยเรียบ ไม่น่าแปลกที่ไฟไม่ติดเลยแม้แต่ดวงเดียว
ริมทะเลแถบนั้นมีร้านค้าประมาณ 10 ร้าน แม่ค้าก็บ่นว่าแย่
สุวรรณา โทวารี เจ้าของร้านกะนะอิสลามนคร ริมอ่าวปัตตานี เล่าอย่างท้อๆ ว่า นักท่องเที่ยวก็ไม่มา ตกเย็นก็ต้องรีบเลิกร้าน รีบกลับ อยู่นานเดี๋ยวโดนปล้น เก็บของไว้ที่ร้าน ของก็หาย ล่าสุดมีดทำอาหารยังถูกขโมย ถ้าไฟติด ทุกอย่างคงดีกว่านี้มาก
@@ เปิดเอกสารประกวดราคา 2 ชุด ไร้พิรุธหรือยังขุดไม่เจอ
โครงการติดตั้งเสาไฟไฮแมส เป็นโครงการย่อยอยู่ในโครงการใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า “โครงการจ้างก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะปากแม่น้ำปัตตานี พร้อมงานปรับภูมิทัศน์” บริเวณพื้นที่หมู่ 6 บ้านสวนสมเด็จ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการโดย สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี
โครงการนี้ประกวดราคากันตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ใช้งบสูงถึง 75 ล้านบาท ส่วนหนึ่งของโครงการ คือการติดตั้งเสาไฟไฮแมส จำนวน 28 ต้น ติดตั้งถี่ยิบ แต่ละต้นห่างกันแค่ 10 กว่าเมตร งบประมาณเฉพาะส่วนนี้ 18 ล้านบาท
“ทีมข่าว” ตรวจสอบเอกสารจัดจ้าง และสัญญาการดำเนินโครงการ พบ 2 ชุดด้วยกัน
ชุดแรก มีการอัพเดตข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 “โครงการจ้างก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะปากแม่น้ำปัตตานี พร้อมงานปรับภูมิทัศน์ หมู่ที่ 6 บ้านสวนสมเด็จ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี (72.14.12.03 ) โดยวิธีพิเศษ (59116008429) กรมโยธาธิการและผังเมือง, ปีงบประมาณ: 2560, งบประมาณ: 75,000,000 บาท”
เอกสารระบุว่า โครงการนี้มี บริษัท ภรณ์เพียร จำกัด ชนะการประมูล มีการทำสัญญาวันที่ 31 มีนาคม 2560 ปัจจุบันได้ส่งงานครบถ้วน
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารกรณีการดำเนินการงานเสาไฟไฮแมส เป็นรายละเอียดและสเปคของเสาไฟ ตัวอย่างเช่น มีความยาว 500 เมตร (เส้นทางที่ติดตั้งเสาไฟ) ใช้งบประมาณในการซื้อตัวเสาไฮแมส สูง 15 เมตร ราคาต้นละ 380,000 บาท, ค่าแรง ค่าเสื่อม 22,000 บาท รวมค่าวัสดุและค่าแรงงาน 402,000 บาท
- ค่าโคมไฟ 400 วัตต์ จำนวน 8 ชิ้นต่อ 1 ชุด ราคาชุดละ 10,500 บาท จำนวน 84,000 บาท
- ค่าแรงงาน ค่าเสื่อม ชุดละ 50 บาท จำนวน 400 บาท
รวมค่าวัสดุและค่าแรงงาน 84,400 บาท
ในเอกสารเดียวกันยังมีราคาชุดควบคุม Automatic 1 ชุดต่อเสา 7 ต้น ราคาตู้ละ 40,000 บาท, ราคาสายไฟ, ราคาท่อร้อยสายไฟ, งานวางท่อร้อยสายใต้ดิน, ค่าขุดดิน และถมดิน, ค่าคอนกรีตรองพื้นฐานราก ฯลฯ ทั้งหมดแสดงไว้อย่างละเอียด
เอกสารชุดที่ 2 มีการอัพเดตข้อมูลเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่ตรวจสอบเสาไฟไฮแมส
เอกสารชุดนี้มีชื่อโครงการเดียวกัน แต่เลขที่สัญญาคนละเลขกับชุดแรก ระบุว่าทำสัญญาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 โดยมี บริษัท แล็บมาสเตอร์ แอ๊ดวานซ์ จำกัด ชนะการประมูล แต่ราคาประมูลระบุไว้เพียง 9,000 บาท ขึ้นสถานะว่าส่งงานครบถ้วนแล้ว แต่ไม่มีเอกสารอื่นๆ แนบ นอกจากข้อมูลการประมูลของบริษัท ไม่มีรายละเอียดโครงการ คาดว่าอาจจะเป็นสัญญาย่อยของสัญญาโครงการหลักหรือไม่
สำหรับ บริษัท แล็บมาสเตอร์ แอ๊ดวานซ์ จำกัด แจ้งที่ตั้งว่าอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ระบุวัตถุประสงค์การประกอบกิจการว่า จำหน่ายเครื่องเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์
@@ “บริษัท-โยธาฯ-เทศบาล” ไม่รู้ไม่เห็น “เสาไฟ 18 ล้านดับสนิท”
“ทีมข่าว” พยายามเสาะหาคำตอบถึงสาเหตุที่เสาไฟไฮแมส มูลค่ารวม 18 ล้านบาท ชำรุดเสียหาย ไฟไม่ติด มืดสนิท ไร้แสงสว่าง รวมถึงหาแนวทางแก้ไข
“ทีมข่าว” ลงพื้นที่ไปที่ บริษัท ภรณ์เพียร จำกัด ซึ่งตามเอกสารระบุว่าเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ บริษัทตั้งอยู่บนถนนธนวิถี 5 ตำบลสะเตง อำเมือง จังหวัดยะลา ปรากฏว่าเป็นอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง 2 ชั้น เปิดรับงานก่อสร้าง
ขณะที่ทีมข่าวเดินทางไปถึง มีพนักงานผู้หญิงอยู่ในสำนักงาน 2 คน แต่ไม่พบเจ้าของบริษัท รวมถึงช่างของบริษัท โดยพนักงานสาวบอกว่า ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับโครงการเสาไฟไฮแมสที่เป็นข่าว และไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้
จังหวะนั้นนายช่างของบริษัทเดินเข้ามาพอดี แต่เมื่อทีมข่าวสอบถาม ก็บอกว่าไม่ว่างคุย
“ทีมข่าว” ยังไม่ลดละ เดินทางไปที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่บนชั้น 2 อาคารศาลากลางจังหวัดปัตตานี เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ในห้องแจ้งว่า หัวหน้าโยธาจังหวัดไม่อยู่ ไปงานศพ (ขณะที่ทีมข่าวเข้าไปเป็นช่วงบ่ายของวันราชการ) และยังบอกว่าอีกว่า เรื่องนี้ถ้าไม่มีคำสั่งก็พูดอะไรไม่ได้ และว่าโครงการนี้ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ ขอให้ไปดูหน้างานแล้วจะเข้าใจ
“ทีมข่าว” เดินทางต่อไปยังเทศบาลตำบลรูสะมิแล ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก่อสร้างโครงการและติดตั้งเสาไฟไฮแมส
เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่เทศบาลแจ้งว่า นายกเทศมนตรี และปลัดเทศบาลติดประชุม จึงไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆ ได้ ส่วนเรื่องการส่งมอบเสาไฟให้ทางเทศบาลดูแลนั้น ไม่ทราบเรื่องเลย น่าจะยังไม่มีการส่งมอบ แต่หากจะส่งมอบ ก็คงรับไว้ไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณซ่อมบำรุง
พร้อมทั้งบอกว่า โครงการนี้เกิดขึ้นสมัยปลัดเทศบาลคนเก่าทำหน้าที่รักษาการนายกเทศมนตรี ส่วนคณะผู้บริหารชุดนี้ไม่รู้เรื่องเลย