ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ในเดือนสิงหาคม ก่อนโหวตนายกฯครั้งที่ 3 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์บทบาทของ “ประธานฯวันนอร์” นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ
มีข่าวใหญ่ที่ทำให้หลายคนต้องเอ๊ะ! เสนอผ่านสื่อบางกระแส ย้อนไปถึงการทำหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชาติของ นายวันมูหะมัดนอร์ หรือ “อ.วันนอร์” ที่ได้ลงนามอนุมัติส่งผู้สมัคร สส. 2 เขตของ จ.สตูล และอีก 2 เขตของ จ.สงขลา แต่ถูก กกต.ชี้ว่าขาดคุณสมบัติ เพราะพรรคไม่มีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจําจังหวัด ในพื้นที่จะส่งผู้สมัคร จึงไม่สามารถส่งผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตใน 4 พื้นที่นี้ได้
โดยผู้สมัครที่พรรคส่ง ถือว่าไม่ผ่านการทำ “ไพรมารี โหวต” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทางพรรคได้อุทธรณ์คำสั่งของ กกต.ต่อศาลฎีกา โดยให้เหตุผลว่าพรรคมีสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เพียงแต่ กกต.มองว่ากรรมการสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดหมดวาระไปแล้ว จึงไม่สามารถทำไพรมารี โหวต ได้
สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ผู้สมัครทั้ง 4 คนลงสมัคร ทำให้พรรคประชาชาติไม่ได้ลุ้น สส.ถึง 4 เขต 4 พื้นที่
งานนี้สื่อบางแขนงวิเคราะห์ว่า การที่ อ.วันนอร์ อนุมัติส่งผู้สมัคร ทั้งๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติ เข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้ง อาจโดนตัดสิทธิ และอาจเลวร้ายถึงขั้นถูกยุบพรรคกันเลยทีเดียว
ข่าวที่ออกมาสร้างความตื่นตระหนักให้บรรดาแฟนคลับของพรรคประชาชาติอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพรรคกวาด สส.มาเป็นอันดับ 1 รวม 7 ที่นั่งจาก 13 ที่นั่ง
ล่าสุด สมาชิกรายหนึ่งของพรรคประชาชาติ ชี้แจงข่าวนี้กับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่าเป็นเรื่องเก่าที่นำมาตีประเด็นใหม่ ตอนนี้เรื่องยังอยู่ที่ กกต. ต้องรอทุกอย่างให้แล้วเสร็จ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าทางพรรคเคยชี้แจงไปแล้วว่าได้ดำเนินการถูกต้องทุกอย่าง แต่เกิดความเข้าใจผิดบางอย่าง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรอผลตรวจสอบ
ขณะที่แกนนำคนสำคัญของพรรคประชาชาติ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ข่าวที่เสนอมีเจตนาใส่ร้าย และคลาดเคลื่อนกับคำสั่งศาลฎีกาทั้ง 4 คำสั่ง กรณีไม่ให้ผู้สมัคร 4 เขตของพรรคประชาชาติลงสมัคร สส. แยกเป็นสงขลา 2 เขต และสตูล 2 เขต เพราะคำสั่งศาลระบุชัดว่า ไม่อนุมัติให้เป็นผู้สมัคร ฉะนั้นจึงถือว่ายังไม่มีการส่งสมัคร สส.ใน 4 เขตนี้ั จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับหัวหน้าพรรค (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) ที่ลงนามอนุมัติส่งผู้สมัคร
ยกตัวอย่าง คำสั่งศาลฎีกาลงวันที่ 27 เมษายน 2566 ได้แก่คดีหมายเลขดำที่ ลต สสข1/2566 และคำสั่งศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ ลต สสข2/2566 ศาลวินิจฉัยว่าผู้สมัคร สส.พรรคประชาชาติสงขลาเขต 8 และเขต 7 ไม่มีสิทธิ์สมัคร เนื่องจากตัวแทนพรรคประจำจังหวัดครบวาระไปแล้ว แต่ข้อบังคับพรรคในขณะนั้นไม่ได้กำหนดไว้ให้รักษาการต่อไปได้ จึงไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ตามกฎหมาย
จากคำสั่งศาลฎีกา จะเห็นว่าศาลไม่ได้พิพากษาว่ามีผู้ใดกระทำความผิด และประเด็นที่สื่อนำไปลงใส่ร้ายว่ามีความผิดตาม มาตรา 56 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ กรณีหัวหน้าพรรคออกหนังสือรับรองส่งผู้สมัครตามมาตรา 50 นั้น ศาลได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า ยังไม่ถือว่าพรรคประชาชาติได้ส่งผู้สมัครเลย เพราะเหตุตัวแทนพรรคประจำจังหวัดครบวาระ ถือว่าไม่มีสาขาพรรคการเมือง จึงไม่เข้าข่ายมาตรา 56
นอกจากนั้น ในประเด็นเดียวกันนี้ หากถือว่ามีการสมัครจริง ผู้สมัครจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 56 วรรค 2 ของกฎหมายพรรคการเมือง ที่บัญญัติว่า “แม้ปรากฏภายหลังว่าไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 50 และ 51 ก็ไม่ทำให้การสมัครรับเลือกตั้งเสียไป” คือผู้สมัครยังมีสิทธิ์นั่นเอง
แต่นี่ยังไม่ถึงขั้นตอนตามมาตรา 56 และในคำวินิจฉัยตามคำสั่งศาลฎีกาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพรรคดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย ข้อบังคับ และแจ้งการดำเนินรายงานให้นายทะเบียนพรรคการเมือง คือ เลขาธิการ กกต. ทราบก่อนดำเนินการ ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองในช่วงนั้นได้รับทราบให้พรรคประชาชาติดำเนินการได้ (อนุมัติให้ส่งผู้สมัครได้ในตอนแรก) แสดงถึงการกระทำโดยเปิดเผย และเชื่อโดยสุจริต ไม่มีเจตนาทุจริตในการส่งผู้สมัคร สส.แต่อย่างใด