จากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟระเบิด ที่ชุมชนตลาดมูโนะ หมู่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อช่วงบ่ายของวันเสาร์ที่ 29 ก.ค.66 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 206 ราย และบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายกว่า 600 หลังคาเรือนนั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่มูโนะ และมีการเปิดโปงเกี่ยวกับ “ส่วยดอกไม้ไฟ” และสภาพความเป็น “พื้นที่สีเทา” ของนราธิวาส โดยเฉพาะ อ.สุไหงโก-ลก จนมีการโยกย้ายและเรียกสอบข้าราชการที่เกี่ยวข้องบางส่วนนั้น ปรากฏว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และถี่ผิดสังเกต สรุปไล่เรียงได้ดังนี้
31 ก.ค.66
- คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายอุสมาน นิอิงเจ๊ะแฮ ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดบริเวณสามแยกบ้านปงมูชู หมู่ 1 ต.บาตง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
1 ส.ค. 66
- คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง ร.ต.อ.สมศักดิ์ จิตประวัติ ข้าราชการบำนาญ เสียชีวิต บริเวณตลาดนัดบือชู หมู่ 6 อ.บันนังสตา จ.ยะลา
2 ส.ค.66
- คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง ส.ต.อ.ไซฟูดีน เจ๊ะซอ ตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป.) สภ.มายอ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ พื้นที่ หมู่1 ต.มายอ อ.มายอ จ.ปัตตานี
3 ส.ค.66
- รถบรรทุกหกล้อของเจ้าหน้าที่ทหาร กรมทหารราบที่ 151 ค่ายกัลยาณิวัฒนา ถูกลอบวางระเบิด บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 จุดเกิดเหตุท้องที่หมู่ 3 ต.ตันหยงดาลอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทำให้ทหารเสียชีวิต 1 นาย คือ ส.อ.ศุภกร ศิริเสถียร พลขับ และมีทหารกับชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 7 ราย
- คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายกอเซ็ง มาดี เสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณริมถนนทางเข้าสวนทุเรียนบ้านกาหลง หมู่ 2 ต.กาหลง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
- เหตุลอบระเบิดริมถนนสาย อ.ศรีสาคร-อ.บันนังสตา ท้องที่หมู่ 5 อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้รถยนต์เก๋งของชาวบ้านที่สัญจรผ่านไป-มาได้รับความเสียหาย และมีประชาชนบาดเจ็บเล็กน้อย 2 ราย
4 ส.ค.66
- คนร้ายใช้อาวุธปืน ยิง พ.ท.ฉัตรชัย สมพมิตร ข้าราชการบำนาญ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ บริเวณข้างมัสยิดอัลยามีอุลอิสลามี บ้านปรีกี หมู่ 3 ต.กระโด อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
- คนร้ายจุดชนวนระเบิดบริเวณหน้าศูนย์เด็กกำพร้า บ้านสาเมาะ หมู่ 1 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
5 ส.ค.66
- เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ กลางสี่แยกบนถนนพาดทางรถไฟ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ไม่มีผู้บาดเจ็บ
- เกิดเหตุคล้ายระเบิด บริเวณถนนวงเวียน 3 ข้างรั้ว สภ.เมืองยะลา และสนามช้างเผือกหลังศาลาธรรมศาสตร์ อ.เมือง จ.ยะลา มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย คือ น.ส.สาปีนะห์ สาแมง และ น.ส.พิมพ์ลภัส ศิลาโรน์ ภายหลังทราบว่าเป็นประทัดยักษ์
- คนร้ายลอบเผากล้องวงจรปิดได้รับความเสียหาย จำนวน 1 จุด เป็นกล้องวงจรปิดของ สภ.บ้านโสร่ง ติดตั้งไว้ที่เสาไฟฟ้าสามแยกบ้านพงจิจา หมู่ 1 ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
6 ส.ค. 66
- พบวัตถุต้องสงสัยเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบในถังดับเพลิง น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม ถูกนำไปวางบริเวณจุดจอดรถของกลาง ภายใน สภ.เมืองยะลา เจ้าหน้าที่ได้เข้าเก็บกู้และยิงทำลาย
7 ส.ค.66
- เจ้าหน้าที่พบวัตถุต้องสงสัย ถังแก๊สสีส้ม บริเวณพงหญ้าริมทาง ภายในซอยปาทานอุทิศ 2 หมู่ 1 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
- คนร้ายลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง บริเวณเกาะกลางถนน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ปัตตานี–นราธิวาส บ้านแปะบุญ หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ แรงระเบิดทำให้สายไฟฟ้าขาด และรถยนต์ชาวบ้านได้รับความเสียหายเล็กน้อย
- คนร้ายก่อเหตุปาไปป์บอมบ์ และใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 กราดยิงใส่กำลังเจ้าหน้าที่กองร้อยป้องกันชายแดนที่ 4 ขณะกำลังลาดตระเวน ใกล้กับโกดังริมน้ำ บ้านศรีพงัน หมู่ 3 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นาย คือ พลทหารรีฟวัร เจ๊ะแล
8 ส.ค.66
- ลอบวางระเบิดริมทางหลวงชนบท หมายเลข 2070 บางทัน-สายหมอ ในพื้นที่บ้านบางทัน หมู่ 3 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
@@ ป่วนหนักโยงธุรกิจสีเทา - ภัยแทรกซ้อนป่วนใต้?
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นถี่ยิบ บางเหตุการณ์ถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเปิดโปงข้อมูล “ส่วยดอกไม้ไฟ - ส่วยธุรกิจสีเทา” ในพื้นที่ หลังเกิดเหตุโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟระเบิดหรือไม่ เพราะไม่น่าเป็นไปได้ที่จะปล่อยให้มีการโกดังเก็บวัตถุอันตรายล็อตใหญ่ขนาดนี้ไว้กลางชุมชน ใกล้กับตลาด โดยไม่มีใครรู้เห็นเลย
โดยเฉพาะเหตุคาร์บอมบ์กลางสี่แยก เมืองสุไหงโก-ลก เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ส.ค. ซึ่งเสียงระเบิดดังขึ้นหลังจากโกดังระเบิด 1 สัปดาห์ หรือ 7 วันพอดี เป็นการก่อเหตุที่อุกอาจ จอดรถคาร์บอมบ์ทิ้งกลางสี่แยก มีการจัดทีมไปยิงสกัดเจ้าหน้าที่ และปาไปป์บอม์บริเวณฐานปฏิบัติการใกล้เคียงจุดจอดคาร์บอมบ์ เรียกว่าทำงานอย่างเป็นระบบ วางแผนมา และไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่แม้แต่น้อย
ทำให้มีเสียงวิจารณ์กันให้แซ่ดว่าน่าจะมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการจงใจการสร้างสถานการณ์ โดยใช้กลุ่มก่อความไม่สงบออกมาก่อเหตุ แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกมองว่า มีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดแฟลตตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 พ.ย.65 ซึ่งเป็น “คาร์บอมบ์” เหมือนกัน โดยเสียงระเบิดดังขึ้นหลังการเปิดโปงขบวนการเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในพื้นที่ กับเครือข่ายธุรกิจสีเทา จนนำไปสู่การสั่งย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
และไม่เพียงแค่เหตุคาร์บอมบ์ที่สุไหงโก-ลก แต่เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในห้วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะการวางระเบิดแสวงเครื่องในลานจอดรถของกลางของ สภ.เมืองยะลา หากเก็บกู้ไม่ทันจนเกิดระเบิดขึ้น จะส่งต่อภาพลักษณ์ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างมาก
เหล่านี้ทำให้ถูกมองและตั้งคำถามว่า ภัยแทรกซ้อนไฟใต้ว่าด้วยธุรกิจสีเทา สินค้าหนีภาษี ของเถื่อน น้ำมันเถื่อน และวัตถุอันตรายต้องห้าม แท้ที่จริงแล้วเป็นผลประโยชน์ซ้อนทับกับเครือข่ายก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนใช่หรือไม่ หรืออย่างน้อยก็เป็น “ผู้สนับสนุนหลัก” ให้กับกลุ่มที่เคลื่อนไหว และแสวงประโยชน์ซึ่งกันและกัน
@@ หน่วยข่าวคาด 3 สาเหตุป่วนต่อเนื่อง
ด้านเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ ตั้งข้อสังเกตุถึงการเกิดเหตุความไม่สงบอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ว่า มาเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ
1.คาดว่าเป็นการก่อเหตุที่เชื่อมโยงกับ “วัน” หรือ “ห้วงเวลาเชิงสัญลักษณ์” เนื่องจากทุกวันที่ 1 ส.ค.ของทุกปี เป็น “วันทหาร” ของกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือ “ตัจรีย์” ของกลุ่มขบวนการ
นอกจากนั้นยังพบข้อมูลด้วยว่า ในเดือน ส.ค.ของทุกปี เป็นวันที่ทางกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้รับเงินบริจาคจากองค์กรสนับสนุนต่างๆ เพื่อมาเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทย ฉะนั้นในห้วงต้นเดือน ส.ค. ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จึงมีแผนสร้างสถานการณ์รุนแรงให้เกิดขึ้น
2.คาดว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อปลุกขวัญและกำลังใจของแนวร่วมในพื้นที่ หลังจากมีสมาชิกคนสำคัญของขบวนการบีอาร์เอ็นเสียชีวิตในประเทศมาเลเซีย และได้นำศพกลับมาประกอบพิธีทางศาสนา ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส คือ นายอับดุลพาเมล สาและ อายุ 51 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านกาโดะ หมู่ 4 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
นายอับดุลพาเมล เสียชีวิตจากอาการป่วยเส้นเลือดในสมองแตก รักษาตัวในพื้นที่โกตาบารู รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย มาประมาณ 1 เดือน หลังเสียชีวิตทางครอบครัวนำศพกลับมาประกอบพิธีทางศาสนา โดยมีการละหมาดที่มัสยิดบ้านกาโดะ และนำศพไปฝังที่สุสาน บ้านกาโดะ
จากแฟ้มข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า นายอับดุลพาเมล สาและ มีชื่อจัดตั้ง หรือฉายาว่า “โกเบอินโด” อายุ 51 ปี เป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ มีหมายจับ ป.วิอาญา จำนวน 3 หมาย ของสภ.รือเสาะ ช่วงปี 2553-2560 ฐานความผิด ร่วมกันต่อสู้ พยายามฆ่าเจ้าหน้าพนักงาน, ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร และร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
โดยหลังถูกออกหมายจับ “โกเบอินโด” ได้หลบหนีไปพักพิงและทำงานอยู่ตามแนวชายแดนไทย - มาลเซีย ฝั่ง อ.สุไหงโก-ลก และเคลื่อนไหวในพื้นที่โกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เป็นเวลาประมาณ 10 ปี ก่อนจะเสียชีวิต
3.เป็นความพยายามของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบและความวุ่นวายในพื้นที่ เพื่อต้อนรับการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ตลอดจนบุคคลระดับวีไอพีอีกหลายคนที่ลงพื้นที่ต่อเนื่องหลังเกิดโศกนาฏกรรมโกดังพลุ ดอกไม้ไฟระเบิดที่มูโนะ
ข้อสันนิษฐานของหน่วยข่าวความมั่นคง ให้น้ำหนักเรื่องที่ 1 กับ 2 มากกว่าสาเหตุที่ 3 แต่ก็ไม่ได้ตัดประเด็นใดออก เพราะกลุ่มที่เคลื่อนไหวมีหลายกลุ่ม และอาจปฏิบัติการด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน