“อ.วันนอร์” เข้าพบประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระหว่างไปปฏิบัติภารกิจร่วมประชุมรัฐสภาอาเซียน ซึ่งแดนอิเหนาเป็นเจ้าภาพ ถือโอกาสจับเข่าคุยขอความร่วมมือแก้ปัญหาราคายางพารา ปัญหาประมง หวังช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและชาวประมงของทั้งสองประเทศ “โจโกวี” รับปากผลักดันให้เป็นรูปธรรม ร่วมมืออย่างใกล้ชิด
วันอังคารที่ 8 ส.ค.66 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ซึ่งได้นำคณะเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีโอกาสเข้าพบ นายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งปีนี้มีตำแหน่งเป็นประธานอาเซียน และเป็นผู้นำที่มีบทบาทสูงในหลายๆ ปัญหาของภูมิภาค
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ ท่านโจโก วิโดโด Presiden Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่ทำเนียบประธานาธิบดี พร้อมๆ กับประธานรัฐสภาจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งท่านได้ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเองและอย่างดีมาก
“ผมได้แสดงความชื่นชมท่านโจโกวี ว่าเป็นประธานาธิบดีที่นำอาเซียนอย่างภาคภูมิใจ ท่านเป็นผู้นำในด้านประชาธิปไตย ผู้นำในด้านเศรษฐกิจ เป็นผู้นำในการปฏิรูปประเทศอินโดนีเซียให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่มีใครคาดคิดได้ และเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างน่าสนใจอย่างมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ผมได้แสดงความชื่นชม จึงได้มาเยี่ยมคารวะท่านในวันนี้”
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า นอกจากมาประชุมรัฐสภาอาเซียนแล้ว ก็อยากจะมาพบท่าน เพื่อขอความร่วมมือในเรื่องบางอย่างที่เรามีปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ
“เรื่องแรกผมขอความร่วมมือในเรื่องยางพารา ประเทศไทยและอินโดนีเซียเรามีปัญหาเรื่องราคายางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพารามากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก และอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตอันดับสองของโลก มีประเทศผู้ใช้ยางพาราเป็นร้อยประเทศ ยางพาราที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ ล้อเครื่องบิน มีราคาสูงขึ้นตลอดเวลา แต่ราคายางพาราที่เป็นวัตถุดิบกลับตกต่ำ ซึ่งทำให้เกษตรกรชาวสวนยางในสองประเทศนี้เดือดร้อน”
“ก็อยากจะขอความร่วมมือจากท่านว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก ได้ช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้ราคายางพาราสูงขึ้นมาบ้าง เพื่อไม่ให้เกษตรกรทั้งสองประเทศเดือดร้อน ซึ่งท่านก็รับปาก และบอกว่าจะนำเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของอินโดนีเซียได้หารือกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป”
“นี่เป็นเรื่องที่ผมดีใจมากที่ได้มาครั้งนี้ เพราะเราได้ไปรับปากกับประชาชนชาวสวนยางซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น ทางภาคกลางก็มีที่ระยอง ชลบุรี ภาคอีสานก็ปลูกกันทั่ว ทางภาคเหนือก็ปลูกกันหลายจังหวัด ถ้าราคายางขยับขึ้น อย่างน้อยก็เกินกว่าต้นทุนที่เกษตรกรมีอยู่ ทำให้เกษตรกรหายจากความเดือดร้อน ดูแลตนเองได้ดีขึ้น แล้วก็หวังว่ารัฐบาลไทยที่จะจัดตั้งในวันข้างหน้านั้น จะรับเรื่องนี้ไปคุยต่อกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อประธานาธิบดีรับปากว่าจะนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมเชื่อมั่นว่า ยางพาราจะมีราคาที่สูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง”
“ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ได้ปรารภกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย คือ ประเทศไทยและอินโดนีเซีย เราเคยมีความร่วมมือกันในการทำประมงอย่างมีศักยภาพร่วมกัน ชาวประมงไทยและอินโดนีเซีย ตลอดจนประเทศทั้งสอง มีรายได้จากประมงไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ขณะนี้การประมงของเรานั้นไม่สามารถจะทำได้เหมือนเดิม อาจจะมีเหตุผลหลายประการ ทั้งเรื่องจากอียูและปัญหาอื่นๆ ก็เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลของประเทศทั้งสองต้องร่วมมือกันอย่างในอดีต หรืออาจจะดีกว่าในอดีต เพื่อให้ชาวประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักหนึ่งของประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งท่านก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ดี จะมีการร่วมมือกันต่อไป” ประธานรัฐสภา กล่าว