จากเหตุการณ์คนร้ายขับรถยนต์เก๋งประกอบระเบิดเป็น “คาร์บอมบ์” จอดทิ้งกลางสี่แยกอรกานต์อย่างอุกอาจ
เพราะสี่แยกนี้อยู่ในเขตเมืองสุไหงโก-ลก ท้องที่หมู่ 1 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งมีด่านตรวจหลายแห่งในเขตเมือง โดยเฉพาะเป็นเมืองชายแดน พื้นที่ติดกับมาเลเซีย แต่คนร้ายกลับใช้วิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ขับรถติดตั้งระเบิดไปจอดกลางไฟแดง แล้ววิ่งไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่เพื่อนขี่ตามรอรับ แล้วหลบหนีไป
หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวจึงเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสั่นหวั่นไหว โชคดีที่ขณะเกิดระเบิดไม่มีรถของประชาชนสัญจรผ่านไปมา จึงไม่มีใครได้รับอันตราย
เบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่า คนร้ายนอกจากจะใจถึง ใจนิ่ง ก่อเหตุแบบไม่สนโลก ไม่สนสภาวะแวดล้อมแล้ว ยังวางแผนมาอย่างดี เพราะน่าจะไม่ได้ตั้งเป้าหมายทำร้ายใครให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพียงแต่ต้องการใช้เสียงระเบิดส่งสัญญาณอะไรบางอย่างเท่านั้น
เหตุการณ์ครั้งนี้จึงถูกจับโยงกับเหตุระเบิดโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟ ที่ตลาดมูโนะ ซึ่งอยู่ใน อ.สุไหงโก-ลก เช่นเดียวกัน และมีการพยายามรื้อขบวนการส่วยสินบน หลังจากพบว่าปล่อยให้มีโกดังวัตถุไวไฟตั้งอยู่ได้กลางชุมชน ในตลาด
ส่วนวัตถุอันตรายที่ระเบิด คาดว่าน้ำหนักน่าจะไม่ต่ำกว่า 5 ตัน!!!
เหตุคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นนี้ นับว่าเป็นรูปแบ “คาร์บอมบ์” ลูกแรกที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงปี 2566 ซึ่งคาร์บอมบ์ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ คือเหตุลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ที่แฟลตตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 พ.ย.65 ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และมีครอบครัวตำรวจที่อาศัยอยู่บนแฟลต และพื้นที่ข้างเคียง ได้รับบาดเจ็บถึง 31 ราย ทั้งยังทำให้อาคารบ้านพักและแฟลตตำรวจได้รับความเสียหาย เกิดเพลิงไหม้จนวอดวาย
เป็นการก่อเหตุเหยียบจมูกผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างไม่ต้องสงสัย!!
จากการรวบรวมสถิติคาร์บอมบ์ของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2547 พบว่า คาร์บอมบ์ลูกแรกเกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อปี 2548 จากนั้นก็เกิดเรื่อยมา จนถึงครั้งล่าสุดที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นับรวมได้ทั้งหมด 61 ครั้ง
สถิติคาร์บอมบ์ทั้ง 61 ครั้ง แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.นราธิวาส เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 25 ครั้ง
จ.ยะลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 14 ครั้ง
จ.ปัตตานี เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 17 ครั้ง
ส่วน 4 อำเภอของ จ.สงขลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 4 ครั้ง
ทั้งยังมีเหตุคาร์บอมบ์นอกพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 1 ครั้ง คือ ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2558 ซึ่งเกี่ยวโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน
การเก็บสถิติคาร์บอมบ์ สืบเนื่องจากเป็นรูปแบบการก่อวินาศกรรมที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในสงครามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งเป็นเสมือน “วันเสียงปืนแตก” ก่อนที่ชายแดนใต้จะไม่สงบอีกเลยกระทั่งถึงปัจจุบัน