มีคำชี้แจงแบบยาวๆ จาก กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หลังจาก “ทีมข่าวอิศรา” เปิดเอกสารคำสั่ง กอ.รมน. ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2552 ว่าการกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ เกินจำนวน 10 ดอก ต้องได้รับอนุญาตจาก ผอ.รมน.ภาค 4 เท่านั้น
โดย ผอ.รมน.ภาค 4 ก็คือ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายทหารในพื้นที่ภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง
ทั้งยังเป็นหัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคงทั้งหมดในหมวกของ กอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งก็คือ “ภาคใต้” อีกด้วย
คำสั่งที่ว่านี้ คือ คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่ 49/2552 เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลอบวางระเบิด หลังจากที่มีการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา
สาระสำคัญของคำสั่งก็คือ...
1.ให้ประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่นราธิวาส ยะลา และปัตตานี สามารถมีดอกไม้เพลิง ซึ่งรวมถึงพุลไว้ในครอบครองได้คนละไม่เกินจำนวนดังนี้
-ดอกไม้เพลิงทุกชนิดหรือทุกประเภท รวมกันต้องครอบครองได้คนละไม่เกิน 10 อัน/ชุด
-ประทัดยักษ์ ห้ามประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่มีไว้ในครอบครอง ยกเว้นจะได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
หากประชาชนผู้ใดประสงค์จะมีไว้ในครอบครองเกินจำนวน ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนายการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4
2.สำหรับการประกอบธุรกิจจำหน่ายดอกไม้เพลิง รวมถึงพลุและประทัดยักษ์ ในเขตพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น ให้นายทะเบียนท้องที่ (นายอำเภอ) งดการออกก็ใบอนุญาตใหม่ให้กับผู้ขอใบอนุญาต และให้ระงับการต่อใบอนุญาตในการทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจาก ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4
จากคำสั่งที่นำมาเปิดเผย ทำให้มีการตั้งคำถามว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยเฉพาะ ผอ.รมน.ภาค 4 จะรับผิดชอบอย่างไรกับเหตุการณ์โกดังพลุ และดอกไม้ไฟระเบิดครั้งรุนแรงที่ชุมชนมูโนะ
ล่าสุด พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้อย่างละเอียด
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กรณีเหตุการณ์ว่าเกิดความผิดพลาดตรงไหนอย่างไร ขอเรียนว่า ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 11 (3) และตามประกาศตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 ออกคำสั่ง เป็นการกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในมาตรการดังกล่าวนั้นเรามีมาตรการควบคุม ทั้งในเรื่องของการมีไว้ในครอบครอง การขนย้าย และการจำหน่าย ซึ่งแต่ละอย่างนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละส่วนมีความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไป
ในส่วนของบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จากการติดตามการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสื่อบางสำนักอาจจะยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในการออกมาตรการเพื่อควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ประการแรก คือการกำหนดมาตรการควบคุมพลุ ดอกไม้เพลิง และประทัด ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะเข้าไปเกี่ยวข้องแค่เฉพาะในเรื่องของการออกมาตรการควบคุมในการขนย้าย ว่าการขนย้ายดังกล่าวนั้นถูกต้อง ตามระเบียบหรือตามใบอนุญาตหรือไม่ โดยจะต้องทำการตรวจสอบใบสั่งซื้อของร้านค้าผู้ประกอบการกับยอดที่สั่งซื้อ ว่าตรงกันหรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบใบอนุญาตของผู้ประกอบการว่ามีใบอนุญาตประกอบการหรือไม่ รวมทั้งมีการตรวจสอบความเชื่อมโยงของบริษัท ว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่หรือไม่ อย่างไร
หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ทางผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ก็จะเซ็นอนุญาตให้มีการขนย้ายดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด เข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากบริษัทผู้ประกอบการ เพื่อนำเอาไปใช้ในงานประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ รวมทั้งบางส่วนจะส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
ทั้งนี้ ในการขออนุญาต จากการตรวจสอบเอกสารล่าสุดพบว่า ได้มีการขออนุญาตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2566 รวมระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กำหนดห้วงเวลาในการขออนุญาต 6 เดือน/ครั้ง หลังจากนั้นจากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่มีการขออนุญาตในการขนย้ายเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับในเรื่องของมาตรการอื่นๆ มาตรการควบคุมมีไว้ในครอบครองและการจำหน่าย ก็เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนท้องที่ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อไป
อีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของการกำหนดมาตรการควบคุมสารตั้งต้น หรือสิ่งอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการประกอบวัตถุระเบิด ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ใช้ประกาศฉบับเดียวกันในการออกมาตรการในการควบคุมวัตถุระเบิดเหล่านี้ด้วย
โดยขั้นตอนในการควบคุม ก็คือ ตั้งแต่ผู้ประกอบการ จะต้องมีการขออนุญาตมีไว้เพื่อครอบครองและใช้งาน โดยต้องขออนุญาตกับทางจังหวัด ซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัดก็จะมีการรับรองปริมาณของแต่ละบริษัทว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร จากนั้นก็จะผ่านขั้นตอนกลั่นกรองจากคณะกรรมการของจังหวัด และจะส่งมาให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุมัติทำการสั่งซื้อ
สำหรับขั้นตอนในการขนเข้ามายังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน คือจะต้องมีการขออนุญาตต่อผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เนื่องจากว่าจะต้องขนย้ายเข้ามาในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548
สำหรับในเรื่องของการเก็บรักษาวัตถุระเบิดจะต่างจากประทัดและดอกไม้เพลิง วัตถุระเบิดได้มีการออกกฎหมายอย่างชัดเจนว่าสถานที่จะต้องใช้ในการเก็บ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสถานที่ของทางราชการ คลังเก็บของวัตถุระเบิดในค่ายทหาร ของตำรวจตระเวนชายแดน หรือกองร้อย อส. เมื่อมีการเบิกไปใช้ก็ต้องมีการชี้แจงสถานภาพทุกครั้ง
เพราะฉะนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีการนำเสนอข้อมูลที่มีการคลาดเคลื่อนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทางเราก็จะมีการแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคที่ 1 คือ ดอกไม้เพลิง พลุ และประทัด คือ เป็นไปตามระเบียบ และแนวทางที่ได้มีการกำหนดไว้ เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนท้องที่ที่จะต้องเป็นผู้อนุญาตให้มีไว้ครอบครองหรือเพื่อจำหน่าย
สำหรับในบทบาทหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีอำนาจเพียงแค่ขออนุญาตให้มีการขนย้ายเข้ามาในพื้นที่ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สอบสวนสืบสวนรับผิดชอบในการตรวจสอบ รวมทั้งได้มีการตรวจสอบในเรื่องของความถูกต้อง ในเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
อำนาจในการมีไว้เพื่อครอบครองและจำหน่าย เป็นอำนาจของนายทะเบียนท้องที่ แต่ในฐานะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีหน้าที่รับผิดชอบความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากได้รับรายงานว่ามีกลุ่มบุคคลที่ได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปทำการตรวจสอบ
สำหรับมาตรการในการสกัดกั้นตามแนวชายแดน จริงๆ แล้วโดยอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เรามีกองร้อยป้องกันชายแดนที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ก็จะมุ่งเน้นในการสกัดกั้น ทั้งบุคคล กลุ่มบุคคลที่ลักลอบนำสินค้าหนีภาษี สิ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นในกรณีในการลักลอบขนย้ายดอกไม้เพลิง หากได้รับการประสานจากนายทะเบียนท้องที่ เจ้าหน้าที่ก็จะต้องดำเนินการ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการวางกำลังและเครื่องมือในการสกัดกั้นตามแนวชายแดน เพียงแต่ว่ามุ่งเน้นในเรื่องของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งการแอบลักลอบขนย้ายอาวุธ กระสุน และวัตถุระเบิดมากกว่า ที่จริงแล้วหากเรามองแค่ดอกไม้เพลิงและประทัดจริงๆ แล้ว เป็นสิ่งที่เขาใช้ในงานประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ เพียงแต่ว่าปริมาณที่เขาครอบครองมีจำนวนมาก จึงนำมาสู่ความสูญเสียในครั้งนี้”