จากข้อมูล ภาพถ่าย และการตรวจสอบสถานที่จริงของโกดังและร้านค้าที่พบพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ในชุมชนมูโนะ ทั้งที่เกิดระเบิดไปแล้ว และยังไม่ระเบิด สรุปได้ง่ายๆ อย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่มีอะไรถูกกฎหมายทั้งสิ้น
โรงเรือนที่ใช้เก็บสินค้า ซึ่งวันนี้เป็น “ของกลางทางคดี” ล้วนไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ผิดกฎหมายทุกฉบับ ทั้งที่เกี่ยวกับสารอันตราย วัตถุอันตราย และกฎหมายความมั่นคง
เมื่อทุกอย่างผิดกฎหมาย แต่กลับดำรงอยู่ได้แบบสบายๆ แถมป่านนี้เจ้าของโกดัง ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็น “เจ้าของวัตถุไวไฟ” ต้นเหตุโศกนาฏกรรมทั้งหมดด้วย กลับยังไม่ปรากฏตัวเข้ามอบตัวตามหมายเรียกของตำรวจ
ยิ่งทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนขึ้นว่า งานนี้กำลังมี “อภิสิทธิ์ชน” หรือมีผลประโยชน์นอกระบบที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นทั้งๆ ที่กฎหมายห้ามหรือไม่
ในเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อ golokspotlight (โก-ลก สปอตไลต์) ออกมาเปิดข้อมูลตั้งแต่เมื่อวันแรกๆ หลังเกิดเหตุ จนมีการนำไปอ้างอิงกันทั่วว่า
-เจ้าของโกดังเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดบังหน้า แต่มีธุรกิจขายประทัดและพลุส่งออกมาเลเซีย เป็นรายใหญ่ของ อ.สุไหงโก-ลก
-เจ้าของเคยถูกจับกุมเมื่อปี 59 แต่หลุดคดีมาได้
-มีข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายผลประโยชน์รายเดือนให้กับเจ้าหน้าที่สีกากี มีหน้าเสื่อยศจ่า ชื่อย่อ “ฟ.” เป็นผู้ติดต่อประสานงาน เดือนละ 3-5 หมื่นบาท
นี่คือข้อมูลที่แม้แต่ สส.ก้าวไกล อย่างคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็นำมาอ้างถึง
“ทีมข่าวอิศรา” ส่งทีมตรวจสอบเรื่องนี้ และพบข้อมูลบางส่วนตรงกับที่เพจ golokspotlight ออกมาแฉ แต่บางส่วนก็มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น
@@ “ส่วยบุฟเฟต์” หลักแสน!
1.การจ่ายส่วยเพื่อขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย รวมถึงพลุ ดอกไม้ไฟ และประทัด มีอยู่จริงในพื้นที่ชายแดนใต้ แยกเป็น
ส่วยพื้นฐาน - อยู่ที่อัตรา 30,000-50,000 บาทต่อเดือน - ถ้าจ่ายในอัตรานี้ จะขนส่งได้แบบจำกัดจำนวนเที่ยว และต้องมีสินค้าอื่นแซมหรือปะปนมาในรถที่ใช้ขนด้วย เพื่อไม่ให้มีพิรุธมาก เช่น ถ้าจะขนพลุ ดอกไม้ไฟ ก็อาจจะต้องมีลังผลไม้แซมมาด้วย
ส่วยแอดวานซ์ - อัตรา 100,000 บาทต่อเดือน - ถ้าจ่ายอัตรานี้ จะขนส่งได้แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ขนกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนรถบรรทุกจ่ายส่วยสติ๊กเกอร์ ไม่ต้องติดเวลา และการขน ไม่ต้องมีสินค้าอื่นแซมเลย เรียกว่าขนได้เต็มที่ ขนได้เต็มๆ คันรถ ไม่ต้องมีกล่องสินค้าอื่นแซมให้เปลืองที่ แถมส่งสินค้าอะไรก็ได้ ไม่จำกัดประเภท จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ส่วยบุฟเฟต์” เป็นที่ชื่นชอบถูกใจสำหรับคนในแวดวงธุรกิจสีเทาอย่างมาก
แต่มีข้อสังเกตว่า ราคานี้เป็นราคาสำหรับ “ขาใหญ่” เท่านั้น เป็นการคิดรวมทั้งค่าขนส่ง และเก็บรักษาในโกดังเพื่อรอส่งต่อ มีการอำนวยความสะดวก จ่ายจุดเดียวจบ ไม่ต้องจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง หรือโดนรีบไถบ่อยๆ จากหน่วยนั้นหน่วยนี้ให้รำคาญใจ
แต่ถ้าเป็น “ผู้ค้ารายเล็ก” อาจจะจ่ายต่อครั้งน้อยกว่านี้ แต่ต้องจ่ายหลายหน่วย จ่ายยิบย่อย โดนเรียกเก็บจุกจิกไม่จบ เรียกว่ากวนใจ กวนธุรกิจ แต่ราคาถูกกว่า
ตำรวจในพื้นที่นายหนึ่ง เผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ถ้าจ่ายหนักก็จะขนได้หนักหน่อย แสน-สองแสนต่อเดือน ก็สามารถขนได้แบบบุฟเฟต์เลย ยาบ้ายังขนได้ อย่างอื่นก็ขนสบาย ช่องทางสะดวก ขนสบายตลอดทาง ทั้งทางบกทางน้ำ ขอแค่จ่ายถึงๆ ก็พอ
@@ ส่งของผ่านท่าข้าม จ่ายเหมาวันละพัน!
2.การจ่ายส่วยเพื่อขนสินค้าข้ามแดน
หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมขนสินค้าข้ามแดนต้องจ่ายส่วยด้วย
คำตอบก็คือ การส่งสินค้าข้ามแดน หากเป็นสินค้าผิดกฎหมาย หรือสินค้าต้องห้าม สินค้าที่ต้องขออนุญาต แล้วไม่ได้ขอ ย่อมไม่สามารถส่งผ่านด่านศุลกากรได้ จึงต้องส่งผ่าน “ช่องทางพิเศษ” ไม่ต้องเสียภาษี และไม่ต้องถูกตรวจสอบ
หากเป็นพื้นที่ชายแดนด้านที่มีแม่น้ำกั้น จะส่งทางเรือ ทางท่าข้ามธรรมชาติ หรือท่าข้ามเอกชน เช่น ท่าข้ามตลอดแนวแม่น้ำสุไหงโก-ลก
กรณีขนพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในพื้นที่มูโนะ เพื่อส่งข้ามแดน จะใช้วิธีส่งข้ามแม่น้ำโก-ลก โดยท่าข้ามอยู่ไม่ไกลจากโกดังที่เกิดระเบิด และโกดังที่พบดอกไม้ไฟเพิ่ม ซึ่งไม่เกิดระเบิด โดยโกดังที่ไม่ระเบิดนี้ เป็นอาคารพาณิชย์ พบพลุ ดอกไม้ไฟอีก 1.9 ตัน อยู่ห่างจากท่าข้ามแม่น้ำโก-ลก เดินไม่ถึง 5 นาที
อัตราค่าขนส่ง รายกล่อง อยู่ที่กล่องละ 5 บาทถึง 10 บาท แล้วแต่ขนาดของกล่อง โดยคนที่เลือกจ่ายรูปแบบนี้ เป็นกลุ่มที่ขนสินค้าน้อยชิ้น แต่หากต้องการขนสินค้าจำนวนมาก จะเลือกแบบจ่ายเหมา วันละ 1,000 บาท ส่งกี่กล่องก็ได้ แถมส่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง
มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือ ท่าข้ามริมชายแดนไทย-มาเลเซียส่วนใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ “สีเขียว” คุมอยู่ และมีเวลาปิด-เปิดท่าอย่างชัดเจน แต่ที่มูโนะ เป็นพื้นที่ของ “ขาใหญ่ฝ่ายการเมือง” จึงไม่มี “สีเขียว” เกี่ยวข้องหรือคอยคุม ทำให้ขนกันอย่างเสรี จ่ายจุดเดียวจบที่ “สีกากี”
“ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับชายฉกรรจ์ที่มีอาชีพขนสินค้าหนีภาษีข้ามฝั่งไทย-มาเลย์ ได้ข้อมูลยืนยันว่า การขนพลุ ดอกไม้ไฟ ถ้าเป็นที่มูโนะ หรือสุไหงโก-ลก จะส่งที่ท่าเรือ ท่าข้ามมูโนะกันเลย เพราะท่านี้ขนได้ 24 ชั่วโมง ไม่มีทหารคุม คนขนก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่รับจ้างเพราะต้องการเงิน
@@ แฉเพิ่มอีก 6 โกดังเก็บพลุ 3 อำเภอริมชายแดน!
3.โกดังเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ได้มีแค่ที่มูโนะเท่านั้น แต่ในตัวอำเภอสุไหงโก-ลก ก็มี และการจับกุมเมื่อปี 59 โดยชุดปฏิบัติการของ กอ.รมน. ก็มีการจับกุมได้ถึง 60 ตัน มีทั้งโกดังในตัวอำเภอสุไหงโก-ลก และที่มูโนะ ซึ่งอยู่ในเขตสุไหงโก-ลก เช่นกัน
การเปิดโกดังเก็บสินค้าอันตราย สารอันตราย หรือวัตถุไวไฟกลางชุมชน สามารถทำได้หรือไม่ หากไม่จ่ายผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ เป็นประเด็นที่ใครๆ ก็ทราบกันดี
จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ยังมีโกดังเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ อีกอย่างน้อย 6 แห่งใน 3 อำเภอริมชายแดนไทย-มาเลย์ เฉพาะริมแม่น้ำโก-ลก ได้แก่
- โกดังบูเก๊ะตา ใน ต.บูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส 1 แห่ง
-โกดังใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อย่างน้อย 4 แห่ง (ไม่รวมที่ ต.มูโนะ)
- โกดังใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 1 แห่ง
โดยทั้ง 3 อำเภอนี้เป็นเขตติดต่อกัน อยู่ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย ริมแม่น้ำโก-ลก ทั้ง 3 อำเภอ
@@ เจ้าของตัวจริง หรือ “หุ่นเชิดฝ่ายการเมือง”?
4.เจ้าของโกดัง เป็นเจ้าของสินค้าด้วยหรือไม่
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลจากคนในพื้นที่ และนักธุรกิจชายแดนใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของโกดังอาจเป็นเพียง “ตัวเปิด” ของธุรกิจขนสินค้าประเภทพลุ ดอกไม้ไฟ ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย ต้องห้ามเคลื่อนย้ายและครอบครอง แต่เจ้าของตัวจริง คือ “ขาใหญ่” ในพื้นที่ โดยสาเหตุที่ต้องใช้ “นอมินี” ก็เพราะ
- ขาใหญ่เปิดตัวไม่ได้ เนื่องจากมีตำแหน่งทางการเมือง (จากการตรวจสอบไม่ใช่ตำแหน่งเล็กๆ และไม่ใช่การเมืองท้องถิ่น)
- ใช้พ่อค้าหรือนักธุรกิจในพื้นที่ออกหน้าแทน
- เลือกใช้พ่อค้าหรือนักธุรกิจที่มีรถขนส่ง มีโกดังเก็บสินค้า
- “ขาใหญ่” รับหน้าที่ดูแลช่องทางจ่ายส่วยรายเดือน เป็นแบบจ่ายจุดเดียวจบ กำไรงาม ส่วนแบ่งสูง
ข้อมูลจากนักธุรกิจในพื้นที่ระบุว่า การขนส่งสินค้าอันตราย จำพวกวัตถุไวไฟข้ามแดน ถือว่า “ไม่ธรรมดา” พ่อค้าธรรมดาๆ ทำไม่ได้ และต้องจ่ายเงินดูแลเจ้าหน้าที่ในอัตราสูง ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่าเจ้าของตัวจริงเป็น “ขาใหญ่” ที่โยงใยฝ่ายการเมืองและผู้มีอำนาจมากกว่า
สำหรับสาเหตุที่ฝั่งมาเลเซียต้องสั่งสินค้าเหล่านี้จากไทย โดยเฉพาะในช่วงงานเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น วันชาติ (31 สิงหาคม) นั้น ก็เพราะว่า กฎหมายมาเลเซียห้ามครอบครอง จำหน่าย สินค้าจำพวกพลุ ประทัด และดอกไม้เพลิง โดยกฎหมายมีความเข้มงวด อัตราโทษสูง ทำให้สินค้าถูกส่งจากฝั่งไทยไปเท่านั้น และต้องนำสินค้ามาพักรอที่โกดังริมชายแดนล่วงหน้า เนื่องจากทางฝั่งมาเลเซียจะเปิดอนุโลมให้จำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟได้ในช่วงเทศกาลหรือโอกาสเฉลิมฉลองสำคัญๆ ส่วนห้วงเวลาอื่น ห้ามเด็ดขาด
เหตุนี้จึงต้องสั่งสินค้าจากไทย และพ่อค้าฝั่งไทยนิยมส่งไปขาย เนื่องจากได้ราคาแพง เพราะหายาก อัพราคาได้มาก เมื่อกำไรงาม ส่วยจึงบานตามไปด้วย
-------------------------------------
ขอบคุณกราฟิกบางส่วนจาก รายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี