คณะทูต 10 ประเทศมุสลิมเยือนสามจังหวัดชายแดน รับทราบแนวทางการแก้ปัญหาไฟใต้และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
วันอังคารที่ 25 ก.ค.66 คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม 10 ประเทศ เดินทางเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) หลังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือเชิญเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการทูตเชิงรุก และสร้างความเข้าใจ การรับรู้อันดีเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แก่นานาชาติ
โอกาสนี้มีเอกอัครราชทูตจากประเทศมาเลเซีย คูเวต โอมาน อียิปต์ อินโดนีเซีย ตุรกี โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย อุปทูตจากสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ และปากีสถาน ร่วมเดินทางลงพื้นที่ ใช้เวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 - 27 ก.ค.
จุดแรกที่คณะเดินทางเยือน คือ สำนักงาน ศอ.บต. เพื่อทำความเข้าใจการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยมีผู้บริหาร ศอ.บต., กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน. ภาค 4 สน., สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และหัวหน้าส่วนราชการร่วมให้การต้อนรับ
@@ พัฒนาชีวิตประชาชนตามวิถีสังคมพหุวัฒนธรรม
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ในการพัฒนาสามจังหวัด แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้านหลักๆ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิต, การสร้างหลักประกันสังคมจิตวิทยาเพื่อสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี ซึ่งมีเป้าหมายสุดสูงสุดเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ร่วมกันได้ในวิถีสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน พร้อมเน้นการพัฒนาอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมกันทุกศาสนา ไม่แบ่งแยก
“ที่ผ่านมามีการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้ารับการศึกษา เช่น การแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กเล็กกว่า 46,000 คนที่พบว่ามีภาวะเตี้ย แคระ เเกร็น เนื่องจากประชากรมีฐานะยากจน มีอาชีพและรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ศอ.บต.ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อกระจายรายได้ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ”
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อทำความเข้าใจแก่ทูตมุสลิม 10 ประเทศว่า ศอ.บต.ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์ ความเชื่อ โดยไม่ปิดกั้นและไม่เลือกปฏิบัติ ให้ประชาชนได้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ทั้งประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม พุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีน
“ในส่วนการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน ศอ.บต.ได้อำนวยให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการของรัฐตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กรณีเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือทุพพลภาพ จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาทันทีที่เกิดเหตุ และดูแลอย่างต่อเนื่องตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านจิตใจและร่างกาย” เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
@@ บังคับใช้กฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน
ด้าน พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. มีการปฏิบัติงานในมิติงานด้านความมั่นคง ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “การพัฒนาตามภูมิสังคม” รวมทั้งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญเร่งด่วน 5 งาน คือ งานการควบคุมพื้นที่และบังคับใช้กฎหมาย, งานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด, งานการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง , งานการสร้างความเข้าใจ และงานบูรณาการด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา
การดำเนินงานควบคุมพื้นที่ กอ.รมน.เน้นการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยยึดหลักการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใส เสมอภาค และเป็นธรรม ภายใต้การรับรู้และมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และเครือญาติ
หากจำเป็นต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งหมายให้เกิดความสงบในสังคม และประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข
@@ เหตุรุนแรงลด 48%
ขณะที่ นายนริน เวโรจน์วิวัฒน์ ผู้แทน สมช. กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่รัฐบาลทุกยุคสมัยให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม จำนวนเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
โดยสถานะล่าสุด ในห้วงเดือน 1 ต.ค. 2565 – 30 มิ.ย.2566 มีสถิติการก่อเหตุรุนแรง จำนวน 86 เหตุการณ์ สถิติผู้เสียชีวิต 33 ราย และบาดเจ็บ 110 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงก่อนหน้านั้น พบว่ามีสถิติการก่อเหตุรุนแรงจำนวน 166 เหตุการณ์ ลดลงจำนวน 80 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 48 และมีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 69.44
สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ เป็นผลจากการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งให้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ได้รับการแก้ไขจนเกิดความสงบและสันติสุขอย่างยั่งยืน ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม
@@ เยี่ยมชม TK Park - พบปะศิษย์เก่าโลกมุสลิม
วันเดียวกัน ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ให้การต้อนรับคณะเอกอัครราชทูต และอุปทูต 10 ประเทศ ซึ่งเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมพาเยี่ยมชมการดำเนินงานของอุทยานการเรียนรู้ TK Park ยะลา เพื่อให้คณะทูตเห็นศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ที่ทันสมัย รวมถึงรับทราบตัวอย่างการดำเนินงานที่เข้มแข็งและมีผลเป็นรูปธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
ต่อมาคณะเอกอัครราชทูต และอุปทูต 10 ประเทศ ได้ชมการแสดงออร์เคสตรา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่สังกัดภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
จากนั้นคณะเอกอัครราชทูต และอุปทูต 10 ประเทศ ได้พบปะผู้แทนศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศโลกมุสลิม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังสำเร็จการศึกษา พร้อมทั้งขอบคุณทางรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาและดูแลนักศึกษาไทยเป็นอย่างดี