ควันหลงจากการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ลุกลามไปถึงการทำหน้าที่ของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา
เพราะที่ประชุมได้มีการหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ที่ระบุว่าไม่สามารถนำญัตติที่ถูกตีตกไปแล้วมาเสนอใหม่ได้ในสมัยประชุมเดียวกัน โดยตีความว่าการเสนอชื่อนายกฯ คือการเสนอ “ญัตติ” เท่ากับว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯของพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาโหวตเมื่อวันที่ 13 ก.ค. เป็นญัตติ เมื่อที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากไม่เห็นชอบ ย่อมแปลว่าญัตติตกไป เสนอชื่อนายพิธาซ้ำอีกไม่ได้
จริงๆ แล้วข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 เปิดช่องให้ประธานสภาใช้อำนาจชี้ขาดในเรื่องนี้ได้ แต่นายวันมูหะมัดนอร์ กลับเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายแสดงเหตุผลกันทั้งสองฝ่ายยาวนานหลายชั่วโมง กระทั่งสุดท้ายให้ที่ประชุมลงมติว่าการเสนอชื่อนายกฯเป็นญัตติหรือไม่ ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นญัตติ ทำให้การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯซ้ำสอง ไม่สามารถทำได้ เท่ากับปิดฉากการเป็นนายกฯคนที่ 30 ของนายพิธาไปโดยปริยาย
เมื่อ “ว่าที่นายกฯพิธา” พลาดหวังเป็นนายกฯตัวจริง ทำให้บรรดาผู้สนับสนุนพากันแสดงความไม่พอใจ ทั้งออกไปชุมนุม และแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดียอย่างรุนแรง และมีจำนวนไม่น้อยที่ตำหนิการทำหน้าที่ของ อ.วันนอร์
@@ เปิดข้อบังคับฯ เจ้าปัญหา
สำหรับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 เขียนเอาไว้สั้นๆ แบบนี้
“ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนาญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”
แม้อ่านดูเผินๆ จะเห็นว่าเนื้อหาของข้อ 41 จะให้อำนาจประธานอนุญาต หรือชี้ขาดได้ แต่หากอ่านโดยละเอียดจะเห็นว่า การจะอนุญาตหรือชี้ขาดนั้น ต้องมีเงื่อนไขประกอบ 2 ประการ คือ
-ญัตตินั้นยังไม่ได้มีการลงมติ หรือ
-มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับญัตตินั้น
จะเห็นได้ว่าการเสนอชื่อนายพิธา มีการลงมติไปแล้ว และการเสนอชื่อซ้ำ ก็ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไป จุดนี้อาจทำให้ อ.วันนอร์ ไม่ได้ใช้อำนาจชี้ขาด และเปิดให้สภาช่วยกันพิจารณาและลงมติแทน
@@ ผู้สนับสนุนก้าวไกลรุมถล่ม
การทำหน้าที่ “คนกลาง” ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดเช่นนี้ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายที่เสียประโยชน์จากการตัดสินใจของ “คนกลาง”
อย่างกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล สะท้อนความรู้สึกผิดหวังและไม่จะพอใจ ถึงขั้นออกมาโพสต์ต่อว่า โดยเฉพาะประเด็นไม่มีความเด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ยอมวินิจฉัยทั้งที่มีอำนาจ
@@ ถ้าก้าวไกลนั่ง “ปธ.สภา” ไม่ออกมาแบบนี้
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งทำกิจกรรมการเมืองกับพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ตอนหนึ่งว่า ผลจากการประชุมรัฐสภาวันนี้ คงได้เห็นถึงความสำคัญของตำแหน่งประธานรัฐสภาในช่วงเวลาที่มาตรา 272 ยังคงอยู่กันแล้ว ผลการลงมติวันนี้ ไม่เพียงกระทบต่อการเลือกพิธาในรอบที่ 2 แต่ยังกระทบไปถึงการลงมติครั้งหน้าในการเสนอชื่อแคนดิเดตจากเพื่อไทยด้วย
“หากปดิพัทธ์ เป็นประธานรัฐสภา (หมายถึง ปดิพัทธ์ สันติธาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล) วันนี้ผมมั่นใจว่าเขากล้าใช้อำนาจประธานยืนยันว่า การเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ หรือต่อให้ลากไปเป็นญัตติซ้ำ แต่ก็มีข้อยกเว้นในข้อ 41 ตอนท้ายว่า เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เสนอซ้ำได้”
@@ จี้ประกาศให้มติ 19 ก.ค.เป็นโมฆะ
รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ “จดหมายถึงคุณวันนอร์” ผ่านเฟซบุ๊กศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ระบุว่า “ในฐานะที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร คุณได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ต่อรัฐธรรมนูญ ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนักกฎหมายท่านอื่นๆ ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า เป็นการทำให้เกิดการทำลายคุณค่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วยข้อบังคับการประชุมซึ่งต่ำศักดิ์กว่า
ขณะเดียวกันคุณก็ยังทำให้มีการโหวตทั้งๆ ที่คุณก็รู้อยู่แก่ใจว่าผลโหวตจะออกมาอย่างไร หากคุณปฏิเสธไม่รู้ก็ออกจะไร้เดียงสาเกินไป ร้ายไปกว่านั้น คุณยังปล่อยให้สมาชิกวุฒิสภาบางคนแสดงความเห็นไปในเชิงข่มขู่คุกคามสมาชิกสภาท่านอื่นๆ
ก่อนที่การทำลายคุณค่าของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดำเนินไปจนกลายเป็นบรรทัดฐานอัปลักษณ์นี้ คุณต้องเป็นคนแรกที่ดำเนินการแก้ไขนี้ ด้วยการใช้ดุลพินิจและประกาศต่อสมาชิกสภาทุกท่านว่าการลงมติของสภาในวันที่ 19 นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ และจะขอดำเนินการแก้ไขในวันและเวลาก่อนการประชุมสภาครั้งต่อไป
คุณเป็นคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อัปลักษณ์นี้ คุณจึงต้องเป็นคนแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อสังคมการเมืองที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจเถื่อนของคนเพียงไม่กี่คนในรัฐสภา”
@@ บ่วงรัดคอแคนดิเดตคนถัดไป
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอทซ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “น่าผิดหวังมาก #วันนอร์ ไม่ใช้อำนาจประธานสภาวินิจฉัยประเด็นเรื่องการเสนอชื่อ พิธา การโหวตมติอัปยศที่เอาระเบียบการประชุมสภามาอยู่เหนือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นหายนะทางการเมือง นี่คือบ่วงรัดคอผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯคนต่อไปว่าจะถูกปฏิบัติตามบรรทัดฐานนี้ ห้ามเสนอชื่อซ้ำ และยังทำให้ สว.จับพรรคการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนเป็นตัวประกันให้ต้องทำตามความพอใจของ 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
@@ “ด้อมส้ม” ทวีตชวนคว่ำบาตร “วันนอร์”
นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิจารณ์จากผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายราย โดยเฉพาะกองเชียร์ฝ่ายประชาธิปไตย “ด้อมส้ม” ที่โพสต์แสดงความคิดเห็นและต่อว่าการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
“ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมมาบางส่วน อาทิ
“คนที่ไว้ใจสุดท้าย ร้ายที่สุด คงชัดเจนแล้วว่า ทำไมก้าวไกลต้องได้เป็นประธานสภา”
“วันนอร์ คืออะไรอ่ะ วินิจฉัยผิดๆ ถูกๆ ให้ ส.ส.เด็กรุ่นใหม่มาสอนอีกที เด็กมันยังชี้แจงรายละเอียดมีเหตุมีผล นี่มาอึกๆ อักๆ รับลูกไหลตามคนประท้วง นี่คือคนมากประสบการณ์ที่ใครๆ ก็อวยเหรอเนี่ย”
“มาชวนให้คว่ำบาตรประธานสภาชื่อวันนอร์ ที่ไร้ซึ่งภาวะผู้นำและความกล้าหาญที่จะทำตามรัฐธรรมนูญเพื่อเลือกนายกฯ วันนอร์ไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว เราไม่เอานักการเมืองแบบนี้”
“วันนอร์ควรจะพิจารณาตนเองนะ จะรับผิดชอบอย่างไรกับความไม่ชี้ขาด ไม่แน่นอนแก่ประชาชน แก่ขนาดนี้แล้วสำนึกบ้างเถอะ แล้วอย่างในสภาอภิปรายผิดๆ ถูกๆ ไม่ชี้ขาด แต่พอสัมภาษณ์นี้ไหลลื่นเชียว”
“ขอประณามประธานสภาวันนี้ทำหน้าที่ได้ห่วยแตกมาก ไม่มีความเข้มแข็งและรักษากฎข้อบังคับ ขาดความเป็นกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้สมาชิกอภิปรายกันมั่วไปหมด จนสุดท้ายต้องใช้วิธีลงมติ ทั้งๆ ที่ประธานสภามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อบังคัง 41 ได้เอง”
“เคสวันนอร์ อ้างเรื่องพยายามเป็นกลางไม่ได้เลยนะ มั่วเต็มประตู เพราะผิดตั้งแต่ 1.ไม่ยอมวินิจฉัย 2.ปล่อยให้ตีรวน 3.พาไปสู่การโหวตเตะตัดขาพิธา ฉะนั้นมันไม่ใช่พลาดแค่สเต็ปเดียว อยู่มานานแบบนี้ไม่รู้? ไม่ทันเกม? คิดเป็นอื่นยาก นอกจากตั้งใจ เตี๊ยมกันมาหมดแล้ว ประชาชนไม่ได้โง่”
@@ อาเต็ฟแนะลาออก - กลุ่มหนุนออกโรงป้อง
“ทีมข่าวอิศรา” สำรวจความเห็นของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามสภากาแฟ และประชาชนที่มีการตั้งกลุ่ม จับกลุ่มพูดคุยกัน รวมถึงตามโซเซียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ พบว่ามีการกล่าวถึงการทำหน้าที่ของ อ.วันนอร์ จำนวนมาก มีทั้งที่ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ โดยเฉพาะกลุ่มสนับสนุนพรรคก้าวไกล หรือ “ด้อมส้ม”
ส่วนกลุ่มที่เคยเชียร์หรือชื่นชอบ อ.วันนอร์ และออกมาแสดงความสนับสนุนการรับตำแหน่งประธานสภาก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ยังนิ่งๆ ไม่แสดงท่าทีมากนัก แต่ก็มีบางส่วนที่ตำหนิกลุ่มด้อมส้มด้วยเช่นกัน
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ The Patani โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “แม้ อ.วันนอร์ ไม่มีเจตนาลบแต่อย่างใด ผลของการประชุมสภาล่าสุด ก็ยังมองว่า ท่านไม่อยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเฉกเช่นอดีต อาจจะด้วยอายุ สุขภาพ มีคนเคยพูดว่า ท่านจำใจรับหน้าที่ ซึ่งหากรักท่านจริง เสนอให้ท่านลาออก เถอะครับ”
ด้าน นางบุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม กล่าวว่า “ยังชื่นชมคุณวันนอร์ที่ทำหน้าที่ได้ดี ขณะเดียวกันในพื้นที่ก็มีบางกลุ่มที่เป็นด้อมส้มจะไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ ส่วนคนที่ชื่นชอบ อ.วันนอร์ ก็ยังชื่นชมในการทำหน้าที่ของท่าน เมื่อวานท่านทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร
นายอันวา มูสอ ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า คนที่ด่า อ.วันนอร์ ก็มีแต่พวกด้อมส้ม วันไหนที่ชอบใจก็เรียก “อาเยาะห์นอร์” วันไหนที่ไม่ชอบก็เรียก “มะนอร์” เรียกอย่างไม่ให้เกียรติ พวกนี้เป็นพวกไม่มีอุมดมการณ์ เอาแต่ความรู้สึก เด็กรุ่นใหม่ก็แบบนี้
“ดีแล้วที่ อ.วันนอร์ ตัดสินใจทำแบบนั้น เพราะถ้า อ.วันนอร์ เลือกเข้าข้างพิธา ทัวร์อีกกลุ่มก็ลงอีกอยู่ดี แต่ อ.วันนอร์ ทำตามหน้าที่เป็นคนกลางแบบนี้ถือว่าดีที่สุดแล้ว”