พลันที่พรรคก้าวไกลใกล้จะสูญเสียอำนาจฝ่ายบริหารอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งๆ ที่ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มาอันดับ 1
แต่พลาดทั้งตำแหน่งนายกฯ (หมดสิทธิ์ไปแล้วจากการตีตกญัตติโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอบ 2) และสถานะการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกำลังจะหลุดมือ
ไม่นับเก้าอี้ “ประธานสภา” ที่ต้องเสียให้พรรค 9 เสียงอย่างพรรคประชาชาติไปก่อนหน้านี้
ทำให้พรรคก้าวไกลพลิกเกมสู้ เลือกเดินทางถนัด คือจัดหนักเสนอร่างแก้ไขปัญหากฎหมายแนวปฏิรูป ซึ่งจะสั่นคลอนกลุ่มอำนาจเดิม ทั้งทุนใหญ่ผูกขาด กองทัพ และฝ่ายความมั่นคง จองคิวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
โดยร่างกฎหมายที่ยื่นล็อตแรกมีทั้งหมด 7 ฉบับ ตามหลักการเปลี่ยนประเทศ- ปฏิรูปกองทัพ โดยมีผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับเรื่อง และร่างกฎหมายที่เสนอมาทั้งหมด เมื่อวันที่ 18 ก.ค.66 ที่ผ่านมา
หลังการยื่น 7 ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “การยุบ กอ.รมน. เริ่มนับหนึ่งวันนี้นะครับ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พ.ศ. ....ถึงมีประธานแล้ว”
นอกจากนี้ นายรอมฎอน ยังโพสต์ข้อความเพิ่มเติม โดยมีเนื้อหาว่า “ความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับสันติภาพในชายแดนใต้ / ปาตานี เรื่องแรกคือการริเริ่มตั้งต้นยุบ กอ.รมน. ด้วยการเสนอร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ อีกเรื่องเป็นการเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยเรื่องการสร้างสันติภาพ ลงนามโดย ส.ส.ก้าวไกล รวม 30 คน
ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลสัญญาเอาไว้กับประชาชน วางอยู่บนแนวคิดที่ว่าการเผชิญหน้าและรับมือกับความขัดแย้งในชายแดนใต้มาตลอดหลายสิบปีนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทาง นั่นคือการลดบทบาทของกองทัพลง และเพิ่มบทบาทของพลเรือนให้มากขึ้น โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะที่เป็นสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน พื้นที่ของสภาฯ เช่นนี้จะเปิดโอกาสให้เราสามารถดึงเสียงที่แตกต่างหลากหลายมาถกเถียงเรื่องสำคัญๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นกลไกที่จะส่งเสริมการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง
ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาอำนาจรัฐ เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องระดับชาติ การมอบหมายให้อยู่ภายใต้กรอบคิดและการดำเนินงานของหน่วยงานความมั่นคงชนิดพิเศษอย่างที่ผ่านมาไม่เพียงพอแล้ว เราต้องการทิศทางที่สร้างสรรค์และเปิดกว้างมากกว่านั้น เพื่อไม่ให้ทิ้งระเบิดเวลาให้กับคนรุ่นถัดไป
ที่จริงแล้ว การยุบ กอ.รมน. ไม่ได้วางอยู่บนเหตุผลแค่เรื่องสันติภาพในดินแดนใต้สุดเท่านั้น แม้ในช่วงการฟื้นตัวก่อกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2551 จะอิงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่นั่น ปัญหาของหน่วยงานรัฐซ้อนรัฐนี้ปรากฏอยู่ทั่วทั้งประเทศ การแทรกแซงเข้าไปในกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน มองหาภัยคุกคามและข้าศึกอยู่ตลอดเวลาเช่นนั้นไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในระยะยาว
เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกฎหมาย 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพ แต่ละเรื่องนับเป็นหัวใจสำคัญของหลักการควบคุมกองทัพด้วยรัฐบาลพลเรือนแทบทั้งสิ้น ชวนทุกท่านติดตามและถกเถียงถึงพัฒนาการของกระบวนการสันติภาพในรัฐสภาไทยอย่างใกล้ชิด”
@@ ชงตั้ง กมธ.สันติภาพ “ปาตานี”
นอกจากโพสต์ข้อความ นายรอมฎอนยังโพสต์ภาพเอกสารร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อดำเนินการยุบ กอ.รมน. และภาพเอกสาร ขอเสนอญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับมีนายรอมฎอน ปันจอร์ ลงชื่อเป็นผู้เสนอ
เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารการขอเสนอญัตติ พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี มีการใช้คำว่า “ปาตานี” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากขบวนการชาตินิยมปัตตานี ที่ผ่านมามักถูกใช้โดยฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐและกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ แต่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็น ส.ส.ของปวงชนชาวไทย ซึ่งหมายถึงคนไทยทั้งประเทศ นำมาใช้ห้อยท้ายชื่อของคณะกรรมาธิการฯ ที่ตนเองเสนอ
ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนในเจตนาว่าเป็นความต้องการสะท้อนความแตกต่างหลากหลาย หรือเป็นการยอมรับคำกล่าวของคู่เจรจา ซึ่งบางส่วนใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐไทยกันแน่
@@ ทหารเตือนอย่านำความมั่นคงรัฐเป็นเครื่องมือการเมือง
นายทหารระดับสูงใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (ขอสงวนนาม) แสดงทัศนะหลังได้เห็นการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ของนายรอมฎอนว่า “อย่านำความมั่นคงของรัฐมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง”
@@ ตรวจแถว 7 ร่างกฎหมาย ก้าวไกลประเดิมรื้อ!
สำหรับร่างกฎหมายทั้งหมด 7 ฉบับ ที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไข แบ่งเป็น 2 ชุด
ชุดที่ 1 ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ (Demilitarize) จำนวน 5 ฉบับ เพื่อทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ประกอบด้วย
(1) ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100%
(2) ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อตัดอำนาจสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
(3) ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่ายและเงินนอกงบประมาณทั้งหมดของรัฐ
(4) ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อดำเนินการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
(5) ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
ชุดที่ 2 ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด (Demonopolize) จำนวน 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย
(1) ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือร่าง “สุราก้าวหน้า” เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน
(2) ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างกติกาแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และออกกฎ “คนฮั้ววงแตก” ในการป้องกันการฮั้วประมูลของบางบริษัทที่ร่วมมือกันผูกขาดหรือลดการแข่งขัน
-----------------------------------
ขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Romadon Panjor , พรรคก้าวไกล - Move Forward Party