มติของที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.66 ซึ่งไม่ได้โหวตนายกฯ แต่เป็นการโหวตว่า การเสนอชื่อนายกฯเพื่อโหวต เป็น “ญัตติ” หรือไม่
ถ้าเป็น “ญัตติ” ก็ต้องถือว่าเสนอชื่อ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ซ้ำอีกไม่ได้ เพราะเคยถูกโหวตไม่รับไปแล้วเมื่อ 13 ก.ค.
ที่ประชุมอภิปรายถกเถียงเรื่องนี้ตลอดทั้งวัน สุดท้ายจบที่การโหวต
คะแนนออกมาค่อนข้างห่าง คือ เสียงที่เห็นว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็น “ญัตติ” เสนอคุณพิธาซ้ำไม่ได้ มี 395 เสียง
ส่วนเสียงที่เห็นว่าการเสนอชื่อนายกฯ “ไม่เป็นญัตติ” สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ มี 317 เสียง
นอกจากนั้นมีงดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 คน
คะแนนที่ออกมาไม่ผิดคาด ฝ่าย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่สนับสนุนคุณพิธา ได้เสียงน้อยกว่าการโหวตนายกฯรอบแรกด้วยซ้ำ
สมดังที่มีคนพยากรณ์ว่า ยิ่งโหวตซ้ำๆ เสียงจะยิ่งน้อยลง เพราะเปิดหน้ากันหมด ถูกเข้าชาร์จได้ง่าย โดยเฉพาะจากฝั่งผู้มีอำนาจ
ผลโหวตวันที่ 19 ก.ค.จึงแจ่มชัด เสียงสนับสนุนฝ่าย 8 พรรคฯที่เชียร์คุณพิธาน้อยลง แถมเสียงที่ได้จาก สว.ก็น้อยลงด้วย จาก 13 เหลือแค่ 8
มติที่ออกมาเท่ากับปิดฉากการเป็นนายกฯของคุณพิธา อย่างน้อยก็ในสมัยประชุมนี้
และอาจปิดฉากไปอีกนาน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คุณพิธาต้องพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.เพราะถือหุ้นสื่อ อาจถึงขั้นปิดฉากตลอดกาล
แต่จริงๆ แล้วผลสะเทือนของเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดแค่ตัวคุณพิธาที่ไม่ได้เป็นนายกฯ หรือพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกต่อไป
เพราะผลของมันกว้างขวางและน่ากลัวกว่านั้นมาก โดยเฉพาะเป็นอีกครั้งที่หลักการกฎหมาย และหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ถูกเขย่าอย่างรุนแรง
1.เกิดเสียงวิจารณ์ “รุมกินโต๊ะ” คุณพิธาและพรรคก้าวไกล จากกกต. / ศาลรัฐธรรมนูญ / ส.ว. / ส.ส.ฝั่ง 188 / แกนนำฝั่ง 8 พรรคด้วยกันเอง / และพรรคเพื่อไทย
ทำให้มีกระแสสงสาร เห็นใจ จับตาม็อบขยายวง...
2.มีการตั้งคำถามถึงมาตรฐานของรัฐสภาที่ลงมติให้ข้อบังคับการประชุมฯ ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญถูกตีกรอบ ปฏิบัติไม่ได้ในบางเรื่อง
คาดว่าหลังจากนี้น่าจะมีกระบวนการส่งผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อ อาจทำให้กระบวนการโหวตเลือกนายกฯยืดเยื้อออกไปอีก
3.การโหวตนายกฯรอบต่อๆ ไป จะยากขึ้น เพราะถ้าโหวตแล้วได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสองสภา จะเสนอชื่อซ้ำไม่ได้ สรุปคือเสนอโหวตได้รอบเดียวเท่านั้น
เท่ากับตีความรัฐธรรมนูญใหม่ หรือใช้มติรัฐสภาเพิ่มเติมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญหรือไม่
และหากคิดต่อในอีกมุมหนึ่ง เราจะโหวตนายกฯจากบัญชีแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอได้อีกไม่เกิน 8 ครั้ง เพราะเรามีแคนดิเดต 9 คนซึ่งพรรคการเมืองต้นสังกัดได้ ส.ส.เกิน 25 คน (ร้อยละ 5) ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ (มีสิทธิเสนอแคนดิเดตให้รัฐสภาโหวต)
คือ คุณพิธา (ตกไปแล้ว), คุณเศรษฐา คุณอุ๊งอิ๊งค์ คุณชัยเกษม จากพรรคเพื่อไทย, คุณอนุทิน จากพรรคภูมิใจไทย, พล.อ.ประวิตร หรือ “บิ๊กป้อม” จากพรรคพลังประชารัฐ, พล.อ.ประยุทธ์ และ คุณพีระพันธุ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ คุณจุรินทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์
4.อำนาจ สว.ในการโหวตนายกฯ เพิ่มสูงขึ้นอีก กลายเป็นเสียงชี้เป็นชี้ตาย และกำหนดทิศทางการเมืองมากกว่าเดิม
5.อำนาจต่อรองของ ส.ส.ฝ่ายที่รวมเสียงได้น้อยกว่า (ฝ่ายเสียงข้างน้อย = ฝั่ง 188) มีมากขึ้น และกำหนดทิศทางการเมืองได้มากขึ้นเช่นกัน
**ตัวอย่าง พรรคภูมิใจไทยยื่นเงื่อนไข ถ้ายังมีก้าวไกล จะไม่ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย เป็นต้น
6.โอกาสของ “บิ๊กป้อม” เริ่มเรืองรอง
7.โอกาสของการมี “นายกฯนอกบัญชีแคนดิเดต” หรือ “นายกฯนอกบัญชี” มีมากขึ้น เมื่อแคนดิเดตที่มีสิทธิเสนอชื่อได้ ถูกตีตกหมด (เพราะ ส.ว.กับฝั่ง 188 มีอำนาจสูงขึ้น)
คำถามทิ้งท้าย...สรุปเสียงข้างน้อย กับเสียงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ใหญ่กว่าเสียงข้างมากที่ประชาชนเลือกมาหรือไม่?