อัยการจังหวัดนราธิวาสสั่งฟ้อง 2 ทหาร คดียิง 3 ชาวบ้านตัดไม้บนเขาตะเวเมื่อปี 62 หลังฟังไม่ขึ้น อ้างเข้าใจคลาดเคลื่อน ยิงผิดตัว ด้านพ่อผู้เสียชีวิตดีใจได้รับความเป็นธรรม เผยใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้ขอคุ้มครองพยาน ส่วนที่ปัตตานี ศาลพิพากษาจำคุก 3 แนวร่วมพูโลป่วนใต้
เมื่อเวลา 09.00 น.วันศุกร์ที่ 7 ก.ค.66 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิ หลังจากพนักงานอัยการนราธิวาสยื่นฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่ทหารก่อเหตุวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้านเสียชีวิต 3 ศพ เหตุเกิดบนเขาตะเว อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62
สืบเนื่องจากเวลา 11.30 น. ของวันที่ 16 ธ.ค.62 ในขณะที่ซาวบ้าน 3 คน ประกอบด้วย นายบูดีมัน มะลี, นายมะนาเซ สะมะแอ และ นายนายฮาฟิซี มะดาโอะ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่หมู่ 8 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้ขึ้นไปบนเขาตะเว เพื่อตัดและแปรรูปไม้ ได้พบกับเจ้าหน้าที่ชุดจรยุทธ์ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ขณะกำลังลาดตระเวนบนเขาตะเว และถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตทั้ง 3 คน
ในขณะที่ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ยินเสียงปืนบนเขาตะเวจำนวนหลายนัด แต่ยังไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปสอบถามเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ
ต่อมาได้มีข่าวกระจายตามสื่อโซเชียลฯต่างๆ โดยมีรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า ได้มีการปะทะกันบนเขาตะเว เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญฯ แนวร่วม RKK เสียชีวิต 3 ราย พร้อมยืดอาวุธปืนได้ 2 กระบอก คือ AK47 จำนวน 1 กระบอก และปืนพกสั้น 1 กระบอก และพบเพิงพักกับอุปกรณ์ต่างๆ อีกหลายรายการ แต่ชาวบ้านก็ยังไม่แน่ชัดว่า กรณีดังกล่าวคือชาวบ้าน 3 คนที่ไปตัดไม้หรือไม่
จนกระทั่งในวันรุ่งขึ้น (17 ธ.ค.66) ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ทหารว่า ผู้เสียชีวิตคือชาวบ้าน 3 รายที่ไปตัดไม้ ในขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นได้ออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่ยิงชาวบ้านเนื่องจากสำคัญผิด
คดีนี้ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ทำการไต่สวนการตาย (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 กรณีเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่) นายบูดีมัน มะลี ผู้ตายที่ 1 นายมะนาเซ สะมะแอ ผู้ตายที่ 2 และนายนายฮาฟิซี มะดาโอะ ผู้ตายที่ 3 โดยญาติของผู้ตายทั้ง 3 ได้แต่งทนายความเข้าร่วมซักถาม และศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งแล้ว
ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้าน 3 ศพ ประกอบด้วย ส.ท.ณัฐวุฒิ บุตรทุม จำเลยที่ 1 และ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) สิทธิชัย ส่องช่วย จำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา คดีอาญาหมายเลขดำที่ 71/2566 ญาติของผู้ตายทั้ง 3 ได้แต่งทนายความเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ และศาลได้กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิ ในวันที่ 7 ก.ค.66
นายอูเซ็ง ดอเล๊าะ ทนายประจำศูนย์ทนายมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า วันนี้เป็นการนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานโจทก์ คือพนักงานอัยการ มีพยานบุคคลทั้งหมด 17 ปาก ของฝ่ายโจทก์ร่วม หมายถึงผู้เสียหาย 4 ปาก และของจำเลยได้ขอต่อสู้คดีว่า รับว่ายิง แต่ว่าเป็นการยิงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ มีพยานประมาณ 8 ปาก โดยจะมีการนัดสืบพยาน ระหว่างวันที่ 10 -12 ต.ค.66 และ 17-19 ต.ค.66 รวม 6 นัด
“คดีนี้อยู่ที่ศาลนราธิวาส ได้มีการฟ้องมาตั้งแต่ปลายปี 2565 คือเดิมคดีนี้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง แต่พนักงานอัยการไม่เห็นด้วย เขาเลยมีคำสั่งให้ฟ้อง ก็เลยฟ้องดำเนินคดีกับทหาร 2 นาย เพราะที่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวน ทั้งสองเป็นคนยิง ที่เหลือคือไม่มีใครยิง ไม่มีการฟ้องว่า ผู้บังคับบัญชามีส่วนร่วมด้วย เป็นการฟ้องตัวบุคคลที่ยิง ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรอง โดยจำเลยให้การปฏิเสธ” ทนายความประจำศูนย์ทนายมุสลิมฯ กล่าว
คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสามเป็นบิดามารดา ไม่ได้ยื่นขอให้คุ้มครองรักษาความปลอดภัยแต่อย่างใด เพราะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ด้านบิดาของนายมะดาโอ๊ะ หนึ่งในผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ศาลได้ตัดสินฟ้องทหาร 2 คน ก็รู้สึกดีใจมาก หายใจคล่องขึ้น มองเห็นความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้น เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมามีความรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ได้ยินทหารพูดว่า เข้าใจผิด ยิงผิดตัว แล้วทำไมยิงผิดตัวถึง 3 คน มันไม่ใช่เลย และศาลก็พูดด้วยในวันที่ตัดสินว่า ถ้ายิงผิดตัวก็จะไม่มีถึง 3 คนแบบนี้ ทหารก็ก้มหน้าลงไม่พูดอะไร
“ตอนนี้เริ่มนอนหลับ เพราะมองเห็นความเห็นธรรม ขณะเดียวกันทหารก็ไม่ได้มาที่บ้านแล้ว ความรู้สึกดีขึ้นมาก ตอนนี้ขอบคุณทุกคนที่ช่วยชาวบ้าน เราชาวบ้านถ้าหลายคนไม่ช่วยก็ไม่สามารถสู้ได้” บิดาของผู้เสียชีวิตกล่าว
นางปาอีซะ ตาเตะ ชาวนราธิวาส กล่าวว่า ก็รู้สึกดีถ้าทหารที่กระทำผิดจริงแล้วโดนทำโทษ เพราะทหารทำผิดไม่เคยโดนเลย ไม่เคยยอมรับด้วย จริงๆ ทำผิดยอมรับก็จบ แต่กลับมาหลอกชาวบ้านว่าเป็นการปะทะอีก ศาลฟ้องแล้วก็ถือว่าดี ยินดีกับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย
@@ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 แนวร่วมขบวนการพูโล
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ก.ค.66 ศาลจังหวัดปัตตานีอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ อ.1010/65 ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายซัมปูวัน มามะ จำเลยที่ 1 นายไพซอล อาบู จำเลยที่ 2 นายอัฟกันร์ ดือราแม จำเลยที่ 3 ผู้ต้องหาจากเหตุการณ์แขวนป้ายผ้า ในพื้นที่บ้านเตาะกือแย หมู่ 3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ในฐานความผิดฐานก่อการร้าย อั้งยี่ พ.ร.บ.อาวุธปืนและวัตถุระเบิดฯ
โดยศาลชั้นต้นพิพากษา จำคุกจำเลยที่ 1 จำนวน 5 ปี 8 เดือน, จำคุกจำเลยที่ 2 จำนวน 4 ปี 8 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 2 ปี 8 เดือน เนื่องจากมีหลักฐานเชื่อว่า จำเลยทั้ง 3 เป็นแนวร่วมผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ เป็นกลุ่มขบวนการ PULO ที่ร่วมก่อเหตุแขวนป้ายผ้าที่เขียนข้อความเพื่อสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมเนื่องจากโดนผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในคดีอื่นซัดทอดว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในคดีนี้ และจำเลยที่ 1 ซัดทอดว่า มีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมก่อเหตุ โดยลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวจำเลยที่ 1 ไปค้นหาหลักฐานที่บ้าน พบอาวุธปืนซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวโยงเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้
ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงเชื่อว่า จำเลยทั้ง 3 กระทำผิดจริงตามฟ้อง จึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 3 และขังจำเลยทั้ง 3 ระหว่างอุทธรณ์