ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกตลอดชีวิต 3 มือบึ้มจากชายแดนใต้ ก่อเหตุวางระเบิดป่วนกรุงเทพฯ ทั้งหน้าส่วนราชการ ย่านเศรษฐกิจ เมื่อปี 62 เผย 1 ใน 3 โดนพิพากษารวมถึง 164 ปี แต่ลงโทษจริงได้ 50 ปี เจาะคำพิพากษา “แม่ค้าขายไส้กรอก” ช่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติรอดบึ้ม
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีลอบวางระเบิด คดีหมายเลขดำ อ.2913/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายลูไอ แซแง อายุ 27 ปี, นายวิลดัน มาหะ อายุ 33 ปี และนายมูฮัมหมัดอิลฮัม หรือแบลี สะอิ อายุ 31 ปี เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ
ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายฯ, อั้งยี่ ซ่องโจร, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลได้รับบาดเจ็บสาหัส ทรัพย์สินผู้อื่นหรือโรงเรือน, ร่วมกันทำไว้ มีไว้ ซึ่งวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ไว้ในครอบครองได้ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตราประกอบกัน
อัยการโจทก์ระบุความผิดในคำฟ้อง สรุปว่า ระหว่างวันที่ 13 ก.ค.2562 ถึง 2 ส.ค.2562 ต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกอีก 18 คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันแยกย้ายแบ่งหน้าที่กันทำและนำวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่องที่ผลิตขึ้นเอง ใส่ไว้ในภาชนะกระป๋องมันฝรั่ง กล่องผลไม้ มีโลหะลูกปราย หรือลูกเหล็กกลมทำเป็นสะเก็ดระเบิด ไปวางไว้ตามสถานที่ราชการ
อาทิ หน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ริมทางเดินเท้า ถนนพระรามที่ 1, หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี, ที่บริเวณหน้าอาคารบี อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ และบริเวณหน้ารั้ว อาคารกองบัญชาการกองทัพไทย ภายในศูนย์ราชการฯ เป็นต้น
ต่อมาวันที่ 13 ส.ค.2562 เจ้าพนักงานติดตามจำกุมตัวจำเลยที่ 1-2 ได้ พร้อมยึดของกลาง 39 รายการ ส่วนจำเลยที่ 3 ถูกจับกุมตัวได้วันที่ 2 ก.ย.2562 เหตุเกิดแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ และที่อื่นเกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
@@ เปิดแผนประทุษกรรม - แม่ค้าขายไส้กรอกช่วยรอดระเบิด
ศาลให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวจำเลยที่ 1-3 มาฟังคำพิพากษา ขณะที่ทนายความและญาติจำเลยประมาณ 20 คน เดินทางมาศาล ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว ในส่วนของจำเลยที่ 1-2 รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้เคยเดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อประชุมและวางแผนกับจำเลยที่ 3 และพวก ถึงขั้นตอนตระเตรียมการต่างๆ โดยก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ขับรถไปดูลาดเลาที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนจำเลยที่ 1-2 เดินทางไปที่หน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจำเลยที่ 1 ได้นำระเบิดแสวงเครื่องที่บรรจุในกระป๋องมันฝรั่ง และกล่องน้ำผลไม้ ไปวางบริเวณดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 2 คอยดูอยู่ห่างๆ ระหว่างนั้นมีแม่ค้ารถเข็นขายไส้กรอกผ่านมา เห็นผิดสังเกตจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาการณ์อยู่หน้าประตูทางเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ จากนั้นจึงแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบ และประสานหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) มาเก็บกู้วัตุระเบิดได้ทัน
ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 เมื่อก่อเหตุแล้วพากันเดินไปยังห้องน้ำชั้น G ห้างสยามพารากอน แล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ จากนั้นจึงขึ้นรถแท็กซี่ไปยังสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ เพื่อซื้อตั๋วรถทัวร์ไปยังอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อหลบหนี
@@ คุกตลอดชีวิต แต่คำให้การชั้น พ.ร.ก. ลดโทษ 1 ใน 3
คำเบิกความของแม่ค้ารถเข็นขายไส้กรอก และพนักงานขายตั๋วรถทัวร์ สามารถจดจำใบหน้าคนร้ายได้ ประกอบกับภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวและใบหน้าจำเลยทั้งสองได้ พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, อั้งยี่ซ่องโจร และร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งเป็นบทหนักสุด พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-2 ตลอดชีวิต
คำให้การในชั้นซักถามของเจ้าพนักงาน ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 39 ปี 16 เดือน
@@ จำเลยที่ 3 ประชุมมาเลย์ - ทำเองวางเองอีกหลายจุด
ส่วนจำเลยที่ 3 รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ร่วมเป็นตัวการในการกระทำผิด โดยร่วมประชุมวางแผนกับจำเลยที่ 1-2 และพวกที่ประเทศมาเลเซีย จัดหาวัตถุระเบิดแสวงเครื่องให้จำเลยที่ 1-2 เพื่อก่อเหตุวางระเบิด
นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังลักลอบนำระเบิดแสวงเครื่องไปวางไว้บริเวณหน้าอาคารมหานคร และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรี จนเกิดเหตุระเบิด มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 ราย
จำเลยที่ 3 ยังมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, หน้ารั้วกองบัญชาการกองทัพไทย, หน้าอาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, อั้งยี่ซ่องโจร และร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้
@@ คุกรวม 164 ปี แต่ลงโทษจริงไม่เกิน 50 ปี
พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 3 รวม 164 ปี 72 เดือน 240 วัน แต่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ขึ้นไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี ดังนั้นให้จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 50 ปี ริบของกลาง
@@ ทนายสู้ต่อ อ้างภาพวงจรปิดไม่ใช่จำเลย
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ทีมทนายความของจำเลย เปิดเผยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสามคน แต่ก็ถือว่าเป็นโทษที่ไม่สูงมากจนเกินไปสำหรับคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งทนายได้ต่อสู้ว่าบุคคลตามภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวกล้องวงจรปิด ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้ แต่ศาลไม่ได้รับฟัง หลังจากนี้ก็จะศึกษาคำพิพากษาของศาลเพื่ออุทธรณ์คดีต่อไป
@@ “พรเพ็ญ” เปิด 4 ข้อสังเกต - ใช้กฎหมายพิเศษคุมตัว สารภาพ
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายของจำเลย ตั้งข้อสังเกตุว่า สิ่งที่พบเจอในความไม่ปกติของการดำเนินการต่อจำเลยทั้งสามนั้น มีหลายข้อด้วยกัน ได้แก่
1.จำเลยไม่ได้ถูกนำตัวไปดำเนินคดี ณ สถานีตำรวจของพื้นที่เกิดเหตุ (กรุงเทพมหานคร) แต่กลับนำตัวไปสืบสวนสอบสวนที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีกฎหมายพิเศษ ทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ที่สามารถป้องกันการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ และควบคุมผู้ต้องหาได้ถึง 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล
2.จำเลยถูกคุมขังในสภาพที่ไม่มีทนาย คนใกล้ชิดจากครอบครัว หรือคนที่สามารถไว้วางใจได้ขณะถูกสอบสวนและบันทึกปากคำรับสารภาพ
3.การทำบันทึกปากคำรับสารภาพจากวีดีโอของเจ้าหน้าที่ เป็นเพียงแค่ลักษณะอ่านให้ฟังโดยให้จำเลยพยักหน้าหรือยกมือหากมีส่วนไหนที่ต้องการค้านกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งการบันทึกปากคำโดยปกติ คือการซักแบบถามตอบ
4.ปรากฏบันทึกจากใบรับรองแพทย์ของจำเลยที่สาม ว่ามีแผลขนาดใหญ่ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร
น.ส.พรเพ็ญ ยังให้ความเห็นว่า คดีนี้เกิดขึ้นก่อนการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องการและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จึงถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย และเป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทยที่ต้องประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไว้ตั้งแต่ถูกควบคุมตัว
ด้านมารดาของหนึ่งในสามจำเลย ยืนยันว่า จะขอสู้จนถึงที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาทนาย