เรื่องหนึ่งที่พรรคการเมืองหลายพรรคพูดกันเยอะมากในช่วงของการรณรงค์หาเสียง โดยเฉพาะฝั่งพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล คือ นโยบายถอนทหารพ้นชายแดนใต้
เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กองทัพมีแผนดำเนินการอยู่ แต่อาจจะอ่อนประชาสัมพันธ์ ทำให้ไม่ค่อยมีใครทราบ
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลจากกองทัพมานำเสนอ
- เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น มากกว่า 10,300 ครั้ง / มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 15,000 คน
- แผนใช้กำลังพล ลดกำลังพล และถอนทหาร มีมาโดยตลอด ทุกอย่างเป็นไปตามแผนซึ่งปรับตามสถานการณ์
ปี 2547-2553 เป็นแผนระยะแรกในการยุติสถานการณ์ความรุนแรง มีการระดมกำลังทหารมากถึง 22 กองพัน ระดมจากทุกกองทัพภาค (กลาง เหนือ อีสาน ภาค 1-2-3) ลงไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่
ช่วงนั้น กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า มีกำลังพล ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มากกว่า 75,000 นาย
ปี 2554 ระยะที่ 2 เป็นแผนปฏิบัติการเชิงรุกควบคู่การพัฒนา
ปี 2559-2566 เริ่มทยอยถอนกำลัง
ปัจจุบัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีกำลังพล ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร 49,995 นาย โดยเพิ่มประสิทธิภาพอาสาสมัคร และกำลังประจำถิ่นให้มากขึ้นแทน ทั้ง ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน หรือ อรบ., ชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต., ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.
ปัจจุบัน มีชุดคุ้มครองตำบล 164 ชุด มีหมวดปฏิบัติการพิเศษ 38 หมวด อำเภอละ 1 หมวด ดูแลในเขตเมือง
ต่อมามีการทยอยถอนกำลังทหารหลัก ที่เรียกว่า “ทหารเขียว” จากกองทัพภาค 1-2-3 กลับที่ตั้ง ปัจจุบันคงเหลือกำลังแต่ทหารพราน คือกรมทหารพรานที่ 10, 20, 30 และกองทัพภาค 4 จากกองพลทหารราบที่ 5 (พล.ร.5) จำนวน 2 กองพัน คือ กองพันทหารราบเชิงรุก และหน่วยเฉพาะกิจสงขลา 40 ดูแลพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
ตามแผนจนถึงปี 2570 จะมีการทยอยถอนกำลังทหารออกไป และส่งผ่านความรับผิดชอบพื้นที่ให้กำลังปกติดูแล คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ และภาคประชาชน
สำหรับการใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ได้ปรับลดการใช้ไป 10 อำเภอ จากทั้งหมด 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส คงเหลือใช้ 23 อำเภอ และจะทยอยปรับลดเรื่อยๆ จนยกเลิกทุกพื้นที่ในปี 2570
ส่วนพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ “พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” ก็ใช้เพียงมาตรา 21 มาตราเดียว เพื่อเปิดให้ผู้หลงผิด กลับใจเข้ารับการอบรม แทนการฟ้องดำเนินคดี
ข้อมูลจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปว่า หากสถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้นตามที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินไว้ สุดท้ายพื้นที่ชายแดนใต้จะเหลือเพียงหน่วยทหารหลัก คือ กองพลทหารราบที่ 15 ซึ่งเป็นของกองทัพาภาคที่ 4 และทหารพรานอีก 4 กรม คือ กรมทหารพรานที่ 41, 42, 43 และ 46 เท่านั้น
-----------------
ขอบคุณ : อัญชลี อริยกิจเจริญ ผู้สื่อข่าวสายทหารและผู้ประกาศ "เนชั่นทีวี" / กราฟฟิกบางส่วนจาก "ข่าวข้นคนข่าว"