ปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรีที่อาจจะยืดเยื้อ จบไม่ลง ส่งผลให้รัฐบาลชุดใหม่อาจไม่ได้มีส่วนร่วมในการ “จัดโผทหาร” ทั้งๆ ที่ปีนี้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเกษียณพร้อมกันทุกเหล่าทัพ รวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย
ขณะที่พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดให้มี “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” ทำหน้าที่พิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล ก็เป็นเสมือน “กำแพงเหล็ก” ที่สกัดพรรคการเมืองไม่ให้ “ล้วงลูกโผทหาร”
ส่วนนโยบายที่ว่าที่รัฐบาลก้าวไกลหาเสียงเอาไว้ คือ “ปฏิรูปกองทัพ” นั้น จะทำได้จริงหรือไม่ หลายฝ่ายยังกังขา และเอาใจช่วย เพราะหากวางตัว “บิ๊กเหล่าทัพ” ที่เป็นสายปฏิรูปให้เข้าไปคุมกองทัพไม่ได้ ก็ยากที่จะผลักดันนโยบายได้สำเร็จ
แต่ความเคลื่อนไหวของกองทัพเอง กลับคึกคักเป็นพิเศษ มีการประชุมหารือ วางแผนการปฏิรูปกองทัพกันแทบทุกวัน จนหลายคนแซวว่า นี่คือ “คุณูปการ” ของว่าที่รัฐบาลก้าวไกล เพราะทำให้กองทัพจริงจังกับแผนปฏิรูปมากขนาดนี้
จะว่าไปแล้วกองทัพก็ทำแผนปฏิรูปมาตลอด เพียงแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์สู่ภายนอก และอาจจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้สังคมไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าๆ ขณะที่คนรุ่นใหม่ใจร้อน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้พาลคิดไปว่า กองทัพอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลแผนปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะแผนใหญ่ที่สุดที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุด คือ “แผนลดกำลังพล” โดยเฉพาะ “นายพล” ที่ว่ากันว่า “นายพลเมืองไทย” มีมากที่สุดในโลก!!!
แผนปรับลดกำลังพล เป็นแผนของกระทรวงกลาโหมเอง เรียกว่า “แผนแม่บท พ.ศ.2560-2569” รายละเอียดของแผน จะมีการปรับลดกำลังพล 2 ระดับ คือ
หนึ่ง ปรับลดกำลังพลชั้นยศสูง คือ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก ขึ้นไป จนถึง พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก
สอง ปรับลดกำลังพลนายทหารสัญญาบัตร ประทวน และพลอาสาสมัคร
แนวทางที่ได้ดำเนินการมาแล้ว และกำลังดำเนินการต่อไป (ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ) ก็คือ
1.กำลังพลชั้นยศสูง - ลดตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ, ผู้ทรงคุณวุฒิ ยศพลตรีถึงพลเอกทุกเหล่าทัพ
ดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2571 เป้าหมายลดลงให้ได้ 50% กล่าวคือ จากเดิมมีทั้งสิ้น 768 นาย เหลือ 384 นาย
(ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ บางส่วน ย้ำว่าบางส่วน ถูกมองว่าเป็นนายพลว่างงาน ไม่มีโต๊ะทำงาน แต่ระยะหลังกองทัพก็มอบภารกิจให้ทำ แต่ก็ยังถูกค่อนแคะอยู่ดี)
นอกจากลดในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ กับผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ยศนายพลแล้ว ยังลดตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ หรือ นปก. ยศพันเอกของทุกเหล่าทัพด้วย
การลดกำลังพล นายทหารปฏิบัติการ เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2571 เป้าหมายลดลง 50% จากเดิม 2,696 นาย เหลือ 1,349 นาย
สถานการณ์ปัจจุบัน ทั้ง 2 กลุ่มปรับลดจำนวนกำลังพลได้ตามแผน
2.กําลังพลนายทหารสัญญาบัตร ประทวน พลอาสาสมัคร
ดำเนินการลดกำลังพล ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2570 ปรับลดรายปี ปีละ 5%
ยอดรวมจาก 237,624 นาย ณ ปี 2563 เหลือ 227,410 นาย ณ ปี 2570 เท่ากับลดลง 11,794 นาย
นอกจากแผนปรับลดกำลังพลในรูปแบบของ “การปรับลดอัตรา” ที่มีอยู่เดิม ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่กระทรวงกลาโหมดำเนินการ ได้แก่
1.ปรับลดยอดการผลิตกําลังพลจากสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงกลาโหม เช่น โรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนนายสิบ โรงเรียนนายเรืออากาศ ฯลฯ ปัจจุบันรับปีละร้อยกว่าคน ถึงสองร้อยกว่าคน จากเดิมในยุคที่มีศึกสงคราม รับหลายร้อยจนถึงหลักพัน แถมมี “นายร้อยสำรอง” เรียนจบเร็วกว่ากำหนดเพื่อให้ไปออกรบ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
2.การนํา “กําลังพลสํารอง” เข้ารับราชการเป็นทหารชั่วคราว หรือ “ทหารอาสา” ในรูปแบบสัญญาจ้าง 4-8 ปี
โดยกำลังพลสำรอง มาจากนักศึกษาวิชาทหาร หรือ ร.ด. ที่สําเร็จการศึกษาหลักสูตรการฝึกตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป และทหารกองประจําการที่รับราชการ ครบตามระยะเวลา และปลดประจําการเป็นทหารกองหนุนแล้ว (กลุ่มทหารเกณฑ์ปลดแล้ว)
นโยบายนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 เป้าหมายเพื่อลดภาระผูกพันเรื่องเงินเดือน โดยเฉพาะเงินบำนาญ
3.นําระบบ “ข้าราชการพลเรือนกลาโหม” มาใช้บรรจุแทนข้าราชการทหารประจําการ เน้นกลุ่มงานที่ต้องใช้ความชํานาญเฉพาะทาง เช่น ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย ด้านการงบประมาณและการบัญชี ด้านครูอาจารย์ นักวิจัย เป้าหมายเพื่อลดความคับคั่งและคอขวดในการเข้าสู่ตำแหน่งที่มีอัตรายศสูงขึ้น จะเริ่มใช้ปีงบประมาณ 2567 ปัจจุบันมีการออกพระราชกฤษฎีกาข้าราชการพลเรือนกลาโหม เรียบร้ยอแล้ว
4.โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกําหนด หรือ Early Retirement โดยกําลังพลที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จะได้รับการพิจารณาให้ได้เลื่อนยศสูงขึ้น 1 ชั้นยศ เป้าหมายเพื่อลดกําลังพลของกลาโหม
@@ นายพลเมืองไทย 1,514 นาย - เป้าก้าวไกลเกิดยาก!
ปิดท้ายที่จำนวนนายพลเมืองไทย ซึ่งเป็นตัวเลขที่แทบไม่เคยเปิดเผยที่ไหน คนทั่วไปรู้กันแต่ว่า นายพลเมืองไทยมีเยอะ อาจจะเยอะที่สุดในโลก แต่ก็ไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่นอน
"ทีมข่าวอิศรา" ได้ข้อมูลมาว่า "นายพลเมืองไทย" ทุกเหล่าทัพ ตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่ 1,514 นาย
หากย้อนไปฟังนโยบายที่พรรคก้าวไกลเคยประกาศตอนหาเสียง พวกเขาต้องการลดจำนวนนายพลเหลือเพียง 400 นาย ซึ่งคนในกองทัพยอมรับว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย" เหตุผลคือ
- แผนปรับลดกำลังพลของกองทัพ เน้นปรับลดเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ และนายทหารปฏิบัติการ ซึ่งลดกลุ่มนี้ไม่เพียงพอ หากเป้าหมายเหลือแค่ 400 คน
- การจะไปสู่เป้าหมายได้ ต้องลดนายพลตำแหน่งหลัก ต้องยุบเลิกหน่วยทหารบางหน่วยเพื่อลดอัตราลง เช่น เจ้ากรมบางกรม ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างอ่อนไหว กระทบกำลังพลจำนวนมาก และต้องรื้อโครงสร้างกองทัพขนานใหญ่
- กรอบเวลาเร็วที่สุดที่ทำได้ คือ ภายในปี 2580