“ทวี” ไม่ห่วงดำเนินคดีเอี่ยวประชามติแยกดินแดน มั่นใจคนของพรรคไปร่วมงานเชิงวิชาการ มองตั้งข้อหารุนแรงเกินจริง เชื่อใจตำรวจ ศาล อัยการ พิจารณาตามข้อเท็จจริง ด้าน “รอมฎอน” กังขาแจ้งความนักศึกษาที่จัดงาน เชื่อรัฐบาลใหม่นำโดย “ว่าที่นายกฯ พิธา” ใจกว้าง ให้โอกาสคนเห็นต่าง ยอมรับหากเข้าร่วมวันงานคงโดนดำเนินคดีด้วย
วันจันทร์ที่ 26 มิ.ย.66 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะมีการแจ้งความดำเนินคดีล็อตที่ 2 กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทำแบบสอบถามประชามติเอกราชปาตานีให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ว่า อยากให้มองเป็นปรากฏการณ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหา ถ้าอะไรเป็นความผิดอาญาแผ่นดินก็สามารถไปกล่าวโทษได้ แต่ตำรวจ อัยการ ศาล เป็นกระบวนการยุติธรรม ก็จะพิจารณาว่าข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จึงไม่น่าเป็นห่วง
เราเคยเห็นตัวอย่างปี 2562 แล้ว ที่มีการเปิดปราศรัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนู ญและมีการกล่าวหาโดย กอ.รมน. (เรื่องเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ จากเดิมที่เป็นรัฐเดี่ยว) ส่วนปัจจุบันผู้ที่กล่าวหาก็เป็น กอ.รมน. ซึ่งไม่ใช่ตำรวจมากล่าวหา
“แต่เรายังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่จะมีทนายหรือไปแก้ต่างได้ แต่ผมเป็นห่วงว่าการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ซึ่งการไปขจัดตรงนี้จะต้องมีกฎหมายเฉพาะห้ามไว้ จึงเชื่อว่าตำรวจจะต้องดูข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ขณะเดียวกันหากเป็นการกล่าวหาเกินจริง ผู้ถูกกล่าวหาก็มีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีกลับได้ เหมือนปี 2562 ที่ผู้ถูกกล่าวหาไปแจ้งความไว้ที่กองปราบปราม หลังจากนั้นมีการส่งเรื่องต่อไปที่ ป.ป.ช. ซึ่งเรื่องก็ยังคาอยู่” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ
@@ อย่าทำสถาบันการศึกษาเป็นเรือนจำ
ส่วนที่มีคนของพรรคประชาชาติไปร่วมกิจกรรมในวันสัมนา 7 มิ.ย.66 แต่ไม่มีการแจ้งความนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เราเชื่อมั่นว่าคนของพรรคที่ไปร่วมก็ไปในเชิงวิชาการ ซึ่งถ้าวันนี้สถาบันการศึกษาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ก็มองว่าไม่ควรทำให้สถาบันการศึกษาเป็นเรือนจำ โดยควรมีเสรีภาพ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นต้องดูเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเฉพาะตัวบุคคลมากกว่า
@@ ตั้งข้อหารุนแรงเกินจริง
ส่วนเรื่องที่คุยกันในกระบวนการสันติภาพ ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับที่กลุ่มนักศึกษาพูดคุยกันอยู่แล้ว จะเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องการพูดคุยตนไม่ได้เข้าไป แต่ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยึดอำนาจมา 4 ปี และเลือกตั้งมาอีก 4 ปี ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย 24 แห่ง ทำความเห็นในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนที่อาจแรงกว่าที่นักศึกษาพูด อย่างแบบสำรวจความสงบสุขกับประชาชนเป็นพันคน แสดงความเป็นเสรีภาพทางวิชาการ
แต่ครั้งนี้มีคนแค่ 70 คน (ในงานสัมนา) ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ามาก จึงมองว่ากระบวนการนี้ทำให้กระบวนการสันติภาพที่ขัดแย้งถูกครอบงำหรือไม่ และตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินความจริง เชื่อว่าทุกพรรคมีความรักชาติบ้านเมือง มาตั้งข้อหาแบบนี้ทำให้ถูกตราหน้าหรือไม่ ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกหรือไม่ แต่ตนยังคงเชื่อมั่นในตำรวจ ศาล อัยการ ว่าจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง
@@ กังขาแจ้งความ นศ.ปมประชามติแบ่งแยกดินแดน
ด้าน นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยในคณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ด้วย (คณะทำงานย่อยของว่าที่รัฐบาลใหม่ เพื่อสนองตอบปัญหาของประชาชน เป็น 1 ใน 14 คณะทำงาน) โดยมีการแชร์ความคิดเห็น การให้แง่มุมต่อกันถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“เราประเมินสถานการณ์กันอยู่เรื่อยๆ ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งเป็นความยากลำบากที่เรากำลังเจอ เป็นความกังขาที่ทุกคนกำลังเจอกับการจัดงานของนักศึกษา เรากำลังคิดถึงภาวะผู้นำของรัฐบาลพลเรือนที่เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย เคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพต่อหลักการบูรณภาพแห่งดินแดนในการกำหนดใจตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ”
@@ เชื่อรัฐบาลใหม่นำโดย “พิธา” เปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่าง
นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า ถ้าภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน การฟ้องร้องในลักษณะนี้ต้องถูกทบทวนอย่างหนัก การทำกิจกรรมอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว มีกิจกรรมที่มีการสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ บนพื้นฐานที่ว่าการเมืองที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ ในฐานะที่เราเป็นรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงจำเป็นต้องรับฟัง มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเราฟังนักศึกษาในกิจกรรมเหล่านั้น อาจเห็นรากเหง้าของปัญหา ทำไมถึงมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทำไมเยาวชนถึงมีกิจกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น ถ้าเปิดใจกลับมาฟัง มองจากมุมของรัฐที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถือเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่าง และโอกาสในการที่สังคมไทย รัฐบาลไทย จะรับมือกับความคิดเห็นที่แตกต่างได้โดยสันติวิธี
“อย่าลืมว่าเยาวชนกลุ่มที่ทำกิจกรรมนี้ หากนับดูอายุคงไม่เกิน 20 ปี หรือ 20-21 ปี หมายความว่าเขาเติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ปัญหาคือถ้าไม่สามารถยอมรับโอมอุ้มเขา แม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่ต่างกันขนาดไหน สังคมไทยไม่มีพื้นที่ให้กับคนมีความเห็นต่าง อนาคตของประเทศนี้จะอยู่อย่างไร”
“ภายใต้ความคิดที่ใจกว้าง เห็นโอกาสในการสร้างสันติภาพที่มากขึ้น ตกลงแล้วการกำหนดชะตากรรมของตัวเองเป็นอย่างไรกันแน่ มีโอกาสสำหรับสังคมไทยมากน้อยเพียงใด ในทางวิชาการมีการถกเถียงกันมานาน ไม่ใช่แค่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่หลายคนเข้าใจ ยังมีทางเลือกอีกมาก แต่อยู่ที่ว่าเรามีวุฒิภาวะมากขนาดไหนในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ ยอมรับความแตกต่าง โอบกอดผู้คนที่มีความแตกต่างทางความเชื่อ ความคิด อุดมการณ์ และอัตลักษณ์ในทางการเมืองอย่างไร และเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เราน่าจะเห็นโอกาสแบบนี้ในการโอบรับผู้คนไปด้วยกัน”
@@ หากเข้าร่วมวันงานคงโดนดำเนินคดีด้วย
เมื่อถามว่า การแจ้งความของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่เร่งรีบเกินไปหรือไม่ นายรอมฎอน ซึ่งได้รับเชิญไปร่วมงานสัมนา แต่ยกเลิกก่อนเริ่มงาน บอกว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการแจ้งดำเนินคดีในช่วงเวลาสุญญากาศแบบนี้ เหมือนอยู่ระหว่างรัฐบาลเก่ายังไม่ไป รัฐบาลใหม่ยังไม่มา อาจเกิดความเคลือบแคลงใจต่อผู้มีอำนาจ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแบบนี้ ตนไม่แน่ใจในฝั่งเจ้าหน้าที่ว่าทำอย่างไร แต่ถ้าไปถามเจ้าหน้าที่คงตอบว่า ไม่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และเชื่อว่าภายใต้การเมืองแบบนี้ การนำโดยรัฐบาลพลเรือน ทิศทางใหม่ๆ สิ่งที่เคยเห็นในอดีต คุ้นเคย คงไม่คิดแบบนั้นอีกต่อไป
ถามต่อว่า ในกิจกรรมวันนั้นมีภาพประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีรูปของนายรอมฎอนอยู่ด้วย หากเข้าร่วมกิจกรรมนี้คงถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะมีการพูดชื่อตนอยู่แล้ว โดยถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งข้อมูลของตนเอง หรือคนที่เกี่ยวข้องมีอย่างจำกัด ทำให้เห็นว่าหน่วยงานของเรามีปัญหาในการประเมินสถานการณ์ หรือเข้าถึงแหล่งข่าว ตนเชื่อว่าการทำกิจกรรมทางวิชาการแบบนี้ พร้อมแลกเปลี่ยนถกเถียง เพราะเชื่อว่าการนั่งลงถกเถียง ดีกว่าการใช้กำลัง ใช้อำนาจ กฎหมาย และอาวุธ การถกเถียงด้วยวุฒิภาวะ เข้าใจความต้องการของตัวเอง เป็นประโยชน์และสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
“บางเรื่องยิ่งทำยิ่งสร้างความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาในอนาคต หากสรุปบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาที่ใช้วิธีคิดแบบทหารนำ จะเจอปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากมาตรการที่กราดเกรี้ยวต่อเนื่องเหล่านั้น เป็นมรดกมาถึงปัจจุบัน คือสิ่งที่ลำบากมากที่ชาวชายแดนใต้ต้องเจออยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการภาวะการนำและทิศทางแบบใหม่ เพราะใช้กรอบคิดแบบเดิมโดยไม่ประเมินผลในระยะยาวไม่ได้แล้ว ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็บอกแล้วว่าปัญหาที่ผ่านมาต้องการแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหา” นายรอมฎอน ระบุ
@@ คณะทำงานฯ เลื่อนลงใต้
ส.ส.ก้าวไกล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในนโยบายดับไฟใต้ของพรรคและของ “ว่าที่รัฐบาลใหม่” กล่าวถึงผลประชุมคณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 ในวันจันทร์ที่ 26 มิ.ย.ว่า จะมีการสรุปโดยเร็วเพื่อให้เห็นทิศทางข้อเสนอที่จะถูกส่งไปถึงคณะกรรมการประสานงานชุดใหญ่ เพราะมีทั้งกำหนดการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร การเลือกประธานสภา ที่จะเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นกรอบเวลาเดิมที่มีอาจจะล่าช้ากว่าปกติ จึงต้องเร่งเวลาให้เร็วขึ้นกว่ากำหนด พร้อมคาดว่า จะนำไปเสนอต่อที่ประชุมหัวหน้าพรรค 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 29 มิ.ย.ได้
ส่วนความคืบหน้าในการประชุม ถือได้ว่ามีข้อสรุปมีทิศทางที่เห็นชัดขึ้น ตนยืนยันว่า การคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่างจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดก่อนอย่างแน่นอน มีความคิดและแนวทางใหม่ๆ ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล
“วันนี้เราคุยกันเรื่องมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ซึ่งมีข้อเสนอในการเอานโยบายของทั้ง 8 พรรคมาจัดเรียงลำดับความสำคัญ คราวก่อนได้มีการคุยเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก วันนี้จึงคุยเรื่องของสังคม เพราะมีความเห็นตรงกันจากข้อมูลข้อเท็จจริงว่า ความเหลื่อมล้ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงมาก ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในท้ายตารางของหลายเรื่อง อาทิ เรื่องปากท้องเกี่ยวกับปัจจัย 4 และพูดถึงเรื่องโอกาสในทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งในเรื่องของเกษตรกร การประมง การทำมาหากินทางฝั่งทะเล แต่ว่าการประชุมวันนี้ยังไม่เสร็จ ยังมีการเรียงลำดับความสำคัญว่า ควรจะเอาเรื่องไหนก่อน ในกรอบการทำงานภายใน 4 ปีของรัฐบาล ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปและยังอยู่ในการอภิปรายกัน”
นายรอมฎอน กล่าวถึงกรอบเวลาของคณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ว่า กรอบเวลาประชุมครั้งถัดไปเป็นวันที่ 29 มิ.ย. แต่ตรงกับวันฮารีรายอของชาวมุสลิม อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง แต่จะอยู่ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. ก่อนเปิดประชุมสภาแน่นอน พร้อมมองว่าข้อมูลในร่างแรกจากคณะทำงานจะเป็นต้นทุนที่ใช้ในการพิจารณากำหนดแต่ละนโยบายว่าควรไปในทิศทางใด ส่วนการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อาจต้องขยับเล็กน้อย โดยรอให้มีความชัดเจนในการเปิดสภาและจัดตั้งรัฐบาลก่อน