เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์พร้อมชวนนักวิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมลงชื่อเรียกร้องหน่วยงานภาครัฐยุติการดำเนินคดี 5 นักศึกษา-นักกิจกรรม ทำประชามติจำลองเอกราชปาตานี
วันที่ 26 มิ.ย.66 ทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ขอเชิญนักวิชาการและภาคประชาสังคมร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหยุดการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPP LAW) ต่อนักศึกษาและนักกิจกรรมจากกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 เข้าแจ้งความข้อหากบฎ ยุยง ปลุกปั่นต่อกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมชายแดนใต้จำนวน 5 คนที่ทำกิจกรรมประชามติจำลอง สามารถร่วมลงชื่อได้จนถึงเวลา 14.00 น.ของวันที่ 27 มิ.ย.66
ในแถลงการณ์การคัดค้านการดำเนินคดี นศ.ปาตานี กรณีกิจกรรมประชามติจำลอง ระบุว่า
จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 เพื่อให้ดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวนรวม 5 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114 ฐานตระเตรียมการเพื่อเป็นกบฏ , มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความไม่สงบ , มาตรา 209 ฐานเป็นอั้งยี่ และมาตรา 210 ฐานเป็นซ่องโจร จากการจัดและเข้าร่วมงานเสวนา “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นั้น
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และผู้มีรายชื่อแนบท้าย มีความเห็นต่อการดำเนินการดังกล่าวของฝ่ายความมั่นคง ดังนี้
1.การดำเนินคดีข้างต้นขาดความสมเหตุสมผลทางกฎหมาย เพราะแม้การจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจะไม่สามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่า การเสนอความคิดหรือความฝันเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ในฐานะที่เชื่อว่าจะเป็นทางออกของปัญหาความขัดแย้งจะถือว่าเป็นกบฏ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 การกระทำความผิดฐานกบฏนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
ส่วนมาตรา 114 ที่กำหนดความผิดไปถึงการตระเตรียมการด้วยนั้นจึงต้องตีความให้สอดคล้องกับมาตราหลัก คือเป็นการตระเตรียมการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การใช้กำลังประทุษร้ายฯ ในขณะที่คำถามเกี่ยวกับประชามติของกลุ่มนักศึกษาในงานเสวนาข้างต้นเป็นการเสนอให้แก้ปัญหาด้วยกระบวนการที่เปิดเผยสงบและสันติ ด้วยกระบวนการที่ยอมรับกันในทางสากล จึงไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่จะตีความการกระทำเพียงเท่านี้ให้เข้าลักษณะเป็นการตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ
ส่วนการตั้งข้อหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 นั้น เมื่อข้อเสนอเกี่ยวกับการประชามติเป็นการใช้เสรีภาพเพื่อเสนอทางออกด้วยกระบวนการที่สงบและสันติ ซึ่งจะเป็นไปได้ย่อมต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย จึงไม่สมเหตุสมผลเช่นกันที่จะเหมารวมว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ประชาชนก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว
ทั้งนี้มิพักต้องกล่าวถึงความสมเหตุสมผลของการตั้งข้อหาในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และเป็นซ่องโจร ซึ่งกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ใช้กับกลุ่มหรือองค์กรอาชญากรรม แต่กลับนำมาใช้กับนักศึกษาและนักกิจกรรม ซึ่งนำเสนอความคิดโดยเปิดเผยผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ
2.การนำเสนอความคิดเห็นหรือความฝันที่อยากเห็นย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง ซึ่งสอดคล้องกับทุกสังคมที่ถือตนว่าเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าเสรีภาพดังกล่าวจะมีข้อจำกัดในบางประการ แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ตีความข้อจำกัดเหล่านั้นจนขยายกว้างจนเกินไป จนกระทั่งแม้แต่การแสดงออกถึงความคิดเห็น ความเชื่อหรือแม้แต่ความฝันก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาจากคำถามในกระบวนการทำประชามติจำลองที่ว่า "คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย" สะท้อนว่า แม้จะให้ความสนใจต่อสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง แต่ผู้จัดกิจกรรมก็ตระหนักดีว่ากระบวนการดังกล่าวต้องเป็นไปอย่าง “ถูกกฎหมาย” และเป็นสันติวิธีปราศจากจากอาวุธและความรุนแรง สังคมไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจและร่วมเรียนรู้ ถกเถียง และหาข้อสรุปบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันมากกว่าจะที่ใช้กฎหมายเพื่อจัดการความความคิดเห็นหรือความฝันที่แตกต่าง
3.การดำเนินคดีจากคำถามประชามติเป็นการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPP LAW) อันเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ การตั้งข้อหาหนักต่อเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ เพียงเพราะต้องการหยุดการนำเสนอความคิดเห็นที่แม้จะเป็นไปอย่างสันติปราศจากความรุนแรง แต่ก่อให้เกิดความ "ไม่สบายใจ" แก่บางฝ่าย จึงนับว่าเป็นการใช้กฎหมายปิดปากเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในสถานการณ์ของความรุนแรงชายแดนใต้ที่ดำเนินมา 18 ปี การละเลยที่จะรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวในกระบวนการที่ถูกกฎหมายคือความสูญเปล่าของห้วงเวลาเกือบสองทศวรรษในการทำงานความมั่นคงชายแดนใต้ของรัฐ และยิ่งจะเป็นการกดทับสร้างความตึงเครียดในพื้นที่ ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อรัฐให้รุนแรงยิ่งขึ้น
จากกรณีนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และผู้มีรายชื่อแนบท้าย ขอเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.ขอให้ กอ.รมน.และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหยุดใช้ การดำเนินคดีด้วยการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPP LAW) ต่อนักศึกษาและนักกิจกรรม และรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของคนในพื้นที่อย่างจริงใจเพื่อเป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงหน่วยงานรัฐและ กอ.รมน.ไม่ควรเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้กับการต่อสู้ด้วยอาวุธและความรุนแรงเสียเอง
2.ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลด้วยความรอบคอบและส่งเสริมพื้นที่การสื่อสารของคนในสังคมด้วยความประณีตมีวิจารณญาณ ประเด็นดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่อสังคมไทย เป็นเรื่องยากและท้าทายในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางความขัดแย้งนี้ อย่างไรก็ดีสื่อมวลชน คือ ความหวัง และนั่นอาจจะเป็นเกียรติภูมิแห่งสื่อมวลชนไทย
3.ขอให้สังคมไทยมีความอดทนอดกลั้นรับฟังเสียงที่แตกต่างและข้ามผ่านความกลัวที่จะสูญเสียเอกราช หากความขัดแย้งได้แปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของคนชายแดนใต้ที่ขนานนามตนเองว่าปตานีจะไม่ใช่ความน่ากลัวเพราะไม่ใช่ความขัดแย้งหรือปฏิปักษ์ต่อรัฐไทย