ท่ามกลางกระแสโจมตีพรรคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม “ประชามติแยกดินแดน” โดยไม่สนว่าเป็นแค่สถานการณ์จำลอง หรือแค่ถามว่าจะทำเรื่องนี้ให้ถูกกฎหมายดีหรือไม่
มีเสียงเตือนหนึ่งที่พยายามดึงสติสังคมไทย โดยแนะให้มองเหตุการณ์นี้เป็นเหมือน “เสียงนาฬิกาปลุก” ทางความมั่นคง ว่าปัญหาชายแดนใต้ของไทยไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป เหมือนที่ปล่อยให้แก้ปัญหากันแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ นานเกือบ 20 ปี
แต่มันถึงเวลาที่จะต้องคิดและหา “ยุทธศาสตร์ภาคใต้ทั้งระบบ” อย่างจริงจังได้แล้ว
นี่คือความห่วงใยจาก ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
@@ รัฐนาวาสยามในภาคใต้!
หลังจากการปล้นปืนที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสในค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 แล้ว สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ทำท่าจะสงบตามไปกับการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในภาคใต้ ก็กลับขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้งอย่างไม่คาดคิด
สถานการณ์ความมั่นคงในภาคใต้ แม้จะเป็น “โจทย์ชุดใหม่” เพราะเป็นปัญหาสงครามใน “ยุคหลังคอมมิวนิสต์” แต่ก็ยืนอยู่บนฐานคิดเดิมของขบวนติดอาวุธอีกชุดหนึ่งที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐ ขบวนชุดนี้ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แบบเดิม หากเป็นสิ่งที่เรียกจากวัตถุประสงค์ขององค์กรว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน”
ขบวนนี้ไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และไม่ได้จบตามไปกับการยุติของสงครามเย็นแต่อย่างใด การที่รัฐไทยชนะสงครามคอมมิวนิสต์ จึงมิได้มีนัยอะไรที่จะบอกว่าฝ่ายรัฐได้ชนะสงครามของการแบ่งแยกดินแดงตามไปด้วย เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสงครามคนละชุด และวัตถุประสงค์ของสงครามก็คนละชุด แต่ก็ดำรงความเป็นธรรมชาติของสงครามชุดเดียวกันในฐานะของการเป็น “สงครามก่อความไม่สงบ” ที่เป็นการต่อสู้กับอำนาจรัฐเดิมด้วยกำลังอาวุธ
สภาวะของยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย ยังสอดรับกับสภาวะของ “ยุคหลังสงครามเย็น” ของเวทีโลกในเวลาต่อมา จนทำให้หลายฝ่ายเชื่อในแบบ “ฝันๆ” ว่า สงครามจบลงแล้วในเวทีโลก และสงครามภายในรัฐก็จบตามมาในหลายประเทศ เพราะสงครามหมดแรงขับเคลื่อนในตัวเอง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระเบียบระหว่างประเทศ ที่เป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น
แต่ระเบียบโลกชุดใหม่กลับเผชิญกับความท้าทายขนาดใหญ่จากเหตุการณ์การก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 … สงครามอุดมการณ์แบบสงครามเย็นอาจจะจบ แต่สงครามชุดใหม่กลับเป็นเรื่องของ “อัตลักษณ์-ชาตินิยม-ชาติพันธุ์” และถูกนำไปผูกโยงเข้ากับเรื่องของ “ศาสนา-ประวัติศาสตร์” อันทำให้เกิดเป็น “ศรัทธาใหญ่” ที่พร้อมจะเป็นแรงขับเคลื่อนสงครามชุดใหม่ ที่ทดแทนต่ออุดมการณ์ในฐานะของแรงขับเคลื่อนของสงครามชุดเก่า อย่างน้อยเราได้เห็น “ศรัทธา” ชุดนี้มาแล้วจากสงครามอัฟกานิสถาน
สภาวะเช่นนี้จึงเห็นความขัดแย้งภายในรัฐที่กลายเป็นเงื่อนไขของสงครามชุดใหม่ หรือที่เรียกในทางยุทธศาสตร์ว่า “สงครามในยุคหลังสงครามเย็น” แม้ด้านหนึ่ง สงครามเช่นนี้อาจมีนัยถึงตัวอย่างของ สงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่อีกด้านหนึ่งเราเห็นสงครามในยูโกสลาเวียเดิม อันเป็นสงครามที่มีทำให้นักรัฐศาสตร์ และนักยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาเรื่องสงครามใหม่
สงครามชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนที่เป็นเรื่องของ “อัตลักษณ์-ชาตินิยม-ชาติพันธุ์” อย่างชัดเจน พร้อมกันนี้สงครามหลังเหตุการณ์เวิลด์เทรด (9/11) ล้วนสะท้อนถึงปัญหาระหว่าง “ความต่างทางอารยธรรม” โดยมีสถานการณ์ “สงครามต่อต้านการการร้าย” เป็นตัวเดินเรื่อง และมีวัตถุประสงค์ของสงครามในการต่อสู้กับ “ตัวแสดงติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ” คือ กลุ่มอัลกอร์อิดะห์ ที่เป็นขบวนการทางการเมืองของชาวมุสลิม และมีปฎิบัติการทางทหารในรูปแบบของการก่อการร้าย อีกทั้งได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในหลายประเทศทั่วโลก
คำถามทางยุทธศาสตร์ที่ไม่เคยถูกนำมาเปิดประเด็นอย่างจริงจังในสังคมไทยในยุคหลังเวิลด์เทรด คือ ความรุนแรงในรูปแบบเช่นนี้จะขยายตัวเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไหม และจะส่งผลอย่างไรกับสงครามอีกชุดหนึ่งที่ไม่จบในสังคมไทย?
ถ้าเช่นนั้น “สงครามชุดใหม่” จะเกิดในภาคใต้ของไทยหรือไม่?
หากย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์เวิลด์เทรดในปี 2544 แล้ว สังคมไทยกำลังมี “ความสุข-ความหรรษา” อยู่กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหล่บ่าเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมกับมีความหวังกับการเมืองไทยหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” … แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากได้ยินเสียงเตือนจาก “นักความมั่นคง” ที่กำลังกังวลกับกระแสความรุนแรงในยุคหลัง 9/11
แล้วในที่สุด สถานการณ์ชุดใหม่ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 … หลังจากนี้จวบจนปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็น “ประเด็นความมั่นคงหลัก” ของประเทศไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกิดสภาวะ “สงครามยืดเยื้อ” ตามทฤษฎีของประธานเหมาเจ๋อตุงในภาคใต้ไทย
ช่วงระยะเวลาจาก 2547-2566 เห็นได้ชัดเจนว่า ในการทำ “สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ” ของรัฐไทยนั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าประสบ “ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์” อย่างจริงจัง และอาจจะต้องยอมรับความจริงว่า รัฐไทยมีอาการ “เพลี่ยงพล้ำ” ในหลายเรื่อง หลายวาระ จนกลายเป็น “ความอ่อนแอทางยุทธศาสตร์” ในตัวเองอย่างที่ปฎิเสธไม่ได้ อีกทั้ง รัฐไทยในแต่ละช่วงเวลายังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาแบบองค์รวมทั้งใน 4 ส่วนของยุทธศาสตร์ นโยบาย ความคิด และตัวบุคคล
ภาวะเช่นนี้ในปีที่ 20 ของปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ จึงเสมือนหนึ่ง “รัฐนาวาสยาม” ในภาคใต้เผชิญคลื่นลมแรงลูกแล้วหลายเล่าอย่างไม่ขาดสาย แม้จะเปลี่ยน “กัปตันเรือ” มาแล้วหลายคนก็ตาม
ดังนั้น ในปีที่ 20 เช่นนี้ ถ้าคิดว่าเรื่องประชามติจากพื้นที่เป็นดัง “เสียงนาฬิกาปลุก” ที่แจ้งเตือนให้ตื่นจากภวังค์เดิมเพื่อ “คิดใหม่” เราอาจจะมีข้อเสนอสักประการหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่เคยทำได้จริง แต่ก็อยากเสนออีกครั้ง แม้ดูจะเป็นนามธรรมมาก คือ น่าจะถึงเวลาที่ต้องคิด “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” ทั้งระบบจริงๆ แล้ว!