ปม “ประชามติเอกราช” ยังไม่จบ “นัจมุดดีน” เผยทำความเข้าใจกับนักศึกษาที่จัดกิจกรรมทั้งหมดแล้ว เตรียมออกแถลงการณ์ชี้แจงให้ชัด แค่ “จำลอง” ไม่ใช่ “ของจริง“ พร้อมย้ำให้ความร่วมมือฝ่ายความมั่นคงเต็มที่ ด้าน “วันนอร์” ออกโรงเอง ย้ำชัดประชาชาติไม่เอาด้วย “ประชามติแยกดินแดน” ไม่ว่าจะจำลองหรือทำจริง ส่วน “อ.วรวิทย์ บารู” แจงแค่รับเชิญไปพูด แฉมีทหารมานั่งฟัง
การจัดกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนชายแดนใต้ในนาม “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ที่ประกาศเจตนารมณ์ให้การทำ “ประชามติเอกราชปาตานี” เป็นเรื่องถูกกฎหมาย และมีการสัมนา ตลอดจนทดลองทำ “ประชามติจำลอง” กันเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้บานปลายกลายเป็นประเด็นการเมืองถึงขั้นยื่นคำร้องยุบพรรคกันเลยทีเดียว
เหตุนี้เองจึงทำให้ “คนการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พากันออกมาชี้แจง และส่วนใหญ่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมกับกิจกรรม
@@ คุย นศ.แล้ว เตรียมออกแถลงการณ์แจงอีกรอบ
นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย และแม่ทัพนราธิวาสของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับตามากที่สุด เพราะลูกชายของนายนัจมุดดีน คือประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้นำอ่านแถลงการณ์เรื่อง “ประชามติเอกราชปาตานี” นั้น เจ้าตัวเผยว่า ส่วนตัวได้พบกับกลุ่มนักศึกษาที่เป็นเพื่อนของลูกชายทั้งหมดแล้ว และเด็กๆ ก็ได้ชี้แจงถึงสิ่งที่ทำลงไป ยืนยันว่าเป็นเจตนาเพื่อหาทางออกให้กับพื้นที่ หลังมีปัญหามานานเกือบ 20 ปี
ยืนยันว่าทุกคนยังอยู่ในพื้นที่ ไม่ได้หนีไปไหน ตอนไปเจอกลุ่มนักศึกษา ก็ไปพบปะพูดคุยกันที่ จ.ยะลา หลังจากนี้ตัวแทนนักศึกษาจะออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความชัดเจนว่ากิจกรรมที่ได้กระทำ เป็นเพียงการ “จำลองการทำประชามติ” ไม่ใช่การทำประชามติแยกดินแดนแล้วจริงๆ
“ตอนนี้เด็กๆ ทุกคนมีความเข้าใจ และพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคง แต่สิ่งที่เสียความรู้สึกคือ พรรคการเมืองที่มาร่วมงานพากันออกมาปฏิเสธ ทำให้เด็กๆ รู้สึกไม่ดี” อดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย กล่าว
นายนัจมุดดีน ยังบอกอีกว่า ในฐานะพ่อ และเป็นผู้ใหญ่ ก็ได้ให้คำแนะนำเด็กๆ พร้อมย้ำให้แสดงความจริงใจ ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา หากฝ่ายความมั่นคงต้องการข้อมูลอะไร ก็ต้องไปพบและร่วมมืออย่างเต็มที่
“สำหรับตัวผมเองยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องที่เด็กๆ จัดงาน มาทราบหลังจากมีกิจกรรมไปแล้ว แต่เมื่อลูกเกี่ยวข้อง ก็ไม่ขอปฏิเสธ และก็ต้องให้ข้อเท็จจริงกับทุกฝ่าย พร้อมกับแนะนำลูกว่าเรื่องที่ทำถือว่าหมิ่นเหม่ และควรถอยออกมา”
@@ “วันนอร์” เข้มไม่หนุนดินแดน ประชามติจำลองก็ไม่เอา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การทำประชามติทำไม่ได้อยู่แล้ว และพรรคก็ไม่เห็นด้วย เพราะผิดรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง)
ส่วนที่พรรคส่ง ผศ.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรค และ ว่าที่ส.ส.ปัตตานี ไปร่วมกิจกรรมนั้น เพราะเป็น ส.สในพื้นที่ และเป็นการจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย (ม.อ.ปัตตานี) จึงคิดว่าคงไม่มีประเด็นอะไร และเชื่อว่ามหาวิทยาลัยจะมีการตรวจสอบอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ส.ส.ของพรรคก็มีการพูดจาปราศรัยกับนักศึกษาในทางวิชาการอยู่หลายครั้งก็ไม่มีประเด็นอะไร และครั้งนี้ก็เห็นว่านักศึกษาน่าจะต้องการความรู้ทางวิชาการเรื่องการกำหนดอนาคตตนเอง โดยมีอาจารย์คนอื่นๆ ร่วมด้วย
“เรื่องการทำประชามตินั้น ยืนยันว่าทำไม่ได้โดยรัฐธรรมนูญ และพรรคไม่ได้สนับสนุนใดๆ พรรคประชาชาติในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ว่าการทำประชามติจะเป็นแบบจำลองหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าบ่งบอกเพื่อเป็นเอกราชหรือแบ่งแยกดินแดน ย่อมทำไม่ได้อยู่แล้ว ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 พรรคจึงไม่เห็นด้วย ส่วนบุคคลที่กระทำไป ทุกฝ่ายควรพิจารณาว่าใครต้องรับผิดชอบ”
"พรรคเพียงแค่ถูกเชิญไปพูดในเชิงวิชาการ ให้ไปร่วมการแสดงความคิดเห็นต่อการทำประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และจากการที่ผมสอบถาม ผศ.วรวิทย์ ทราบว่าเป็นการทำประชามติช่วงเช้า แต่อาจารย์ไปเข้าร่วมช่วงบ่าย 2 แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ รศ.ดร.มารค ตามไท ทยอยเข้าร่วมงาน และนักการเมืองอีก 2 พรรคที่ถูกเชิญเข้าร่วมเช่นกัน เมื่อจบเวทีก็กลับ ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่อใดๆ” หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าว
ต่อกรณีที่รัฐบาลนำเรื่องมาเป็นคดีความมั่นคง จะเกิดปัญหาบานนปลายมากขึ้นหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง แต่สำหรับพรรคการเมืองเองก็ไม่อยากให้ทุกอย่างบานปลาย อยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
@@ “อ.วรวิทย์” ย้ำแค่รับเชิญไปพูด - แฉทหารมานั่งฟัง
ผศ.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์รายการ “เนชั่นกรองข่าว” ทางเนชั่นทีวี เกี่ยวกับกรณีที่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมของขบวนนักศึกษาแห่งชาติที่มีการทำประชามติจำลองเรื่อง ”เอกราชปาตานี” ให้ถูกกฎหมาย และร่วมเวทีสัมนาแสดงความคิดเห็น
OO ช่วยเล่าข้อเท็จจริงในเหตุการณ์หน่อยว่า ทำไมมันถึงออกมาแบบนี้?
ผมได้รับหมอบหมายจากทางพรรค คือเขาเชิญไปทางพรรคที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ทั้ง 2 ท่านก็ได้มอบหมายให้ผมเข้าไป เนื่องจากว่าอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งของผม และผมก็เคยสอนอยู่ที่นั่น ที่สำคัญผมก็เคยดูแลเป็นรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาอยู่ก่อนแล้วที่นั่น เพราะฉะนั้นผมก็คงจะรู้พอสมควรในเรื่องอะไรต่างๆ
การไปวันนั้นผมไปในช่วงบ่าย ในช่วงที่ อ.มารค (รศ.ดร.มารค ตามไท จากมหาวิทยาลัยพายัพ และอดีตหัวหน้าคณะเจรจาในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) กำลังแสดงปาฐกถาอยู่ ก็ได้ฟัง อ.มารค พูดทางโปรแกรมซูมจนจบ ก็มาถึงการเสวนาของ 3 คน ก็คือผมก็ไปนั่งคุยตามที่หัวข้อกำหนดไว้ ก็คือเรื่องสันติภาพปาตานี การกำหนดอนาคตตนเอง เราก็พูดไปตามลักษณะของวิชาการ โดยผมเน้นหนักในเรื่องของ internal Self Determination คือการกำหนดอนาคตตนเองจากภายใน
การที่เลือกตรงนี้คือ นโยบายพรรคเราก็มี 4 ตัว ก็คือมิติทางด้านการเมือง มิติทางด้านสังคม มิติทางด้านเศรษฐกิจ และมิติทางด้านวัฒนธรรม ผมก็พูดเน้นไปในเรื่องตรงนี้ คือผมพูดในประเด็นของ Self Determination ส่วนเรื่องของนักศึกษาจัดก็เป็นเรื่องของนักศึกษา เขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นของเขาได้ ส่วนเรื่องกฎหมายก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ที่สำคัญถึงแม้มหาวิทยาลัยจะไม่ใช่ผู้จัด แต่นักศึกษาเป็นผู้จัด ทุกกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย แน่นอนผู้มีความรับผิดชอบ จะต้องรับรู้ว่าจะมีอะไร ยิ่งจัดที่คณะด้วย
เหตุนี้สถาบันวิชาการ เราก็ไปพูดด้วยเรื่องของวิชาการ ในฐานะที่เป็นอาจารย์เก่า ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ก็ไปพูดปกติ
OO งานที่จัดขึ้นกองทัพภาค 4 ทราบเรื่องไหม?
อันนั้นผมไม่ทราบ แต่ถ้าผมดูจากผู้ที่เข้ามาฟัง 4 คนที่นั่งข้างหน้า 2 ใน 4 คนเป็นทหารแน่นอน เพราะว่าเพื่อนที่เป็นกำนันที่ไปด้วยกันเขารู้จัก แน่นอนเขาอาจจะส่งเข้าไปสังเกตการณ์ก็ได้ นี่ก็เป็นทีมที่ผมไป เขาบอกว่าเขาได้คุยกันก็รู้จักกันว่าเขาเป็นทหารอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะไปฟัง ก็ไม่ได้ว่าอะไร
คือผมอยากจะคุยกับพี่น้องเรื่องจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องของทั้งประเทศ อย่าลืมว่าคนที่นี่ที่รักประเทศมันมีมากกว่า เพราะฉะนั้นการที่จะพูดอะไรออกมา และก็ในวิถีเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งอยู่ในทางวิชาการ ส่วนเรื่องของเด็กที่ไปพูด เขาไปทำ ก็บอกว่าเป็นการจำลองประชามติ แต่การที่จะไปใส่แยกดินแดนอะไรต่างๆ ผมคิดอยู่โดยตลอด ถ้าหัวหน้าพรรคผม (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ) เคยเป็นถึงประธานสภา รัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ถ้าจะว่าไปแล้ว การปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งแต่ละครั้งก็ปฏิญาณต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับนายทหารทั้งหลายที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา หัวหน้าพรรคผมถ้าถึงขนาดนั้น มีแนวคิดอย่างนี้ ผมว่าประเทศไทยก็คงแย่แล้ว เพราะอยู่ในแวดวงการเมือง 43 ปีแล้ว
ผมคิดว่าการจะทำอะไรก็แล้วแต่ คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เขารักประเทศ แต่เขาก็มีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของตัวเอง กี่สิบปีแล้วที่ใช้กฎหมายอะไรต่างๆ มีอะไรดีขึ้น ปัตตานียังเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ในเรื่องการศึกษาก็เช่นเดียวกัน มันคืออะไร เราจะอยู่อย่างนี้กันต่อไปหรือ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคิดแก้
พรรคประชาชาติจึงนำเสนอวิธีการแก้ในนโยบายของเรา ใน 4 ข้อที่ผมเน้นที่มีอยู่ในนโยบาย หากใครไปดูโปสเตอร์ที่ผมหาเสียง จะมีอันหนึ่งที่เขียนว่า พุทธ มุสลิม กลับสู่แผ่นดินถิ่นเกิด ซึ่งเราก็ตระหนักว่า สังคมมันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นพหุสังคม คนส่วนใหญ่ต้องอยู่ได้ คนส่วนน้อยต้องได้รับการดูแล
ส่วนทางด้านการเมืองเราพูดถึงไกลสุดก็ในเรื่องของ “จังหวัดจัดการตนเอง” คือเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นการพูดโดยทั่วไป เมื่อมีความพร้อม แล้วก็ในเรื่องเศรษฐกิจอันนี้สำคัญ ผมเสนอตั้งแต่ต้น คือระบบเศรษฐกิจฐานคุณธรรม ผมทำเรื่องนี้มา 30 กว่าปี ฐานคุณธรรมตรงนี้ไม่ได้เฉพาะมุสลิมเท่านั้น จะเป็นวิถีพุทธ วิถีคริสต์ก็ได้ แต่ฐานคุณธรรมคือไม่ไปเบียดบัง ไม่ไปกดดัน ไม่ไปขูดรีดเขา อันนี้คือสิ่งที่ประชาติใส่ไว้ในนโยบาย เพราะว่ามันสอดคล้องกับสังคมที่นี่ สังคมที่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่ 80 เปอร์เซ็นต์
ฉะนั้นการจะแก้ปัญหาก็จะแก้ทั้งระบบ ในเรื่องของเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง พวกซอฟต์โลน มุสลิมก็รับไม่ได้เพราะว่าก็มีดอกเบี้ยอยู่ มุสลิมจะไปได้รับอะไรตรงไหน ที่นี่ก็ต้องแก้ในเรื่องของวัฒนธรรม พรรคพูดถึงเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม พูดถึงสังคมพหุภาษา ซึ่งจะเอาความโดดเด่นของพหุภาษาในการที่จะสร้างในทางเศรษฐกิจได้ เราต้องการจะเห็นอาเซียนเกตเวย์ เราต้องการจะเห็นความสัมพันธ์บนฐานประวัติศาสตร์ไทยกับจีน ปัตตานีกับจีน เหล่านี้คือสิ่งที่เราคิดอยู่
OO กรณีที่เกิดขึ้นมีความพยายามโยงเอาพรรคประชาชาติเข้าไปด้วย จะชี้แจงอย่างไร?
ตรงนี้ผมคิดว่าคนที่มีสามัญสำนึกอย่างที่บอก อย่างหัวหน้าผมอยู่ในแวดวงการเมือง 43 ปี และมีตำแหน่งใหญ่โตอะไรต่างๆ และทางด้านเลขาธิการพรรค (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ) เป็นผู้ซึ่งได้นำเสนอในเรื่องของการพูดคุยในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นคนแรกๆ ที่เสนอหนทางโดยใช้สันติภาพ เพราะมองเห็นว่าต้องสร้างสันติภาพและสังคมสันติสุขให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยเฉพาะในเรื่องของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน
รายชื่อบิ๊กเนม 2 คนนี้ จะไปเกี่ยวโยง จะไปทำอย่างนั้น และถ้ามีการที่จะไปเชื่อมโยงเรา ก็คงต้องมีเจตนาอื่นที่ไม่ใช่เจตนาดีแน่นอน มองว่าตรงนี้เป็นเรื่องการเมือง ยิ่งในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลด้วย
OO วันที่มีการสำรวจประชามติ ได้เข้าทำแบบสำรวจด้วยไหม?
ผมไปเขาจบแล้วครับ เขาทำกันในช่วงเช้าของกิจกรรม ผมไปในช่วงบ่าย เขาทำกันจบแล้ว การลงประชามติเขาปิดแล้ว ซึ่งเขาออกผลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าผลเป็นอย่างไร ที่เป็นอย่างนี้ก็ยืนยันได้ว่า คนที่ไปด้วยกันกับผม ก็ถามว่าเขาทำอะไรอย่างไรกัน เขาก็บอกว่ามีคนลงประชามติประมาณ 90 คน ผมทราบเรื่องนี้จากคนที่ไปด้วยกัน
OO หลังมีกระแสข่าวออกมา มีโอกาสได้คุยกับน้องๆที่ทำประชามติไหม?
ยังไม่ได้เจอเลย แต่ก็ต้องให้กำลังใจเด็กๆ เหล่านี้ คือลูกหลานเราเหล่านี้เขาได้คิดในเฉกเช่นนี้ ถ้าเขาผิดก็ต้องบอกเขา แต่คนเหล่านี้จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ให้เขาตระหนักรู้ ตระหนักดี และให้เขาสำนึกในท้องถิ่น และพัฒนาในฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เราต้องประคับประคองเขา ต้องให้กำลังใจเขา ผิดก็อาจจะผิด แต่ว่าเขายังเป็นเยาวชน
OO สุดท้ายแล้วการกำหนดอนาคตตัวเอง ความหมายมันคืออะไร มันคือแยกดินแดนหรือเปล่า?
มันไม่ใช่เลย มันคือ Right to Self Determination สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ไม่ใช่การแยกดินแดน อย่างเช่น internal Self Determination ที่ผมบอกก็สามารถที่จะผ่านทางการเมืองของเราในนโยบายต่างๆ ได้ นี่ก็คือการกำหนดอนาคตตัวเอง เพราะพรรคเรารู้ตรงนี้คืออะไร จุดอ่อนอะไรอยู่ตรงไหน เราก็ใส่เข้าไปในนโยบายเรา อันนั้นก็คือ internal (ภายใน) แต่ถ้าเป็นภายนอก ก็ต้องเป็นประเด็นอะไรต่างๆ เหมือนกัมพูชากับอเมริกา เหมือนกับติมอร์กับอินโดนิเซีย อันนั้นก็คือจากองค์ประกอบข้างนอก