ท่ามกลางกระแสตื่นตระหนก กังวล และคัดค้านข้อเสนอเรื่อง “ประชามติแยกดินแดน” สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีความเห็นจากผู้คร่ำหวอดปัญหาใต้ เคยเป็นนายทหารระดับสูงที่นั่นด้วย พยายามออกมาดึงสติของสังคมและผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายว่า ก่อนจะไปตื่นเต้นกับ “ประชามติแยกดินแดน” ซึ่งเกิดขึ้นไม่ง่ายนักในทางความเป็นจริง ควรย้อนกลับมาดูรากเหง้าของปัญหาที่ทับถม สะสมในดินแดนแห่งนี้เสียก่อน
โดยเฉพาะปัญหาใหม่ๆ หลังความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อ 19 ปีก่อน (พ.ศ.2547) ว่าอะไรบ้างที่กลายเป็นเงื่อนไขทำให้ไฟใต้ไม่ดับมอดลงเสียที ทั้งๆ ที่ทุ่มเทงบประมาณลงไปร่วมๆ 5 แสนล้านบาทแล้ว
ผู้คร่ำหวอดรายนี้ ให้ข้อมูลแบบฟันธงว่า ไฟใต้ไม่มีทางดับ เพราะทุกฝ่ายสมประโยชน์จากสถานการณ์ และผลประโยชน์ที่ลงตัว
หนึ่ง กลุ่มบีอาร์เอ็นที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อแยกดินแดน ก็ได้ประโยชน์จากการยกระดับปัญหา จากระดับพื้นที่ สู่ระดับชาติ และระดับระหว่างประเทศไปแล้ว จากความผิดพลาดของรัฐบาลหลายๆ ชุดที่ผ่านมา โดยเฉพาะการไปเปิดโต๊ะพูดคุยแบบเป็นทางการ ต่อสาธารณะ เมื่อปี 2556 ทำให้ปัญหายิ่งยกระดับมากขึ้น
ผลจากโต๊ะพูดคุยปี 2556 ทำให้บีอาร์เอ็นมีความสำคัญ และน่าจะได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ ได้รับความสนใจจากองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร ในฐานะคู่เจรจากับรัฐบาลไทย
สอง เจ้าหน้าที่ทุกหน่วย ทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการกลุ่มอื่นๆ ได้เบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่ม วันทวีคูณ และเงิน พ.ส.ร. (เงินเพิ่มสู้รบ) แถมยังมีการกัน “โควต้าตำแหน่ง” ที่ได้สิทธิพิเศษ และได้ผลประโยชน์เหล่านี้ เอาไว้ให้ “เด็กนาย”
เช่น กรณีสิบตำรวจโทหญิงที่เป็นข่าวกระฉ่อนก่อนหน้านี้ มีชื่อลงไปรับผลประโยชน์ แต่เจ้าตัวไม่เคยลงไปทำงานเลย เรียกกันว่า “บัญชีผี” ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี และจนป่านนี้ก็ไม่รู้ว่าแก้ไขไปบ้างหรือยัง เนื่องจากกำลังพลชั้นผู้น้อยที่ “เจ็บจริง-ตายจริง” ก็ยังบ่นกันอยู่ตลอดว่าไม่ได้เบี้ยเลี้ยง ถูกตัด พ.ส.ร. เงินไม่ออก หรือไม่ก็ถูก “นาย” หักหัวคิว ฯลฯ
สาม ภาคเอกชนบางส่วนก็ชอบที่มีสถานการณ์ เพราะได้จัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ ไม่มีการประกวดราคา ขายของได้แพงกว่าปกติ เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนหน่วยงานพิเศษในพื้นที่ก็ชอบ เพราะได้เงินใต้โต๊ะ ส่วนต่าง เปอร์เซ็นต์กันอย่างถ้วนหน้า
เรื่องนี้ผมขอให้ข้อมูลเสริมเอง ไม่ได้เกี่ยวกับผู้คร่ำหวอดปัญหาไฟใต้ คือถ้าใครยังไม่เคยลงไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอแนะนำให้ทดลองลงไปดู จะเห็นว่ากลไกหลักๆ สมประโยชน์กันหมด แล้วไฟใต้จะจบได้อย่างไร ขณะที่ส่วนราชการที่ไปทำหน้าที่ “ส่วนหน้า” ในพื้นที่ทั้งหลาย ขยายอัตรา ขยายอาคาร สร้างตึก ปรับปรุงสถานที่กัน ผุดสารพัดโครงการ เรียกว่าใหญ่โตยิ่งกว่าหน่วยหลักต้นสังกัดของตัวเองเสียอีก
ผู้คร่ำหวอดปัญหาไฟใต้ ชี้ว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนวิธีการแก้ไขปัญหา ลดบทบาทของทหาร และ กอ.รมน.ลง แต่ต้องระวังเรื่องการยุบหน่วยงาน ควรใช้วิธีปรับภารกิจจะดีกว่า มิฉะนั้นอาจซ้ำรอยยุคอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่เคยยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43) เมื่อปี 2545 จากนั้นไฟใต้ปะทุในปี 2547 และยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน
มีความเห็นจากอีกท่านหนึ่งที่สมควรบันทึกเอาไว้ ก็คือ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ซึ่งเคยมีบทบาทสูงต่อสถานการณ์ภาคใต้ตั้งแต่ยุค จคม. (โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา) ที่บอกว่า เข้าใจดีกับความรู้สึกของเยาวชนและนักศึกษาที่จัดกิจกรรมเรื่องทำประชามติขอกำหนดอนาคตนเอง เพราะอาจจะได้รับความกดดัน และรู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์มานาน
สมมติน้องๆ เหล่านี้เกิดเมื่อปี 2547 ปัจจุบันอายุ 19 ปี ก็เรียกว่าอยู่ในความรุนแรงมาตลอด เพราะไฟใต้ปะทุปี 2547 จึงอาจต้องการแสดงความรู้สึก เพราะดูเหมือนสิ้นหวังกับสันติสุข เนื่องจากปัญหายืดเยื้อยาวนานเกินไป ผ่านรัฐบาลมาหลายชุดก็แก้ไขไม่ได้เสียที
แต่ปัญหาคือสิ่งที่แสดงออกมากลับล้ำเส้น ผิดกฎหมาย โดยไม่มีใครตักเตือนหรือแนะนำ จึงเชื่อว่าต้องมีคนยุ ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ทราบว่ามีนักวิชาการจากบางมหาวิทยาลัย และพรรคการเมืองบางพรรคอยู่เบื้องหลัง
ผมเห็นด้วยว่า เรื่อง “ดันเด็กออกหน้า” ต้องระวัง เพราะอาจมีคนหวังผลการเมือง และ “ผู้เล่น” ในสถานการณ์ไฟใต้บางคนบางฝ่ายก็รอจังหวะอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ
อย่าง นายกัสตูรี่ มะห์โกตา ประธานองค์การพูโล ซึ่งพำนักอยู่ที่ประเทศสวีเดน เพิ่งให้สัมภาษณ์ “เนชั่นทีวี” บอกว่า พูโลไม่เห็นด้วยกับการออกมาเสนอเรื่องประชามติแยกดินแดน หนำซ้ำยังใช้เด็กและเยาวชนเป็นคนนำเสนอ จนถูกมองในแง่ร้าย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรคุยกับบนโต๊ะเจรจามากกว่า จะเป็นโต๊ะหลักหรือโต๊ะย่อยก็ได้ เพื่อหาข้อสรุปที่ทุกกลุ่มยอมรับได้ออกมา
สถานการณ์ล่อแหลมแบบนี้ แต่ดูเหมือน “แกนนำว่าที่รัฐบาลชุดใหม่” บางท่านที่ออกมาแสดงบทบาทเป็น “ผู้รู้” ในปัญหาภาคใต้ จะไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นหรือมั่นใจให้กับคนไทยและสังคมไทยเลยว่าจะดับไฟใต้ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างไร นอกจากกระพือกระแสให้ตื่นกลัวสูญเสียดินแดน
วันก่อนมีแกนนำพรรคว่าที่รัฐบาลท่านหนึ่งมาออกรายการที่ “เนชั่นทีวี” และพูดหลายเรื่องที่น่าจะทำให้คนฟังเข้าใจข้อมูลคลาดเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่น
-เสนอให้ปรับโครงสร้าง “คณะพูดคุย” ให้เป็นพลเรือนทั้งคณะ แล้วก็ยกตัวอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอดีต ที่ตั้งคณะพูดคุยเป็นพลเรือน มีหัวหน้าคณะคือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร แม้จะมียศทหาร แต่เป็นอดีตทหาร
ทว่าข้อเท็จจริงก็คือ ขณะที่ พล.ท.ภราดร เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย และไปเช็คแฮนด์-จับมือกับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นที่มาเลเซียนั้น ท่านยังรับราชการอยู่ เป็นเลขาธิการ สมช. ยังไม่เกษียณ แบบนี้ต้องถือว่านำตำแหน่งหน้าที่ราชการไปผูกกับกระบวนการพูดคุยที่ยังไม่รู้ทิศทางที่แน่ชัด...ใช่หรือไม่
ส่วนคณะพูดคุยในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่แกนนำรัฐบาลท่านนี้พยายามโจมตีว่าใช้ทหารคุมนั้น ไปย้อนดูประวัติ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยคนปัจจุบัน ท่านรับตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยตอนท่านเกษียณอายุราชการแล้ว และตำแหน่งสุดท้ายก็เป็นเลขาธิการ สมช.เหมือน พล.ท.ภราดร ต่างกันที่เกษียณแล้ว เลยไม่รู้ว่าใครมีความเป็น “พลเรือน” มากกว่ากัน
ยิ่งไปกว่านั้น คณะพูดคุยในยุคยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้มีแต่พลเรือนทั้งคณะเหมือนกับที่แกนนำรัฐบาลท่านนี้พูด เพราะนอกจาก พล.ท.ภราดร แล้วยังมี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม รวมอยู่ด้วย (ร่วมคณะพูดคุยก่อนเป็นปลัดกลาโหม และยังเป็นทหาร)
-แกนนำว่าที่พรรครัฐบาลท่านนี้ยังบอกว่า กระบวนการพูดคุยที่ทหารคุยกับทหาร หรือคนถืออาวุธคุยกัน ไม่มีทางสำเร็จ เพราะตนเดินทางไปร่วมกระบวนการสันติภาพมาแล้วเกือบจะทั่วโลก ไม่มีใครให้คนถืออาวุธมาคุยกันแล้วจบ และไม่ควรให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือ “คนกลาง” เพราะมีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากดินแดนติดกัน
เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกผมไม่ทราบ เพราะไม่มีปัญญาเดินทางไปไหนเหมือนท่าน แต่ที่ทราบแน่ๆ คือ ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม. ที่เป็นหนามยอกอกมาเลเซีย และใช้พื้นที่บางส่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในการเคลื่อนไหวนั้น ตัวจักรสำคัญในการพูดคุยแล้วจบ คือ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เมื่อครั้งครองยศพันโท และ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
นอกจากนั้นยังมี “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (อดีต ผบ.ทบ. อดีตนายกฯ) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ และทั้งคู่ทำเรื่องนี้ตอนเป็นทหาร เซ็นสัญญาสันติภาพกันที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทั้งๆ ที่ไทยก็มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะ จคม.ใช้จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว และไทยก็มีดินแดนติดกับมาเลเซีย
จะว่าไปปัญหา จคม. ก็คือปัญหาอีกด้านหนึ่ง เป็นคล้ายๆ ด้านตรงกันข้ามของไฟใต้ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ครั้งนั้นฝ่ายที่เคลื่อนไหวและมีกองกำลังติดอาวุธ คือพรรคคอมมิวนิสต์จีนมลายาที่ต้องการแผ่ขยายอิทธิพล ต้องการปลดแอกจากอังกฤษ และต่อมาก็ส่งผลกระทบทางความมั่นคงต่อมาเลเซียภายหลังได้รับเอกราช โดยใช้พื้นที่บางส่วนของไทยในการเคลื่อนไหว
ส่วนไฟใต้ในปัจจุบัน เป็นการเคลื่อนไหวของพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เรียกร้องปลดแอกจากไทย และใช้พื้นที่ของมาเลเซียบางส่วนในการเคลื่อนไหว หลบหนี ซุ่มซ่อน และกบดาน
ผมฟังบทสัมภาษณ์ และติดตามความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรครัฐบาลใหม่ที่ประกาศจะทำโน่นทำนี่กับปัญหาภาคใต้แล้ว ไม่รู้จะฝากความหวังไว้ได้อย่างไร เพราะแทนที่จะมุ่งลดเงื่อนไขที่ทำให้ไฟใต้ไม่ดับ และลดระดับปัญหาให้เป็น “ปัญหาภายใน” กลับพยายามโหมสร้างเงื่อนไขใหม่ให้มันหนักกว่าเก่า
แต่ก็ขอให้โอกาสในฐานะที่ท่านชนะเลือกตั้งมา ขอให้ตั้งรัฐบาลได้เร็วๆ และขอให้รอบคอบ อย่าใจเร็วด่วนได้ ขอให้รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกด้านอย่างหลากหลาย แท้จริง
โดยเฉพาะเหยื่อไฟใต้ ซึ่งมีคนไทยพุทธ และเจ้าหน้าที่รัฐรวมอยู่ด้วยเยอะมาก แต่ผมยังไม่เคยได้ยินผู้รู้ในว่าที่รัฐบาลชุดใหม่พูดถึงพวกเขาบ้างเลย...
-------------------------------
ขอบคุณภาพจาก รายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี