“ประชามติแยกดินแดน” เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่านาทีนี้จะถูกกระแสหลักของสังคมต่อต้าน วิจารณ์อย่างหนัก จนต้องถอยกลับที่ตั้งเดิมก็ตาม
สิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ และรู้เท่าทัน ก็คือ “จังหวะก้าว” และ “ทิศทางสู่เป้าหมาย” ของฝ่ายที่ออกมาขับเคลื่อนต่างหาก ว่าพวกเขามองสถานการณ์อย่างไร และมีโมเดลแบบไหนเป็นต้นแบบ เพราะการเคลื่อนไหวจะไม่จบแค่ถูกถล่มแล้วเก็บของกลับบ้านเป็นแน่
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้เอาไว้อย่างแหลมคม เป็นกลาง และไม่ปล่อยให้ประเด็นสำคัญผ่านเลยไป...
@@ ประชามติภาคใต้!
ในขณะที่การเมืองที่กรุงเทพฯ กำลังมีข้อถกเถียงกันอย่าง “ออกรสออกชาติ” ในเรื่องของว่าที่นายกรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ นั้น กลับมีเรื่องแทรกซ้อนที่น่าสนใจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทั้งยังต้องถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้แก่หลายฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งได้แก่ การเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsar) พร้อมกับการเปิดเวทีเพื่อการเสวนาทางการเมืองที่มีประเด็นหลักในเรื่อง “การกำหนดอนาคตตนเอง” (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี”
การจัดงานนี้มีทั้งนักการเมือง องค์กรภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) และอาจารย์ที่เรียกว่า “สายสันติวิธี” เข้าร่วม โดยเฉพาะการเปิดตัวของนักการเมืองที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ที่ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนผ่านคำสัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นความท้าทายต่อรัฐไทยอย่างมาก
หากเป็นแต่เพียงเวทีการเสวนาอย่างเดียวแล้ว อาจจะไม่เป็นความกังวลใหญ่แต่อย่างใด เพราะการเปิดเวทีในเรื่องของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดนั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงในบางครั้ง ข้อมูลการเสวนาอาจจะปรากฏในสื่อให้สังคมรับรู้บ้าง หรือในบางกรณี อาจไม่ปรากฏหลักฐานให้สังคมไทยในวงกว้างรับรู้ ด้วยเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของผู้จัด
แต่การจัดเวทีในครั้งนี้ในทางการเมือง ต้องยอมรับว่าไปไกลกว่าทุกครั้ง เพราะมีการออกแบบคำถามอย่างตรงไปตรงมา คือ “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”
คำถามเช่นนี้ ไม่อาจตีความเป็นอื่น นอกจากเป็นสัญญาณของการสร้างเวทีเพื่อทำประชามติสำหรับการ “แยกตัวเป็นเอกราช” ของพื้นที่ 4 ส่วน คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลาใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย
โดยแบบสอบถามนี้จะใช้ถามกับคนใน 2 ลักษณะ คือ
1) แบบสอบถามแรก ถูกระบุว่า จะใช้กับ “ชาวปาตานี ผู้ที่ลงทะเบียนว่า อาศัยอยู่ในพื้นที่ปาตานี” ซึ่งเป็นพื้นที่ 4 ส่วนดังที่กล่าวในข้างต้น
2) แบบสอบถามที่ 2 ระบุว่า จะใช้กับ “คนนอกพื้นที่ ผู้ที่ลงทะเบียนว่า อาศัยอยู่ในพื้นที่ปาตานีเป็นการชั่วคราว หรือมีภูมิลำเนาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพื้นที่ดังกล่าว"
แม้อาจจะเคยมีการเปิดเวทีในเรื่องเช่นนี้มาก่อนแล้ว แต่ไม่เคยไปถึงจุดของการนำเสนอให้มีการขอประชามติเพื่อการเป็นเอกราชอย่างเปิดเผยเช่นในครั้งนี้
ความพยายามในการทำประชามติย่อมสร้างความกังวลใจกับประชาชนในพื้นที่ และกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณของ “การยกระดับ” ปัญหาในพื้นที่ขึ้นอีกระดับอย่างเห็นได้ชัด เพราะสำหรับคนที่สนใจในใจปัญหาการแยกตัวออกเป็นเอกราชจากรัฐเดิม จะพบว่าการกดดันด้วยมาตรการทางการเมือง และการก่อเหตุรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งเป็นมาตรการทางทหารนั้น จะไม่สามารถนำไปสู่การสร้าง “รัฐเอกราชใหม่” ได้จริง จนกว่าจะมีการใช้การทำประชามติ เพื่อแสดงออกในเชิงปริมาณว่า คนในพื้นที่ไม่ต้องการอยู่กับรัฐเดิมอีกต่อไปแล้ว
ประชามติจึงเป็น “กุญแจ” ดอกสำคัญที่จะใช้ไขเพื่อเปิด “ประตูเอกราช” ดังเช่นที่เราเคยเห็นจาก “กรณีติมอร์ตะวันออก” มาแล้ว อันทำให้หลายคนที่เฝ้ามองเหตุการณ์นี้ เชื่อว่าการทดลองเริ่มทำประชามติในเวทีดังกล่าว คือการเตรียม “ติมอร์โมเดล” สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่รัฐบาลอินโดนีเซียเคยเผชิญมาแล้ว
หากเปรียบเทียบปัญหาในภูมิภาค เราจะเห็นได้ว่า “อาเจะห์โมเดล” ไม่เป็นบทเรียนเท่าใดนัก เพราะปัจจัยที่บีบบังคับให้รัฐบาลและกองกำลังอาเจะห์เสรีต้องหันหน้าเข้าหากัน และเปิดการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง อันนำไปสู่การสิ้นสุดของปัญหาในที่สุดนั้น คือ “คลื่นสึนามิ” ที่มีความรุนแรงและทำลายชีวิตและทรัพย์สินของทุกฝ่ายบนเกาะอาเจะห์ จนทั้งสองฝ่ายต้องยุติสงคราม
ส่วนการแก้ปัญหาในแบบ “มินดาเนาโมเดล” ในภาคใต้ฟิลิปปินส์นั้น แม้จะใช้ระยะเวลาในการเจรจาอย่างยาวนาน ภายใต้การอำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย แต่ก็จบลงด้วยการกำเนิดของ “บังซาโมโร” (Bangsamoro) โดยผู้นำฝ่ายต่อต้านยอมรับว่า แนวทางการต่อสู้เพื่อเอกราชด้วยกำลังอาวุธไม่ประสบความสำเร็จ และยอมที่จะดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ อันนำไปสู่การสิ้นสุดของการเรียกร้องเอกราชในภาคใต้ของฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ทั้งอาเจะห์โมเดล และมินดาเนาโมเดลนั้น มีเรื่องของ “การกระจายอำนาจ” เป็นแกนกลางในการแก้ปัญหา เพราะปัญหาความขัดแย้งภายของรัฐในรูปแบบของปัญหา “ความต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์” ไม่อาจยุติลงได้โดยไม่มีการกระจายอำนาจ
แต่หากฝ่ายพรรคการเมือง นักการเมืองและกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งอาจจะไม่เชื่อ “แนวทางกระจายอำนาจ” มากเท่ากับ “แนวทางประชามติ” เพื่อนำไปสู่เส้นทางเอกราช พวกเขาก็อาจต้องตระหนักว่า การเปิดเวทีประชามติอาจจะยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
เว้นแต่การดำเนินการของกลุ่มคนดังกล่าวครั้งนี้กระทำการด้วยหวังว่า ความรุนแรงที่จะตามมาในอนาคตจะยิ่งช่วยให้ประชามติที่พวกเขาปูทางไว้นั้น เป็นความจริงมากยิ่งขึ้น เพราะจะเป็นโอกาสของการแสวงหาความสนับสนุนของรัฐจากภายนอกและองค์การระหว่างประเทศ เช่นใน “ติมอร์โมเดล”
ข้อเสนอของพรรคการเมืองบางพรรคที่กำลังก่อตัวเป็นรัฐบาล และสอดรับเข้ากับการทำประชามติในครั้งนี้ จึงดูจะเป็นการสร้าง “ความสั่นสะเทือน” ต่ออนาคตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทยเป็นอย่างยิ่ง!