“พิธา” ยันแนวทางก้าวไกลต้องเป็นรัฐเดียว การปกครองชายแดนใต้และประเทศไทยต้องสอดคล้องกัน ขณะที่คณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ 8 พรรคร่วมถกนัดแรก ยันไม่เห็นด้วยนักศึกษาเสนอแบ่งแยกรัฐปัตตานี ยังไม่ชัดยุบ กอ.รมน.- เดินหน้าคุยบีอาร์เอ็นต่อ ส่วน “กัณวีร์” ย้ำอีกรอบไม่หนุนประชามติแยกดินแดน ด้าน เลขา สมช.เผย "นายก ประยุทธ์" ห่วงประชามติเอกราช หวั่นสร้างความแตกแยก สั่งตรวจสอบ-ดำเนินการตามกฎหมาย
วันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กล่าวถึงกรณีขบวนนักศึกษาแห่งชาติ จัดปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง” และทดลองให้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช โดย นายพิธา ยืนยันว่า แนวทางของพรรคก้าวไกลอย่างไรก็ต้องเป็นรัฐเดียว และการปกครองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทยต้องสอดคล้องกัน ซึ่งต้องสร้างการลดความขัดแย้งและลดความรุนแรงได้แน่นอน
ทั้งนี้ เท่าที่ตรวจสอบไปยัง นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคนของพรรคก้าวไกล ทราบว่าไม่ได้อยู่ในสถานที่ดังกล่าว (สถานที่จัดกิจกรรมทดลองประชามติแยกดินแดน) และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่ม
@@ คณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ 8 พรรคฯ ถกนัดแรก
เวลา 14.00 น.วันเดียวกัน คณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาลว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี มีการประชุมนัดแรกที่พรรคก้าวไกล โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคมาร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล , พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย , ส่วนพรรคประชาชาติ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายมุข สุไลมาน รองหัวหน้าพรรค, นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม, นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น
หลังใช้เวลาหารือนานถึง 2 ชั่วโมง นายรอมฎอน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการวางกรอบการทำงาน ระดมความเห็นแต่ละพรรคในเบื้องต้น การตั้งสมมุติฐานของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสันติภาพ การแสดงความเห็นทางการเมืองที่ยังมีความคับข้องหมองใจ รวมถึงการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ดังนั้นวันนี้เราคุยกรอบกว้างที่แต่ละพรรคให้สัญญาประชาชนไว้ แต่ครั้งหน้าถ้าจะลงลึกรายละเอียดว่าจะวางกรอบสร้างสันติภาพ ตอบสนองแนวนโยบายอย่างไรให้กับประชาชน โดยนัดหารือที่พรรคประชาชาติ ในวันที่ 19 มิ.ย.
ที่ประชุมยังเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหาวันนี้ อาจต้องลดบทบาท วิธีคิด และกลไกทางทหารลง แต่เพิ่มบทบาทพลเรือน โดยเฉพาะตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน นั่นคือบทบาทรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร
@@ ไม่เห็นด้วยนักศึกษาเสนอแบ่งแยกรัฐปัตตานี
นายรอมฎอน ยังบอกด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงกรณีเปิดตัวของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (ที่เสนอเรื่อง "ประชามติแยกดินแดน") โดยสัมผัสได้ว่า มีความกังวลของผู้คนที่มองปรากฏการณ์ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งในนามของว่าที่รัฐบาลใหม่ กรอบที่เรายังยืนอยู่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรากำลังพูดถึงสถานภาพของรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้า และจะกระจายอำนาจให้กับประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกไปของรัฐปัตตานี (ปาตานี) เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีพื้นที่ให้แสดงความเห็น ซึ่งการพูดคุยรับฟังความเห็นต่างๆ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานของคณะทำงาน
"ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ส่วนตัวมองว่า นี่คือหน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้งและต้องการความกล้าหาญทางการเมืองภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคไปเผชิญปัญหา แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของความรุนแรง เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นการกล้าเผชิญ คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา"
@@ ยังไม่ชัดยุบ กอ.รมน.- เดินหน้าคุยบีอาร์เอ็นต่อ
ส่วนการพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงนั้น นายรอมฎอน บอกว่า หน่วยงานความมั่นคงก็เป็นระบบราชการภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว ก็จะต้องมีการพูดคุย แต่ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบของ 8 พรรคการเมือง ก็ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อม
ส่วนแนวคิดการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนที่รัฐบาลเดิมได้ทำมานั้น วันนี้ในวงประชุมยังมีความเห็นต่างกันอยู่ถึงแนวทางดังกล่าว แต่ในภาพใหญ่ก็มองว่า เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือการสนทนากับคู่ขัดแย้ง ซึ่งวิธีการของรัฐบาลใหม่ เราจะสร้างความแตกต่างจากก่อนหน้านี้
ส่วนความชัดเจนในการยุบ กอ.รมน.นั้น นายรอมฎอน บอกว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการพูดคุยในคณะทำงาน และต้องเป็นฉันทามติร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
@@ "กัณวีร์" ย้ำอีกรอบไม่หนุนประชามติแยกดินแดน
ด้าน นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวย้ำในเรื่องกิจกรรมการทำประชามติแยกดินแดนของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติว่า ถ้าเป็นการทำประชามติ เพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เราไม่สนับสนุน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เราเปิดเสรีในการแสดงออกของประชาชนและไม่กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ
@@ นายกฯ ประยุทธ์ ห่วงประชามติเอกราช สร้างความแตกแยก
ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า ได้รายงานกรณีการจัดกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่มีการจัดพิมพ์บัตรสอบถามความเห็นผ่านสื่อโซเชียล สอบถามประชาชน เรื่องประชาชนปัตตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบแล้วตั้งแต่วันที่จัดงาน โดย พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเป็นห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการทำความเข้าใจกับประชาชน
พล.อ.สุพจน์ ยืนยันว่า การออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้และไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะบทบาทของ ส.ส.ที่จะเพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งมา สามารถดำเนินการแทนได้อยู่แล้ว ด้วยการทำหน้าที่สะท้อนความต้องการ รวมทั้งปัญหาของประชาชน แล้วนำเข้าไปหารือ เพื่อหาทางออกในสภาผู้แทนราษฎร
ในส่วนของรัฐบาลมีนโยบายสำหรับพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคงที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้เกิดความสงบ ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งยังสนับสนุนเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ ศาสนาและ การศึกษาอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีกลไกการพูดคุยสันติสุขที่เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเข้าร่วม ดังนั้นบรรดานักวิชาการสามารถมาร่วมได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกตัวไปทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความแตกแยก
และในวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายนนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ จะมีการประชุมติดตามเรื่องนี้ ก่อนสรุปรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป