พูดถึงภารกิจปฏิรูปกองทัพ “งานหิน” ของว่าที่รัฐบาลใหม่ก้าวไกล แม้จะมีข่าว “ว่าที่นายกฯพิธา” เตรียมนั่งควบ รมว.กลาโหม แต่งานใหญ่และยากแบบนี้เชื่อว่าน่าจะต้องมี “รัฐมนตรีคนนอก” เข้าไปคอยประคอง
โดยรัฐมนตรีคนที่ว่านี้ น่าจะต้องเป็นอดีตนายทหารระดับสูงด้วย
ส่วนจะเป็น “รัฐมนตรีว่าการ” หรือ “ช่วยว่าการ” ก็ต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลก้าวไกล
ห้วงเวลาที่ผ่านมามีการพูดถึงชื่อ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชื่อของ พล.อ.นิพัทธ์ หรือ “บิ๊กแป๊ะ” ในฐานะแคนดิเดตรัฐมนตรีกลาโหม ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากฟากฝั่งผู้สนับสนุนฝ่ายเสรีนิยม เพราะมีภาพลักษณ์เป็น “นายทหารประชาธิปไตย” เคยทำงานเคียงข้าง “อดีตนายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงเผชิญวิกฤติทางการเมือง จากการชุมนุมของกลุ่มนกหวีด “กปปส.”
ช่วงนั้น พล.อ.นิพัทธ์ ในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหม สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2549 หลัง นายกฯยิ่งลักษณ์ ยุบสภา สวนทางกับข้อเรียกร้องของ กปปส. กระทั่งภายหลังมีการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะไป และการเมืองเดินเข้าสู่ทางตัน
นอกจากนั้น พล.อ.นิพัทธ์ ยังอยู่เบื้องหลังการวางแผนบังคับใช้กฎหมายพิเศษ คือ “พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” แบบจำกัดพื้นที่ ในห้วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ไม่กระทบสิทธิและไม่ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม ทำให้คณะรัฐมนตรีในยุคนั้นรอดจากการถูกชี้มูลกล่าวโทษโดย ป.ป.ช.ในเวลาต่อมา
ห้วงเวลานั้นจะเรียกว่า “บิ๊กแป๊ะ” เป็นกุนซือและมันสมองในงานความมั่นคงให้กับรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ไม่ผิด ที่สำคัญตนเองยังได้รับผลกระทบต่อชีวิตราชการ ถูกสั่งย้ายเข้ากรุ “ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 โดยคณะ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งต้องเกษียณอายุราชการในตำแหน่งลอยที่ไม่ใช่ “ตำแหน่งหลัก” ไปอย่างเจ็บช้ำ
ฉะนั้นนอกจากภาพการทำงานเคียงข้างรัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.นิพัทธ์ ยังเป็นนายทหารระดับสูงเพียงคนเดียวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหารปี 2557 และแสดงท่าที “ยืนตรงข้าม” กับคณะรัฐประหาร และการยึดอำนาจมาโดยตลอด จนได้รับฉายา “นายทหารประชาธิปไตย”
จริงๆ แล้วหากส่องประวัติของ พล.อ.นิพัทธ์ จะยิ่งพบ “ความไม่ธรรมดา” และไม่แปลกใจว่าเหตุใดคนในแวดวงวิชาการ รวมถึงฝ่ายความมั่นคงบางส่วนจึงสนับสนุนอดีตนายทหารผู้นี้
พล.อ.นิพัทธ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 หรือ ตท.14 และนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 25 ซึ่งนายทหารรุ่นนี้ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ถึง 2 คน คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช (เหมือนกับ ตท.6 ที่เป็น ผบ.ทบ. 2 คนต่อเนื่องกัน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อด้วย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน) ขณะที่ พล.อ.นิพัทธ์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการทางฝั่งปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.อ.นิพัทธ์ เป็นนายทหารที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ศึกษาต่อปริญญาโทสาขาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ด้านการจัดการ จากมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ และยังจบหลักสูตรทางทหารจากหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นนายทหารที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ผ่านงานทั้งหน่วยรบ หน่วยบริหาร และหน่วยธุรการ
กล่าวคือ ผ่านทั้ง ทบ. หรือกองทัพบก โดยเริ่มชีวิตราชการ ติดร้อยตรีครั้งแรกเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ร.21 รอ. หน่วยเดียวกับ “3 ป.” ซึ่งก็คือ สายเลือด “ทหารเสือราชินี” เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นยังผ่านงาน “กองทัพไทย” เคยเป็น “เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร” อย่างยาวนานถึง 4 ปี ก่อนโยกเข้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นปลัดกลาโหมก่อนโดนรัฐประหาร
“บิ๊กแป๊ะ” ยังมีประสบการณ์จากอาเจะห์ เคยไปเป็นผู้สังเกตการณ์การวางอาวุธเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์ กับอินโดนีเซีย กระทั่งได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากประธานาธิบดีแดนอิเหนา
และจากประสบการณ์ที่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของอาเจะห์ ซึ่งนักวิชาการหลายคนมองว่ามีส่วนคล้ายกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จึงเคยมีหลายเสียงสนับสนุนให้ พล.อ.นิพัทธ์ ข้ามห้วยไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ แต่สุดท้ายไม่สามารถฝ่าด่านประเพณีของกองทัพบกไปได้ (แม่ทัพต้องมาจากสายคุมกำลัง และเป็นลูกหม้อ ทบ. แต่ พล.อ.นิพัทธ์ ไปเติบโตในสายกองทัพไทย)
แต่ พล.อ.นิพัทธ์ ก็ได้ร่วมกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้จริงๆ ในปี 2556 เมื่อรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น “แบบเปิดเผย-เป็นทางการ” ครั้งแรกในรอบหลายสิบปีตั้งแต่มีปัญหาชายแดนภาคใต้ปะทุรุนแรงเป็นต้นมา โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
“บิ๊กแป๊ะ” เป็น 1 ใน 3 ทหารเสือ แกนนำคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯสมช.) ในขณะนั้น เพื่อน ตท.14 ของ พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ทั้งหมดนี้คือ “ปูมประวัติ” ที่ไม่ธรรมดาของ “บิ๊กแป๊ะ - นิพัทธ์ ทองเล็ก” สะท้อนถึงกระแสตอบรับกับข่าวว่าที่รัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลชุดใหม่ เพราะหาก พล.อ.นิพัทธ์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งจริง รัฐบาลใหม่จะได้ทั้งรัฐมนตรีกลาโหมที่เชี่ยวชาญงานกองทัพทุกสาย รับภารกิจปฏิรูปได้อย่างไร้รอยต่อ
และยังจะได้ใช้ประโยชน์ในภารกิจดับไฟใต้ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพูดคุยเจรจาเพื่อนำไปสู่สันติภาพ และการยุติความรุนแรงอย่างถาวรอีกด้วย
ปัจจุบัน พล.อ.นิพัทธ์ เป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งทั้งคู่มีความสัมพันธ์ รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยที่ นายชัชชาติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลอดีตนายกฯปู โดย พล.อ.นิพัทธ์ สนใจงานด้านการศึกษาและประวัติศาสตร์
ตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุราชการ ต่อเนื่องถึงหลังเกษียณ พล.อ.นิพัทธ์ มีงานเขียนทั้งในสื่อกระแสหลัก และในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ใช้ชื่อคอลัมน์ “ภาพเก่าเล่าตำนาน” ซึ่งระยะหลังมีการทำเป็นคลิปวีดีโอเผยแพร่ทางช่อง YouTube ด้วย
สะท้อนว่า พล.อ.นิพัทธ์ เป็นนักค้นคว้า นักการศึกษา และไม่ปล่อยให้ชีวิตหยุดนิ่ง เป็นคนประเภท “น้ำไม่เต็มแก้ว” เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา
โอกาสของ พล.อ.นิพัทธ์ ในการเป็นรัฐมนตรีกลาโหมตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น “ว่าการ” หรือ “ช่วยว่าการ” มีความเป็นไปได้สูงมาก ไม่ว่าอนาคตของพรรคก้าวไกลในฐานะว่าที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ตำแหน่งนายกฯจะหลุดมือหรือไม่
โดยหากก้าวไกลได้ตั้งรัฐบาลจริง พล.อ.นิพัทธ์ ก็มีโอกาสสูงที่จะเข้าป้าย เป็นรัฐมนตรีกลาโหม แต่อาจเป็น “รัฐมนตรีช่วย” ของ “ว่าที่นายกฯพิธา” ซึ่งมีข่าวว่าจะนั่งควบรัฐมนตรีว่าการกลาโหมด้วยตนเอง
สาเหตุที่ “บิ๊กแป๊ะ” มีลุ้น เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการ สมช. ซึ่งเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
พล.ท.พงศกร เป็นอดีตนายทหารที่ได้รับการยอมรับจาก 3 ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกล ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ นางสาวพรรณิการ์ วานิช ซึ่งปัจจุบันเป็นสามแกนนำคณะก้าวหน้า ถึงขั้นมีข่าวเคยได้รับการวางตัวเป็นรัฐมนตรีกลาโหม หากพรรคอนาคตใหม่มีอำนาจ
แต่ พล.ท.พงศกร ไปไม่ถึงปลายทาง เนื่องจากโดนพิษแชร์ข่าวเฟกนิวส์จนถูกดำเนินคดี และถูกขุดคุ้ยว่าอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร ทั้งๆ ที่เกษียณอายุราชการแล้ว สุดท้ายต้องลาออกจากพรรคไป
อีกมุมหนึ่งหากพรรคก้าวไกล หรือนายพิธา เจออุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้พรรคเพื่อไทยเบียดแทรกขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนได้ ชื่อของ พล.อ.นิพัทธ์ จะยิ่งสดใสแวววาว เพราะได้รับการยอมรับจากพรรคเพื่อไทยทั้งพรรค โดยเฉพาะอดีตนายกฯปู
ที่สำคัญ ส่องดูในบัญชีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทย 100 คน มีอดีตนายทหารเพียงคนเดียว คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีสถานะเป็นว่าที่ ส.ส. เพราะอยู่ในลำดับที่ 27 แต่ พล.อ.พิศาล มีประวัติเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สลายม็อบตากใบ จ.นราธิวาส และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมขึ้นรถยีเอ็มซี ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 85 ศพ เป็นบาดแผลฉกรรจ์ของไฟใต้ระลอกใหม่ในรอบ 19 ปีมานี้ จึงยากที่จะผงาดกลับมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ในยุคที่นโยบายดับไฟใต้เป็นภารกิจสำคัญ และเป็นวารแห่งชาติของรัฐบาลชุดใหม่
พล.อ.นิพัทธ์ เปิดใจกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามจากใครในว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ทราบแต่เพียงข่าว และการเสนอประวัติของตนในสื่อบางแขนงเท่านั้น แต่ก็ยืนยันว่าหากได้รับการทาบทาม ก็จะรับไปพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะสนใจงานด้านปฏิรูปกองทัพ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการผลักดันภารกิจที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องใช้คนที่เคยทำงาน รู้งาน และเคยอยู่ในกองทัพ เนื่องจากจะสามารถขับเคลื่อนได้ง่ายกว่าใช้คนนอกกองทัพเข้าไปดำเนินการ
ส่วนแนวทางการเปิดโต๊ะพูดคุยดับไฟใต้กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น “บิ๊กแป๊ะ” แย้มว่า ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเสนอนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้เป็น “วาระแห่งชาติ” ได้โทรศัพท์มาหารือและสอบถามความคิดเห็น ซึ่งตนได้เสนอแนวคิดไปว่า ไม่ว่าจะปรับโครงสร้างคณะพูดคุยเจรจาอย่างไร ก็ต้องมอบบทบาทให้กองทัพภาคที่ 4 เข้าไปมีส่วนร่วม เนื่องจากรับผิดชอบปัญหาโดยตรง เป็นหน่วยหลักที่ดูแลพื้นที่ และมีกำลังพลในมือ
เพราะหลักของการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งด้วยอาวุธ ต้องมีพลังถ่วงดุลทั้งสองด้าน ทั้งบนโต๊ะเจรจา และด้านกองกำลัง เพื่อสร้างแรงกดดันให้กระบวนการเจรจาคืบหน้า และไปสู่เป้าหมายปลายทางในที่สุด
ดังคำคมที่ว่า “จะยิงปืนให้แม่น ตรงเป้าหมาย คนเล็งและคนเหนี่ยวไกต้องเป็นคนเดียวกัน”
ดูเหมือนหลักคิดที่ว่านี้ ซึ่งอาจขมวดเป็นคำสั้นๆ ว่า “เอกภาพทั้งนโยบายและปฏิบัติ” พล.อ.นิพัทธ์ จะใช้เป็นหมุดหมายในการจัดการปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาให้ตนเองรับผิดชอบด้วยเช่นกัน.