“กลุ่มเห็นต่าง” บุกยึดเวทีรับฟังความคิดเห็น “สัมปทานเหมืองหินสายบุรี” หลังถูกห้ามเข้าร่วม จนต้องประกาศยุติเวที เลื่อนไปไม่มีกำหนด ด้านเครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง เรียกร้องยกเลิกประทานบัตรเหมืองหิน เหตุส่งผลกระทบชาวบ้าน เลขาธิการพรรคเป็นธรรมฟิตจัด โผล่ร่วมสังเกตการณ์ พร้อมส่งคณะทำงานร่วมชาวบ้านเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม
วันพฤหัสบดีที่ 1 มิ.ย.66 ที่ลานเอนกประสงค์เทศบาลตำบลเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี สำนักงานอุตสาหกรรมประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย บริษัท อิบนู อัฟฟานแกรนิต กรุ๊ป จำกัด ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ขอประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองประเภทที่ 2 โครงการทำเหมืองแร่อุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิต เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง คำขอประทานบัตรที่ 1 /2565 ของ บริษัท อิบนู อัฟฟานแกรนิต กรุ๊ป จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.ทุ่งคล้า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
เวทีครั้งนี้มี นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม รวมทั้งตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ อ.สายบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงร่วมรับฟังและสะท้อนปัญหา
ระหว่างการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เจ้าหน้าที่โครงการเหมืองแร่ "สั่งห้าม" ไม่ให้ผู้เห็นต่างเข้าร่วมเวที ทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการไม่พอใจที่ถูกห้ามเข้า จนเกิดความวุ่นวายขึ้น โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยได้บุกรุกเข้าไปที่เวที พร้อมขึ้นป้ายต่อต้านโรงโม่หิน ไม่เอาเหมืองหิน จนในที่สุดทางเจ้าหน้าที่โครงการประกาศเลื่อนเวทีรับฟังความเห็นอย่างไม่มีกำหนด ท่ามกลางการดูแลและรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมนำรถหุ้มเกราะไปสแตนบายเพื่อเฝ้าระวังหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
@@ เครือข่ายประชาชนฯ จี้ยกเลิกขอประทานบัตรฯ
แถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง อธิบายถึงเหตุผลการคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการการขอประทานบัตรเหมืองแร่เขาเตราะปลิงว่า กระบวนไม่โปร่งใส ทั้งการกระจายข่าวสารและส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมเวทีไม่ทั่วถึง และมีระยะเวลากระชั้นชิด ทำให้ประชาชนในเขตพื้นที่ไม่สามารถเตรียมความพร้อมและไม่มีข้อมูลที่รอบด้านเพื่อร่วมเวทีประชาคม ทำให้เป็นข้อห่วงกังวลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจงใจเชิญเฉพาะผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการเพียงเท่านั้น และการจัดทำเวทีประชาคมในครั้งนี้ไม่ครอบคลุมหมู่บ้านใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการนี้ด้วย รวมถึงยังปรากฏพฤติกรรมการคุกคามผู้ที่ส่งเสียงคัดค้านโครงการอย่างเป็นกระบวนการ ทั้งข่มขู่ผู้นำชุมชน สร้างความหวาดกลัวแก่ชุมชนรอบเขาเตราะปลิง
ในนามเครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิงขอเรียกร้อง ดังนี้
1.ขอให้ยกเลิกการดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่ฯ นี้ เพราะไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เขาเตราะปลิง
2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนศักยภาพพื้นที่ว่า สมควรที่จะมีการขุดแร่หินแกรนิตอุตสาหกรรมหรือไม่ ประชาชนรอบเขาเตราะปลิงได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน
3.ขอให้เครือข่ายนักปกป้องสิทธิ นักกฎหมาย สื่อ วิชาการ พรรคการเมือง ติดตามสถานการณ์ละเมิดสิทธิ การคุกคามจากผู้มีอิทธิพลต่อประชาชนรอบเขาเตราะปลิง
@@ “กัณวีร์” โพสต์เฟซฯ ต้องเป็นกรรมการเจรจา
ด้าน นายกัณวีร์ ซึ่งได้ไปร่วมสังเกตุการณ์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากที่จะไปร่วมสังเกตการณ์ กลับได้ทำหน้าที่ผู้เจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี นายอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี กับ เครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิงที่มาคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็น ตามที่เจ้าหน้าที่ได้มาขอความช่วยเหลือ
จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผิดฝาผิดตัว ไม่โปร่งใส ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชน ไม่มีข้อมูลรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านรู้ว่าจะมีเวทีรับฟังความเห็นเพียงไม่กี่วัน ทำให้เกิดความไม่สบายใจของประชาชน และเครือข่ายประชาชนที่เห็นว่าการจัดทำเวทีประชาคมในครั้งนี้ไม่ครอบคลุมหมู่บ้านใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการนี้ด้วย และยังพบพฤติกรรมการคุกคามผู้ที่ส่งเสียงคัดค้านโครงการอย่างเป็นกระบวนการ ทั้งข่มขู่ผู้นำชุมชน สร้างความหวาดกลัวแกชุมชนรอบเขาเตราะปลิง
“ผมเห็นด้วยที่การรับฟังความคิดเห็นต้องโปร่งใส่ ฟังเสียงประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง เวทีวันนี้จบลงด้วยการยุติเวทีไปก่อน แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามขั้นตอนของกฏหมาย แต่เมื่อมีผู้ไม่เห็นด้วย ต้องมีกระบวนการในการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้รอบด้านเสียก่อน เพราะจะส่งผลกระทบในวงกว้างนอกจากนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นชุมชนชาวพุทธในพื้นที่ อ.สายบุรี ที่มีบรรยากาศของความกลัวจากปัญหาความมั่นคงอยู่ด้วย จึงเป็นนโยบายที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง” นายกัณวีร์ ระบุตอนหนึ่งในเฟซบุ๊ก
และเขียนข้อความปิดท้ายว่า หลังจากนี้พรรคเป็นธรรมจะมีคณะทำงาน โดยมอบหมายให้ นายมูฮัมหมัด กัดดาฟี กูนา ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม จะรวบรวมข้อมูลและประสานงานให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมอย่างที่สุด