ท่ามกลางกระแสแฉ “ส่วยรถบรรทุก - ส่วยสติ๊กเกอร์” ที่กำลังตื่นตูมตรวจสอบกันวุ่นวาย ปรากฏว่าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการแฉและกล่าวหาว่ามีส่วยอีกประเภทหนึ่ง อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ส่วยช่วยชาติ” หรือ “ส่วยร่วมพัฒนาชาติ” ก็ได้
เพราะข้อกล่าวหาของคนที่ออกมาเปิดโปง อ้างว่าเป็นผลประโยชน์โดยมิชอบจากโครงการที่เปิดให้กลุ่มผู้หลงผิด ผู้สนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ แล้วอยากจะกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย หากตัดสินใจมาแสดงตัวกับรัฐ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่ปรากฏว่ามีการจ่ายผลประโยชน์จากงบประมาณเพื่อหายอดคนเข้าร่วมโครงการ และมีการกล่าวหา “หักหัวคิว” ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกันอย่างปรีดิ์เปรมถ้วนหน้าด้วย
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเปิดข้อมูลเรื่องนี้ทางโซเชียลมีเดีย หลังจากพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง และพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้มีแนวโน้มจัดตั้งรัฐบาล
โดยพรรคการเมืองฝ่ายนี้ได้ประกาศนโยบายดับไฟใต้ ด้วยการรื้อโครงสร้างการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเลิกกฎอัยการศึก รวมไปถึงการถอนทหาร และการยุบเลิกหน่วยงานพิเศษบางหน่วย เช่น กอ.รมน. และ ศอ.บต. ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนที่เคยได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ และการทำงานของหน่วยงานพิเศษเหล่านี้ ออกมาแสดงท่าทีตอบรับกับรัฐบาลชุดใหม่
ล่าสุดมีการโพสต์ภาพเอกสาร “หนังสือรับรองการเข้าร่วมโครงการสานใจสู่สันติ ศูนย์ประชาชนพันธุ์ดี” พร้อมพิมพ์ข้อความสีแดงแบบเติมเข้าไปเองว่า “ฝากถึงนายกฯพิธา ยกเลิก โครงการทำเงินให้....(เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน)”
เนื้อหาในเอกสารระบุเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ สรุปว่า ต้องแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือผู้นำท้องที่ เพื่อยืนยันความบริสุทธ์ใจว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องให้ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่นของตน รวมถึงเห็นด้วยต่อแนวทาง “สันติวิธี” ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอันขาด
ท้ายเอกสารยังระบุว่า หนังสือนี้ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ทำขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการพูดคุยและกระบวนการสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมมีช่องให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ลงนาม และมีช่องสำหรับพยานลงลายมือชื่อ
ผู้ที่เผยแพร่เอกสารนี้ในโซเชียลมีเดียอ้างว่า โครงการนี้มีการหาผลประโยชน์กัน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ที่คาดว่านำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยหลังจากมีการเผยแพร่เอกสาร ปรากฏว่ามีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
“ทีมข่าว” ได้สอบถามผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้หลายๆ คน ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้รู้จักกันในชื่อโครงการ “พาคนกลับบ้าน” ของอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านหนึ่ง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 หรือ 11 ปีทีแล้ว และดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีจนถึงปัจจุบันภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการสานใจสู่สันติ”
ช่วงแรกๆ โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ “ผู้หลงผิด” หรือ “ผู้ที่เคยร่วมกับขบวนการก่อความไม่สงบ” ทั้งที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับ มีโอกาสเข้าแสดงตัวกับทางราชการ จะได้กลับบ้าน ไม่ต้องหลบหนีอยู่ตามป่าเขา หรือหนีไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จนไม่ได้อยู่กับครอบครัวอันเป็นที่รัก ทั้งพ่อแม่พี่น้อง บุตร ภรรยา
การเข้าร่วมโครงการจะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่มีหมายจับ - จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยฝ่ายความมั่นคงจะช่วยดำเนินการรับรองเรื่องการขอประกันตัว จะได้อยู่กับครอบครัวระหว่างต่อสู้คดี พร้อมส่งเสริมการฝึกอาชีพให้มีช่องทางทำกิน และมีรายได้
กลุ่มที่ไม่มีหมายจับ - จะเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรของฝ่ายความมั่นคง และฝึกอาชีพ เพื่อจะได้กลับไปอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข มีงานทำ มีรายได้ ดูแลครอบครัวได้
โครงการนี้ช่วงแรกๆ ได้รับการตอบรับอย่างดี และมีผู้เห็นต่างจากรัฐ แนวร่วมก่อความไม่สงบ ออกจากป่าเขา กลับจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้าร่วมโครงการหลายร้อยคน กระทั่งถึงหลักพันคน ส่งผลให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสะเทือนไปเหมือนกัน
ต่อมาในระยะหลังๆ โครงการเริ่มเพี้ยนไป เริ่มมีการวิจารณ์กล่าวหากันหลายเรื่อง เช่น
1.มีการทำยอด/จำนวนผู้เข้ารายงานตัว เพื่อสร้างผลงานให้กับหน่วยที่รับผิดชอบ
2.มีการสร้างยอดผู้เข้าร่วมงานตัว โดยแลกกับผลประโยชน์เป็นตัวเงิน แบ่งเป็น
- ถ้าเป็นผู้ก่อความไม่สงบตัวจริง มีหมายจับ หรือมีชื่อใน “แบล็กลิสต์” ของฝ่ายความมั่นคง (แม้ไม่มีหมายจับก็ตาม) แล้วยอมเข้าแสดงตัวผ่านผู้นำท้องที่ ก็จะมีค่าตอบแทนให้ 40,000-50,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะมอบให้กับผู้นำ บางส่วนมีการนำไปมอบต่อให้กับครอบครัวผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นทุนในการทำมาหากิน หรือไม่ก็มีการหักหัวคิวบางส่วน แต่ก็มีบางรายถูกหักเงินไปทั้งหมด จนครอบครัวไม่ได้อะไรเลยก็มี
- ถ้าเป็นผู้ก่อความไม่สงบตัวปลอม ไม่มีหมายจับ แต่เป็นการไปบังคับเยาวชน วัยรุ่น หรือเด็กเสพน้ำกระท่อมมาเข้าโครงการเพื่อทำยอด ก็จะมีค่าตอบแทนให้ 5,000 บาท ส่วนใหญ่เงินจำนวนนี้ ผู้นำท้องที่ หรือผู้ที่พาเข้าแสดงตัวจะได้รับไปทั้งหมด
- คนเหล่านี้เมื่อเข้ารับการอบรมฝึกอาชีพ จะได้รับมอบ “ไก่” มาเลี้ยง 2 ตัว เพื่อสร้างอาชีพต่อไป ซึ่ง “ไก่” ที่ได้รับมา 2 ตัวนี้ ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าจะเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตได้อย่างไร
3.มีการบังคับ ขู่เข็ญให้เข้าแสดงตัว ทั้งๆ ที่อาจไม่มีหมายจับ หรือใส่ร้ายว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ หรือตกลงกันเป็น “ตัวปลอม” เพื่อรับค่าตอบแทน โดยอ้างว่าเป็น “ผู้ก่อความไม่สงบหน้าขาว” หมายถึงพวกไม่มีหมายจับ ไม่มีประวัติการกระทำความผิด จากนั้นก็นำเงินค่าตอบแทนไปแบ่งกัน
ขั้นตอนเหล่านี้ มีทั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนรู้เห็นด้วย และมีบางส่วนที่ผู้นำท้องที่ทำกันเอง เพื่อแบ่งผลประโยชน์กัน เจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยว
4.โครงการอบรมฝึกอาชีพ รวมทั้งไก่ที่แจกให้มาเลี้ยง ล้วนเป็นเงินงบประมาณ แต่ไก่ที่แจกมา ผู้เข้าร่วมโครงการบางคนบ่นว่าเลี้ยงได้ไม่กี่วันก็ตาย ทำให้ชาวบ้านตั้งคำถามเรื่องความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ
ผู้แทนภาคประชาสังคมรายหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นคณะทำงานของโครงการนี้ แต่ปัจจุบันลาออกแล้ว ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ลาออกเพราะรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากเรื่องที่แฉกันว่า ใครพาผู้ร่วมขบวนการตัวจริงเข้าโครงการ จะได้รับเงิน 50,000 บาท ถ้าเอาตัวปลอมมา จะได้ 5,000 บาท เป็นเรื่องจริง บางคนเอาลูกหลานตัวเองมาแสดงตัวเพื่อรับเงินก็มี ตนรับไม่ได้ จึงลาออกมา
ด้านเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโครงการ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาเกิดจากผู้นำบางส่วนที่ไม่ตรงไปตรงมา ไปนำตัว “ผู้ต้องสงสัย” มาแสดงตัว เพื่อรับค่าตอบแทน บางทีก็ไปใส่ร้ายคนที่ไม่ถูกกันในพื้นที่ ทำให้อีกฝ่ายเสียเวลา เสียอิสรภาพ แต่คนที่พาเข้าโครงการก็ได้หน้า คนทำโครงการก็ได้ยอด
@@ ทหารแจง “สมัครใจ-ไม่บังคับ-ไร้ผลประโยชน์”
“ทีมข่าว” สอบถามเรื่องนี้ไปยัง พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้รับคำชี้แจงว่า โครงการนี้ไม่มีการบังคับ ฉะนั้นจึงไม่มีเรื่องหัวคิว หรือการขู่เข็ญ กระบวนการคือคนที่อยากเข้าร่วมโครงการจะมาติดต่อเพื่อขอเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีทั้งมาติดต่อด้วยตนเองโดยตรง กับอีกกรณีคือคนที่อยากเข้าโครงการ รู้จักกับคนที่อยู่ในโครงการแล้ว และขอเข้าร่วมโครงการ เพราะเบื่อกับสิ่งที่ทำอยู่ ต้องหนี ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ก็อยากออกมา ใช้ชีวิตตามปกติ ยืนยันว่าไม่มีบังคับ และไม่มีผลประโยชน์
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า โครงการนี้โดยหลักการเป็นการเปิดโอกาสให้ “กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” ที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรง และ ”สมัครใจเข้ารายงานตัวแสดงตน” ได้แสดงตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ หากไม่มีหมายจับหรือสิ้นสุดกระบวนการทางกฎหมายแล้ว ก็จะเตรียมความพร้อมก่อนกลับคืนสู่สังคม เช่น การฝึกอาชีพเสริม เป็นต้น ยืนยันว่าไม่มีการบังคับ ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีหัวคิวใดๆ ทั้งสิ้น
@@ โบ้ยขบวนการสะท้อน ตอบโต้-ดิสเครดิต
รายงานข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ชี้แจงข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อความไม่สงบ หรือกลุ่มขบวนการ พยายามดิสเครดิตโครงการนี้ เพราะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีแนวร่วมออกมาแสดงตัวกับรัฐจำนวนมาก ทำให้กลุ่มขบวนการสูญเสียกำลังคน จนโครงสร้างขบวนการอ่อนแอลงมาก จึงขอให้ประชาชนฟังความหลายๆ ด้าน อย่าเชื่อสิ่งที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียทั้งหมด