"หน้าที่หลักที่ต้องรับผิดชอบคือตำรวจ แต่ผู้บังคับบัญชาเข้าใจ อนุญาตให้ไปทำหน้าที่ของปันจักสีลัตได้อย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นภารกิจเพื่อชาติบ้านเมืองเช่นกัน เพราะเราสามารถไปตัดสินได้ทั่วโลก"
เป็นคำกล่าวด้วยความภาคภูมิใจของ ด.ต.นิอารง นิสะมะแอ ตำรวจสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปัตตานี กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานผู้ตัดสินปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย
ด.ต.นิอารง นับเป็นมุสลิมจากปัตตานีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศที่ได้ทำหน้าที่อันมีเกียรตินี้ และตั้งปณิธานทำทั้งงานตำรวจ และงานปันจักสีลัต ให้ประสบความสำเร็จ
ด.ต.นิอารง เป็นชาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ชีวิตอยู่กับวงการมวยมาตั้งแต่เด็ก พ่อทำค่ายมวยถึง 3 ค่าย คือ เกียรติเยาวชน, ส.มุสลิม และพยัคฆ์วาริน เรียนเอกภาษาอังกฤษธุรกิจที่วิทยาลัยครูยะลา เคยขึ้นชกมวยประมาณ 28 ครั้ง ชนะมาตลอด กระทั่งไปเรียนต่อวิชาเอกพลศึกษาที่วิทยาลัยครูสงขลา เพราะอยากเป็นครู และยังเป็นนักกีฬาชกมวยไทยสมัครเล่นของวิทยาลัยครูยะลาและสงขลาด้วย
"ผมอยากเป็นครูจึงไปเรียนต่อคณะครุศาสตร์ ตอนนั้นครูขาดแคลน ได้รู้จักครูกัมปนาท ซึ่งได้เหรียญทองซีเกมส์ปันจักสีลัต และครูนักรบ ทองแดง เป็นอาจารย์สอนวิทยาลัยพลศึกษา ตอนนั้นกีฬานี้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก" เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าวงการปันจักสีลัต
ด.ต.นิอารง บอกต่อว่า ช่วงเรียนที่ จ.ยะลา เขาเริ่มเล่นปันจักสีลัต จากนั้นก็ไปเรียนที่สงขลา เป็นครูสอนว่ายน้ำและหารายได้พิเศษ ได้ความรู้นอกตำรา พอเรียนจบก็เป็นครูเอกชนสอนที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และสอบเป็นตำรวจตามแนะนำของพ่อ จากนั้นก็สอบผ่านภาษาอังกฤษ มาเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาจนทุกวันนี้
"แข่งกีฬาปันจักสีลัตเป็นทีมชาติของทีมตำรวจ ได้เหรียญในประเทศ เก็บตัวติดทีมชาติในเวลาต่อมา และได้ชักชวนน้องชายกับญาติมาเล่นกีฬาปันจักสีลัตในค่ายมวยด้วยกัน เล่นจนติดทีมชาติได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ที่ปูซาน โดยน้ำหนักตัวในขณะนั้นเท่ากันกับน้องชายและญาติในรุ่น C และ รุ่น D”
จากนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ด.ต.นิอารง เบนเข็มเป็นผู้ตัดสิน
“ผมทำมาเรื่อยๆ บุกเบิกไปทุกภาค โดยในขณะนั้นจะมีครูกัมปนาทและครูนักรบ ทองแดง ครูยงศักดิ์ ณ สงขลา และ พล.ต.คนึง บุญมณี สังกัดค่ายเสนาณรงค์ หาดใหญ่ เป็นโค้ช และยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอยนาม สมัยนั้นจะมีทีมงาน ทำเองกันทุกอย่าง ตั้งแต่ปูสนามแข่งขัน การจัดการแข่งขัน พิธีเปิด-ปิด การมอบเหรียญรางวัล เป็นผู้ร่วมดำเนินการช่วยทำทุกอย่างในการแข่งขัน ทำให้มีประสบการณ์อยู่กับกีฬาปันจักสีลัตมาเกือบ 30 ปี (ปี 36 - ปี 66)”
“ผมไม่ทำทีม ไม่มีนักกีฬาลงแข่ง แต่สอนเป็นวิทยากรให้ความรู้ในการเล่นและกติกา โดยผู้ใหญ่ในสมาคมปันจักสีลัตแห่งประเทศไทยได้ส่งไปสอบผู้ตัดสินเพื่อพัฒนาอบรมผู้ตัดสินในระดับนานาชาติ ต้องขอขอบคุณสมาคมปันจักสีลัตแห่งประเทศไทยที่ได้ให้การสนับสนุนเพื่อเข้าอบรมผู้ตัดสิน”
เมื่อได้เป็นผู้ตัดสินสมความตั้งใจ ด.ต.นิอารง ก็ตั้งปณิธานที่แน่วแน่ในการปฏิบัติหน้าที่
ต้องตั้งมั่นตัดสินให้ยุติธรรม นักกีฬาซ้อมหนัก จะมาแพ้เพราะผู้ตัดสินไม่ได้ ต้องให้ความยุติธรรมกับนักกีฬา เป็นไปตามกติกาให้มากที่สุด ไม่กังวลในการตัดสิน ซึ่งจะให้ความรู้ความเข้าใจและสอนทุกคนเกี่ยวกับกติกาในการแข่งขันและเทคนิคการต่อสู้ เทคนิคที่ใช้ในการแข่งขัน”
ด.ต.นิอารง ทำหน้าที่ผู้ตัดสินมาตลอด ได้ไปตัดสินในต่างประเทศครั้งแรกในระดับกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่มาเลเซีย และสิงคโปร์ กีฬาซีเกมส์ที่เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชา ชิงแชมป์โลกที่อินโดนีเซีย สลับกับเดินสายในประเทศไทยที่ จ.เชียงราย และ จ.ภูเก็ต ไปต่อสิงคโปร์ และกีฬาเอเซียนเกมส์ที่จาร์กาตาร์ อินโดนีเซีย เวิลด์ปันจักสีลัตที่เกาหลีใต้ เวิลด์บิชส์ที่ดาหนัน เวียดนาม และแมตท์แข่งขันระดับนานาชาติทั้งไทยและต่างประเทศ
“เมื่อได้ไปตัดสินบ่อย มีผลงาน ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้ตัดสิน ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานผู้ตัดสิน ต้องรับผิดชอบการเป็นผู้ตัดสิน ส่วนงานสมาคมฯ เราก็ร่วมพัฒนาผู้ตัดสิน สร้างนักกีฬาทุกภาคทั่วไทย อบรมผู้ตัดสินทุกภาค เพื่อสร้างนักกีฬาปันจักสีลัตให้มากขึ้นในเมืองไทย และส่งผู้ตัดสินเพื่อไปสอบเป็นผู้ตัดสินระดับนานาชาติ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย”
"เมื่อท่านภานุ อุทัยรัตน์ เป็นนายกสมาคมปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย (นายกคนปัจจุบัน, สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.) ท่านให้ความสำคัญ สนับสนุนกีฬาประเภทนี้อย่างมาก ถือว่าเป็นกีฬาพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้และอาเซียน กีฬาชนิดนี้ขยายสู่ทุกภาคของประเทศได้อย่างรวดเร็ว ผลจากการมีชมรมมีนักกีฬาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญมีผลงานการแข่งขันระดับนานาชาติมาโดยตลอด ทุกแม็ตช์การแข่งขัน นักกีฬาไทยมีเหรียญติดมือเกือบจะทุกครั้ง”
ในมิติของการทำหน้าที่ผู้ตัดสิน ด.ต.นิอารง เล่าประสบการณ์ตรงของตัวเอง
“ในหน้าที่ประธานผู้ตัดสิน ต้องนั่งอยู่ด้านหน้า มีหน้าที่ในการควบคุมเกมการแข่งขัน ให้นักกีฬาเข้าสนาม รับผิดชอบหมดทั้งการแข่งขัน การประท้วง การบาดเจ็บ ให้เป็นไปตามกติกานานาชาติ ควบคุมการเล่นที่เกี่ยวข้องในการแข่งขันแต่ละคู่ ไม่ว่าจะเป็นประเภทต่อสู้ และประเภทร่ายรำ(TGR) ควบคุมเวลา คะแนนของผู้ตัดสิน เมื่อประท้วง จับเวลา แจ้งให้สัญญาณ กดเวลา ลุกไปไหนไม่ได้ ต้องควบคุมเกมให้เป็นไปตามกติกาให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด ให้ดูที่มุมว่ามุมแดงหรือมุมน้ำเงินเป็นผู้ที่ทำงานได้ดีกว่า ภายใต้กติกาที่ยุติธรรมที่สุด”
“ในการแข่งขันนานาชาติ จะมีประธาน 3-4 คนสลับกัน เช่น มาเลย์แข่งกับอินโดฯ มีประธานไทยคุมเกม ไม่ให้ชาติเดียวกันนั่งเป็นประธานหรือผู้ตัดสิน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขัน”
การเป็นประธานผู้ตัดสินก็มีที่มา ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย เพราะต้องผ่านหลายด่าน หลายระดับ
"ผู้ตัดสินที่สอบผ่านได้ในระดับต้น คือระดับ 3 ระดับ 2 กระทั่งระดับสูงสุด ระดับ 1 สามารถตัดสินได้ทั่วโลก ได้รับค่าตัดสินตามที่สมาพันธ์ (PERSILAT) เป็นผู้กำหนดไว้ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีรายได้ รวมทั้งนักกีฬาที่ชนะการแข่งขันในรายการต่างๆ ก็มีเงินรางวัลและเงินอัดฉีดจำนวนมากโดยปัจจุบันมีนักกีฬาปันจักสีลัตจากชายแดนใต้ได้แชมป์ระดับโลกหลายคน เป็นต้นแบบให้นักกีฬาทั่วทุกภาคได้ขยายตัวกว่า 200 ชมรมในทุกภาคของประเทศไทย”
สำหรับกีฬาปันจักสีลัต ต้องแต่งกายอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม นักกีฬาหญิงต้องปกปิดทุกส่วน ขณะที่นักกีฬาชายใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ชุดเป็นสีดำ คล้ายเทควันโด จะมีเกราะป้องกันที่สวมใส่ขณะแข่งขัน มีสนับแขน และขา มีฟันยาง มีกระจับเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
ประเภทร่ายรำจะมีการแต่งชุดผ้าสัมเป็ง และผ้าโพกหัว แต่งหน้าได้ (TGR) เป็นประเภทร่ายรำ นักกีฬาต้องจำบทให้ได้ มีความอ่อนไหวสวยงาม แต่มีความแข็งแรง ว่องไว พลิ้วไหว ในกระบวนร่ายรำ 100 กระบวนท่า ท่ามือเปล่าและมีอาวุธมีด รวมทั้งไม้พลองประกอบ โดยมีต้นสำนักมาจากอินโดนีเซียหรือในกลุ่มอาเซียน เป็นศิลปะการต่อสู้ชนิดหนึ่งที่มีศิลปะการเคลื่อนไหว ทักษะการใช้มือและอาวุธในการป้องกันตัว จนสามารถพัฒนามาเป็นกีฬาจนถึงปัจจุบันนี้ และก็ยังมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
หน้าที่รับผิดชอบอีกด้านของ ด.ต.นิอารง คือการเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เขารับผิดชอบด้านข้อมูลคนต่างด้าว การตรวจเรือตรวจการณ์ ตรวจเอกสารหนังสือเดินทางและวีซ่า ตลอดจนการผลักดันส่งกลับ ตาม พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประสานงานด้วยการสื่อสารได้หลายภาษาร่วมกับกลุ่มงานอื่น
"เมื่อมีรายการแข่งขัน จะมีหนังสือจากสมาคมปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย หน่วยงานมหาวิทยาลัย สถาบันต่างๆ และการกีฬาแห่งประเทศไทย แจ้งมายังสำนักงาน ซึ่งหัวหน้าและผู้บังคับบัญชาก็อนุญาตให้ไปทำหน้าที่ได้ทั้งในและต่างประเทศ" ถือว่าเป็นงานอาสาสมัครที่เสียสละเพื่อสังคม ทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อการพัฒนาเยาวชนในสังคมให้มีการเล่นกีฬา พัฒนาคุณภาพชีวิตและถือเป็นการป้องกันยาเสพติดให้กับกลุ่มเยาวชนและประชาชน รวมทั้งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับหน่วยงานและประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย”
เรื่องราวชีวิตและงานของ ด.ต.นิอารง นับว่าน่าสนใจ สะท้อนว่าทุกคนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้ และยังสามารถแบ่งเวลา ทำสองภารกิจพร้อมกันได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ขอเพียงมีความรับผิดชอบและความตั้งใจ...