คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ขาดว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ใน 4 มาตราสำคัญ (มาตรา 22-25) ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.66 เป็นการตรา พ.ร.ก.โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น
เรื่องนี้กำลังกลายประเด็นประเด็นที่บางฝ่ายหยิบยกมาเป็นข้อต่อสู้กับตำรวจ กรณีมีการจับกุม แต่ไม่มีการบันทึกภาพและเสียงขณะจับและสอบปากคำ ซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับไว้ในกฎหมาย
หนึ่งในนั้นที่กำลังเป็นข่าวดังคือ “ทนายพัช” นางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ ทนายความของ “แอม ไซยาไนด์” ที่ออกมาให้ข่าวทำนองว่าจะฟ้องร้อง “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และนายตำรวจชุดจับกุม “แอม ไซยาไนด์” โดยอ้างว่าไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน
ประเด็นสำคัญที่คาดว่า “ทนายพัช” เตรียมหยิบมาใช้ อยู่ที่ มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ซึ่งระบุว่า “ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป”
แต่ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ (ทั้งช่วงที่เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย และช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกพระราชกำหนดไปแล้ว) เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ 100% เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่ามีงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพอีก 37,000 ตัว เพื่อส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงาน จึงอาจทำให้ผู้ถูกจับกุมย้อนเกล็ดยื่นฟ้องต่อศาล เอาผิดเจ้าหน้าที่ฐานจับกุมควบคุมตัวโดยมิชอบ หรือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้
@@ “ท่านเปา" ชี้ "ยกฟ้อง" ทุกคดี เจ้าหน้าที่ไม่ผิด
แหล่งข่าวระดับสูง ซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม อธิบายเรื่องนี้ว่า ถึงแม้มาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาก็ตาม แต่ก็ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ด้วยว่า "ถ้ามีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุไว้เป็นหลักฐานในการควบคุมตัว”
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ก็แค่ลงบันทึกเหตุสุดวิสัยว่า ไม่มีการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมคุมตัวผู้ต้องหาเพราะไม่มีกล้อง เนื่องจากหน่วยงานไม่มีงบประมาณจัดซื้อเท่านั้นเอง ก็จะไม่เป็นผลให้การจับกุมเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ผู้พิพากษารายนี้บอกทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้ามีการฟ้องคดีลักษณะนี้เข้ามาในช่วงนี้ คาดว่าศาลจะพิพากษายกฟ้องหมดทุกคดี เพราะทราบดีถึงความจำเป็นของตำรวจ
@@ เปิดนิยาม “เหตุสุดวิสัย” ไม่ต้องบันทึกภาพขณะจับ
ก่อนหน้านี้ “ศูนย์ข่าวอิศรา” ได้รายงานไปแล้วว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่างแผนผังการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ที่จัดทำโดย พ.ต.อ.ดร.ฤทธิชัย ช่างคำ วิทยากรกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการระบุถึงความหมายของการจับ ข้อยกเว้น และเหตุสุดวิสัยต่างๆ ที่อาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายด้วย
เริ่มจาก “การจับและควบคุมตัว” หมายถึง จับความผิดซึ่งหน้า, จับตามหมายจับ, ควบคุมระงับเหตุต่างๆ
-การจับและควบคุมตัว ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวไป...เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย
เหตุสุดวิสัยมีอะไรบ้าง
1.ไม่ได้พกอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์ชำรุด เห็นความผิดซึ่งหน้า หากเนิ่นช้าเกรงว่าผู้กระทำผิดจะหลบหนี
2.กำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจับ ควบคุมตัว
3.จับโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะเกิดเหตุไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เวร หรือไม่มีหน้าที่โดยตรง
4.ผู้ถูกจับ ต่อสู้จัดขวางขณะเข้าทำการจับกุม ควบคุมตัว หากถ่ายภาพและเสียงอาจเกิดอันตรายแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ
5.เหตุอื่นๆ
-เมื่อจับและควบคุมตัวแล้ว ต้องทำบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุม มีรายละเอียดคือ 1.วัน เวลา สถานที่ควบคุม 2.เจ้าหน้าที่รัฐผู้ออกคำสั่งให้ควบคุม 3.ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุม 4.ข้อกล่าวหาหรือพฤติการณ์การจับ
โดยในบันทึกการจับกุม/ควบคุม ต้องแจ้งสิทธิผู้ถูกจับกุม แจ้งญาติ จึงต้องมีบันทึกแจ้งสิทธิตามที่กำหนดในกฎหมาย มีแบบฟอร์มหรือวิธีการแจ้งญาติให้ทราบถึงสถานที่ควบคุม เพราะญาติมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลการควบคุมตัว
-หลังจากการจับและควบคุม ต้องแจ้งอัยการและฝ่ายปกครองในท้องที่ที่มีการควบคุมโดยทันที แบ่งเป็น
อัยการ ใน กทม.แจ้ง ผอ.สำนักการสอบสวนและนิติการ, ในต่างจังหวัด แจ้งสำนักงานอัยการจังหวัด
ฝ่ายปกครอง ใน กทม. แจ้ง ผอ.สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, ในต่างจังหวัด แจ้งนายอำเภอท้องที่
@@ เผยเตรียมฟ้องอีก 2 คดี - ร้องเรียน 900 เรื่อง
มีรายงานจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า อัยการซึ่งเป็นหน่วยงานรับประสานข้อมูลจากตำรวจ เมื่อมีการจับกุม คุมขัง ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ปรากฏว่าหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ มียอดเรื่องร้องเรียนไปถึงอัยการแล้วถึง 900 เรื่อง แต่รับคำร้องแค่ 2 เรื่อง
คือที่ จ.สุรินทร์ เป็นคดีตำรวจจับเยาวชน และอีกคดีหนึ่งที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งหากมีการยื่นฟ้องต่อศาล ก็จะเป็น 2 คดีแรกของประเทศไทยที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน