เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชายแดนภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า การก่อเหตุป่วนในช่วงก่อนเลือกตั้งเพียง 2-3 วัน เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.อย่างแน่นอน
คาดว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงมวลชนของตน ไม่ใช่สร้างความหวาดกลัว แต่ส่งสัญญาณว่า...
-ต้องสนับสนุนการเลือกตั้ง เพราะมีการเขียนป้ายผ้าว่า “ประชาธิปไตย เท่ากับ สันติภาพปาตานี”
-ไม่สานต่อโต๊ะพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ยอมเข้าร่วมประชุม “คณะทำงานเทคนิค” และแถลงชะลอการพูดคุยออกไปอย่างไม่มีกำหนด อ้างรอการเลือกตั้งในไทยก่อน และยังอ้างถึงสิ่งที่เรียกว่า “สันติภาพเชิงบวก” ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งด้วย
-ฝ่ายขบวนการที่อ้างแนวทางแบ่งแยกดินแดน เชื่อตามผลโพลว่าฝ่ายเสรีนิยมน่าจะชนะเลือกตั้ง และจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน เพราะจะสามารถเจรจาตามข้อเรียกร้องที่ตนเองต้องการได้ง่ายขึ้น หรือมีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบด้วย
1.ยกเลิกกฎหมายพิเศษได้ เพราะเป็นนโยบายของพรรคฝ่ายค้านเดิมทุกพรรค (ฝ่ายเสรีนิยม)
แต่ก็ต้องไม่ลืมข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า ตอนที่พรรคเหล่านี้บางพรรคเป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ แต่กฎหมายพิเศษยกเลิกพื้นที่การบังคับใช้มากที่สุดในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า สถานการณ์ ณ วันนั้นกับวันนี้แตกต่างกัน หากพรรคฝ่ายค้านเดิมได้เข้ามาเป็นรัฐบาล อาจจะหยิบยกเรื่องกฎหมายพิเศษขึ้นมาทำอย่างจริงจังก็ได้ และก็ต้องกล่าวตรงๆ ว่าวิธีการลดพื้นที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนัก หากพิจารณาในแง่ของการเคารพสิทธิมนุษยชน
2.กดดันให้ถอนทหารหรือลดกำลังทหารลง เพราะเป็นนโยบายของพรรคฝ่ายค้านเดิมเกือบทุกพรรคเช่นกัน
แต่ก็ต้องให้ข้อมูลอีกด้านด้วยว่า ในรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา ได้มีการลดจำนวนทหารหลัก และเปลี่ยนเป็นกองกำลังประจำถิ่นเข้าไปทดแทนจำนวนมากอยู่แล้ว
ขณะที่การถอนทหาร ยกเลิกด่านตรวจ ยังมีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าจะทำให้ผู้ก่อความไม่สงบมีเสรีในการก่อเหตุมากขึ้นหรือไม่ และใครจะรับผิดชอบหากสถานการณ์เลวร้ายลง
3.ตัดงบกลาโหมและงบความมั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคฝ่ายค้านเดิมทุกพรรคอีกเช่นกัน ซึ่งก็จะทำให้พลังอำนาจของกองทัพลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กองทัพ หรือฝ่ายความมั่นคง อาจจะไม่ได้มีบทบาทนำอีกต่อไป
4.หวังว่าการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะหากเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมเข้ามาเป็นรัฐบาล อย่างน้อยกลุ่มขบวนการ หรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ อาจจะได้ “เขตปกครองตนเองแบบพิเศษ” เป็นคำตอบของการยุติปัญหาไฟใต้ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงคัดค้านมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าข้อเรียกร้องจะไม่หยุดแค่ “เขตปกครองพิเศษ” แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของข้อเรียกร้องที่หนักและแรงกว่านั้นต่อไป เช่น ทำประชามติแยกดินแดนตั้งรัฐใหม่
หากรัฐบาลชุดใหม่เดินเกมผิดพลาด หรือให้น้ำหนักของปัญหาผิดแผกไปจากปัจจุบัน เรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นอ้างสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กลับต่อสู้กับรัฐไทยด้วยการใช้อาวุธและความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยซึ่งต้องเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้ถืออาวุธ