บีอาร์เอ็น แถลงการณ์ผ่านคลิปวีดีโอใน YouTube อ้างไม่ได้ล้มโต๊ะพูดคุยเจรจาสันติภาพ-สันติสุข แต่สาเหตุที่ไม่ความคืบหน้าเพราะรัฐบาลไทยจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เชื่อว่ากระบวนการสันติภาพจะได้ผลดีกว่าหลังไทยมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและมีความจริงจังชัดเจน
เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น ได้เผยแพร่คลิปแถลงการณ์ทาง YouTube เพื่อชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หยุดชะงักไป
โดยข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ระบุไปในทางเดียวกันว่า เป็นเพราะบีอาร์เอ็นแจ้งชะลอการพูดคุย ไม่ร่วมพบปะ “คณะทำงานเทคนิค” โดยอ้างว่าเพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทย ขณะที่บางสื่อตั้งข้อสังเกตว่า บีอาร์เอ็นต้องการล้มโต๊ะพูดคุยหรือไม่ และมีข้อสังเกตจากบางฝ่ายว่า บีอาร์เอ็นอาจมีปัญหาภายใน เพราะมีกระแสข่าวเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุย
สำหรับคลิปแถลงการณ์ของโฆษกบีอาร์เอ็น พูดเป็นภาษามลายู และมี อาจารย์ฮารา ชินทาโร อดีตอาจาย์ ม.อ.ปัตตานี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู เป็นผู้แปลแบบถอดความ
เนื้อหาโดยสรุปของแถลงการณ์มีดังนี้
-การเจรจาสันติภาพครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 20-21 ก.พ.66 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายระหว่างทั้งสองฝ่ายจนถึงวันนี้
-หลังจากนั้นไม่มีความคืบหน้าตามสาเหตุบางอย่างที่เกี่ยวกับฝ่ายรัฐบาลไทยที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66
-เพื่อรักษาพลวัตของกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่นานนี้ พวกเรา (บีอาร์เอ็น) หวังว่ากระบวนการสันติภาพจะมีผลที่ดีกว่าหลังจากฝ่ายไทยจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและมีความจริงจังที่ชัดเจน
-เชื่อว่าจะสามารถสร้างบรรยากาศเชิงบวกได้ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี อย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาค (สันติภาพเชิงบวก)
-ยกตัวอย่างสัญญาณเชิงบวกที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ ในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับบังสาโมโร บนเกาะมินดาเนา, ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับอาเจะห์ และที่ติมอร์เลสเต (ติมอร์ตะวันออก)
-แม้แต่รัฐบาลมาเลเซียเองก็มีประสบการณ์ในการแก้ไขความขัดแย้งที่รัฐซาบาห์และซาราวัก
-ทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจนถึงสามารถนำสันติภาพให้แก่คนในชาติและสังคมได้
อีกด้านหนึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นที่เป็นหนึ่งในคณะพูดคุยฯ ได้รับการยืนยันว่า บีอาร์เอ็นไม่ได้ล้มโต๊ะเจรจา และไม่เคยต้องการหยุดพูดคุยเพื่อสันติภาพ ข่าวที่ออกมาว่าบีอาร์เอ็นล้มโต๊ะเจรจาเป็นเรื่องไม่จริง รัฐไทยต้องการทำลายเครดิต และอาจเป็นเรื่องของการหาเสียงแบบ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ข่าวการล้มโต๊ะเจรจาไม่เป็นความจริง บีอาร์เอ็นมีจุดยืนชัดเจนและได้ประกาศมาตลอดว่า ต้องการเจรจากับรัฐบาลที่มีความจริงใจ
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า บีอาร์เอ็นมีเจตนาดึงเกมการพูดคุยฯมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ เพราะมีการยกเลิกกำหนดการของ “คณะทำงานเทคนิค” ที่นัดพบปะกันช่วงกลางเดือน มี.ค. เพื่อหารือในรายละเอียดภายใต้กรอบ JCPP โดยอ้างเหตุผลว่า ฝ่ายกองกำลังของไทยเปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ในช่วงที่มีการพูดคุยแบบเต็มคณะ เมื่อวันที่ 21-22 ก.พ.66 ซึ่งถือว่ารัฐบาลไทยไม่มีความจริงใจในการลดความรุนแรง
ขณะเดียวกันก็มีข่าวบางกระแสระบุว่า บีอาร์เอ็นมีปัญหาภายในเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ อาจมีการเปลี่ยนตัวแกนนำบางคน หรือหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น จึงพยายามเลื่อนการพูดคุยออกไปก่อน ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น
นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุผลเรื่อง “การเลือกตั้ง” เพราะอาจมีการอ่านเกมว่า ฝ่ายค้านจะชนะฝ่ายรัฐบาล และมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอาจตอบสนองบีอาร์เอ็นมากกว่ารัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับ JCPP ที่มีการพูดถึง คือ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุยให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ง
มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า ในคำแถลงและคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำบีอาร์เอ็น ไม่ได้บอกให้ชัดว่า รัฐบาลที่มีความจริงใจคือรัฐบาลชุดไหน หรือใครต้องเป็นรัฐบาล หรือรัฐบาลที่บีอาร์เอ็นมองว่าจริงใจ คือรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์การพูดคุยให้กับฝ่ายตนมากกว่า อย่างนั้นหรือไม่ เพราะบีอาร์เอ็นชะลอการพูดคุยทั้งๆ ที่กระบวนการกำลังเดินหน้า