กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 12 ราย ในคดีจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 ของสำนักงานจังหวัดยะลา ซึ่งมีการจัดซื้อจำนวน 2 สัญญาโดยมิชอบ หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยหนึ่งในจำเลย คือ นายธีระ มินทราศักดิ์ หรือ “ผู้ว่าฯเดร์” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีนั้น
อดีตผู้ว่าฯเดร์ ถือเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงคนแรกๆ ที่โดนศาลพิพากษาจำคุกในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก จีที 200 แม้จะยังเป็นเพียงศาลชั้นต้น อดีตผู้ว่าฯยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด แต่ข่าวที่ออกมาก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
“ทีมข่าวอิศรา” จึงลงพื้นที่ไปยังบ้านของ นายธีระ หรืออดีตผู้ว่าฯเดร์ ซึ่งพื้นเพเป็นคนปัตตานี และมีบ้านอยู่ตรงข้ามมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี เข้าซอยไปเล็กน้อย เพื่อสอบถามถึงคดีและข่าวที่ออกมา
โดยบ้านของอดีตผู้ว่าฯ เป็นบ้านหลังโตโอ่อ่า ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินผืนใหญ่ หน้าบ้านเขียนป้ายว่า “บ้านมินทราศักดิ์” ทีมข่าวได้ไปถึงหน้าประตูบ้าน พบว่าประตูชั้นนอกปิด ส่วนด้านในบ้านปิด ไม่มีใครอยู่หน้าบ้าน
ผู้สื่อข่าวได้กดกริ่งหน้าบ้าน แต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงตะโกนเรียกเป็นภาษาถิ่น โดยการให้สลาม แต่ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ
จากการสอบถามชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ได้ข้อมูลว่า ไม่ทราบว่าอดีตผู้ว่าฯอยู่หรือไม่ บ้านปิดตลอด ถ้าอยากพบก็ต้องเรียก แต่ถ้าเรียกแล้วไม่ออกมา ก็คงไม่ได้ยิน อาจจะไม่อยู่ พร้อมแนะนำให้ผู้สื่อข่าวใช้โทรศัพท์โทรหา
สอบถามชาวบ้านอีกคนหนึ่ง ได้ความว่า อดีตผู้ว่าฯเดร์ ไม่น่าจะอยู่ในบ้าน ปกติก็ไม่ค่อยเห็นเหมือนกัน พร้อมกับย้อนถามผู้สื่อข่าวว่าจะคุยเรื่องคดี จีที 200 ใช่หรือไม่ ทีมข่าวถึงถามกลับว่า ทราบข่าวเรื่องนี้แล้วหรือ ชาวบ้านรายนั้นตอบว่า ทราบจากโซเชียลมีเดีย และยังแสดงความเห็นว่า อดีตผู้ว่าฯไม่น่าโดนคดีนี้ เพราะคนที่ใช้และสั่งซื้อเยอะๆ เป็น “หน่วยมีสี” มากกว่า และยังนำมาตรวจละเมิดสิทธิประชาชน ชาวบ้านร้องเรียนก็ไม่เคยสนใจ
@@ เผยจำเลยที่เหลือเกษียณหมดแล้ว เหลืออีก 1 เป็นผู้ว่าฯในภาคใต้
ทีมข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานจังหวัดยะลา ทราบว่า การจัดซื้อเกิดขึ้นช่วงที่ นายธีระ มินทราศักดิ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และมีอดีตผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดยะลา ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ร่วมอยู่ด้วย และยังอยู่ในราชการ ส่วนคนอื่นๆ ที่ศาลตัดสินอีกสิบกว่าคนนั้น เกษียณอายุราชการไปหมดแล้ว
“เรื่องนี้ผู้ปฏิบัติระดับล่างมีความเสี่ยงมาก หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นบทเรียนให้กับผู้ปฏิบัติที่จะต้องมีความรอบคอบในการทำงาน แต่ผู้น้อยทำงานระวังแค่ไหนก็ยากจะหนีปัญหาได้ เพราะต้องทำตามผู้บังคับบัญชาสั่ง”
@@ ศาลสั่งคุก "อดีตผู้ว่าฯยะลา" 8 ปี ไม่รอลงอาญา
สำหรับคดีจัดซื้อ จีที 200 ที่เกี่ยวข้องกับอดีตผู้ว่าฯยะลานั้น นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยในวันที่ 2 พ.ค.ว่ าได้รับรายงานคดีสำคัญจาก นายชัยวัฒน์ สุวรรณยอด อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 ว่า วันนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้มีคำพิพากษาลงโทษ นายธีระ มินทราศักดิ์ อดีตผู้ว่าฯยะลา กับพวกรวม 12 คน คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 ยื่นฟ้องจำเลยทั้งหมด ปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที 200 ของ สำนักงานจังหวัดยะลา 2 สัญญา
โดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุก นายธีระ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2-4 เป็นเวลา 4 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 8 เดือน 48 วัน ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 6-7 เป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน 48 วัน ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 8 -12 เป็นเวลา 4 ปี เเละพิพากษาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1
โดยการอ่านคำพิพากษาวันนี้เป็นการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ตามขั้นตอนจำเลยยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีไปยังศาลสูงต่อไปได้
@@ “คุณหญิงหมอ” ถามหามาตรฐาน
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามไปยัง แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งถูก ป.ป.ช.ลงมติยื่นฟ้องเองในคดีจีที 200 เช่นกัน โดย “คุณหญิงหมอ” มองว่า การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ดูเหมือนไม่ค่อยมีมาตรฐาน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 มี.ค.66 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติเอกฉันท์ให้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเองในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ในส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 สัญญา ซึ่งปรากฏชื่อ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา ถูกชี้มูลำความผิดทางอาญาด้วย ทั้งๆ ที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคุณหญิงหมอ เนื่องจากพบข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนการสอบสวน
“ป.ป.ช.เอาหลักอะไรในการชี้มูล หน่วยงานของหมอซื้อเหมือนกับอีกหน่วยงานหนึ่ง แต่ ป.ป.ช.ไม่ชี้มูล หรืออย่างกรมศุลกากร ศาลยกฟ้อง ตัดสินไปก่อนหน้านี้ 1-2 เดือน สุดท้ายมาตรฐานตรงนี้จะเป็นอย่างไร เพราะคดีนี้เป็นคดีแรกที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเอง แล้วไม่รู้ว่าสั่งฟ้องด้วยมาตรฐานเดียวกันไม่ ส่วนตัวหมอมองว่าไม่เป็นธรรม อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง แต่ ป.ป.ช.กลับมาฟ้องเอง”
“เรื่องแบบนี้มันทำลายชีวิตคน คนทำต้องรับกรรม เราก็ทำหน้าที่ สู้ต่อไป ก็ขอสู้เต็มที่ และสู้ให้เด็กๆ ด้วย (หมายถึงเจ้าหน้าที่สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์)” แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าว
@@ ย้อนปูม 38 สัญญา ละลาย 700 ล้าน ทบ.หนักสุด
สำหรับคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่อง จีที 200 และ อัลฟ่า 6 (อัลฟ่า ซิกส์) ในฐานะเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. มีทั้งสิ้น 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 100 ราย และเมื่อวันที่ 19 ก.ค.64 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดไปแล้ว 20 สำนวน ส่วนอีก 5 สำนวนที่เหลือให้ไต่สวนใหม่ ภายหลังกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้
ไต่สวนใหม่มานาน แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า กระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.66 ชี้มูลกรณีของหน่วยงานสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมี คุณหญิงหมอพรทิพย์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบัน
ที่ผ่านมามีหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 10 แห่งที่จัดซื้อเครื่อง จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ได้แก่
กองทัพบก
กองทัพเรือ
กองทัพอากาศ
กรมราชองครักษ์
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท
สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน
อบจ.สระแก้ว
อบจ.สมุทรปราการ
และกรมศุลกากร
รวม 38 สัญญา 848 เครื่อง วงเงิน 767.106 ล้านบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า “กองทัพบก” เป็นหน่วยงานที่ขออนุมัติจัดซื้อมากที่สุดจำนวน 12 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 682.60 ล้านบาท ตามมาด้วยกองทัพเรือ จำนวน 8 สัญญา จำนวน 38 เครื่อง วงเงิน 39.30 ล้านบาท, กองทัพอากาศ จำนวน 7 สัญญา จำนวน 26 เครื่อง วงเงิน 20.89 ล้านบาท
ราคาเฉลี่ยมีทั้งแต่ 4-5 แสนบาทต่อเครื่อง ไปจนถึงหลักล้าน ทั้งๆ ที่ต้นทุนอยู่ที่หลักไม่ถึงร้อยบาทเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาไม่มีการชี้มูลความผิดหัวหน้าหน่วยงานของกองทัพแต่อย่างใด