ช่วงนี้ใครที่สัญจรผ่านไปผ่านมาตามหมู่บ้านต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องตื่นตาตื่นใจกับสิ่งปลูกสร้างที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศิลปะมลายูอันแปลกตา ที่เรียกกันว่า “ซุ้มประตูชัย” หรือ Pintu Gerbang จะออกเสียงเป็นภาษามลายูว่า “ปินตู กรือบัง” หรือ “ปินตู ฆรือบัง” หรือ “ปินตู กืรบัง” ก็ได้ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
“ซุ้มประตูชัย” เป็นซุ้มทางเข้าชุมชนหรือหมู่บ้าน เป็นวัฒนธรรมที่มีความสำคัญเชิงอัตลักษณ์ของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ว่าในช่วงเดือนรอมฎอน เยาวชนและคนหนุ่มสาวในแต่ละหมู่บ้าน จะร่วมแรง ร่วมใจ และรวบรวมกำลังทรัพย์ ช่วยกันสร้าง “ซุ้มประตูชัย” ขึ้นมาในพื้นที่หมู่บ้านตนเอง
“ปินตู กรือบัง” นอกจากจะเป็นซุ้มที่แสดงถึงอัตลักษณ์และศิลปะแห่งดินแดนมลายูแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย
อย่างที่บ้านเจาะกลาดี หมู่ 8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา ก็มี “ซุ้มประตูชัย” ปลูกสร้างด้วยไม้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ มีปืนใหญ่ที่ทำให้นึกถึง “ปืนพญาตานี” อันลือลั่นในอดีต ประดับด้วยกริช ซึ่งเป็นอาวุธคู่กายที่แสดงถึงศิลปะของดินแดนแห่งนี้
“ซุ้มประตูชัย” ที่บ้านเจาะกลาดี ประดับไฟงดงามในเวลาค่ำคืนด้วย
ส่วนที่บ้านบังนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา เยาวชนมุสลิมได้ร่วมกับชาวบ้านกว่า 100 คน ใช้เวลาว่างในเดือนรอมฎอนหลังจากละศีลอดในแต่ละวัน หรือหลังละหมาดตะรอเวียะห์ (ละหมาดในช่วงเดือนรอมฎอน) ร่วมกันสร้างประตูชัยเพื่อต้อนรับเทศกาลฮารีรายออีฎิลฟิตตรี ฮิจเราะห์ศักราช 1444
ตลอดเดือนรอมฎอนที่มีการลงมือลงแรงกันก่อสร้าง ได้รับกำลังใจจาก ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยะรม และ ชาวบ้านในพื้นที่ ช่วยสนับสนุนเป็นอย่างดี อะไรที่ขาดเหลือขอให้บอก ก็จะจัดหามาให้
นัทมุดีน บาสะนุง ประธานกลุ่มเยาวชนมุสลิมบ้านบังนังสิแน เล่าว่า ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน กลุ่มเยาวชนได้ร่วมหารือกับ มานิส อาบา ผู้ใหญ่หมู่ 7 ต.ยะรม และชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะร่วมกันสร้าง “ปินตู กืรบังมลายู” เพื่อต้อนรับเทศกาลฮารีรายอ ปรากฏว่าทุกคนตอบตกลง จึงขอใช้พื้นที่สนามหญ้าของเอกชน อยู่ตรงข้ามตลาดนัดบันนังสิแน และทางเข้า อบต.ยะรม ในการก่อสร้าง พร้อมเปิดบัญชีธนาคารขอรับเงินสนับสนุน เพื่อนำเงินไปซื้ออุปกรณ์สำหรับก่อสร้าง และแบ่งหน้าที่กันทำ
“โครงสร้างของซุ้มประตูทางเข้า-ออก พร้อมกำแพง ได้แรงบันดาลใจมาจากมัสยิดอาหรับในประเทศซาอุดิอาระเบีย ส่วนหลังคาเป็นสถาปัตยกรรมแบบมินังกาเบา ของประเทศอินโดนีเซีย มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมประเทศอินโดนีเซีย และสะพานข้ามคลองเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมสร้างปืนใหญ่คู่ตั้งใว้หน้าประตูซุ้มทางเข้า-ออก ตกแต่งด้วยโคมไฟหลากสี”
“ปินตู กืรบัง ของเรามีความสูง 10 เมตร ยาว 30 เมตร วัสดุส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่และไม้ตาลที่มีความแข็งแรงทนทาน หาได้ง่ายในพื้นที่เบตงบ้านเรา” นัทมุดีน กล่าวอย่างภูมิใจ
เขาเล่าด้วยว่า ตลอดช่วงเวลาของการทำงาน มีผู้ใหญ่ใจดีและชาวบ้านสนับสนุนเงิน ซื้ออาหารและขนมไว้ให้ละศีลอด เพราะเห็นความตั้งใจ ความสมัครสมานสามัคคีของทุกคน ที่อดหลับอดนอนเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้แก่ชุมชนของเรา และรอดูความสำเร็จไปพร้อมๆ กัน”
ด้าน นายก อบต.ยะรม ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา บอกว่า ประทับใจในความตั้งใจของชาวบ้านและ น้องๆ กลุ่มเยาวชน น่าชื่นชมเป็นอย่างมากที่ยอมเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจในการสร้างสรรค์ “ประตูชัย” แห่งวัฒนธรรมมลายู นับเป็นคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน และถือเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง
ใน ต.ยะรม มีการทำ “ปินตู กืรบัง” 5 แห่งด้วยกัน ตนจะจัดประกวดความสวยงามของ “ปินตู กืรบัง” โดยใช้เงินส่วนตัวเป็นรางวัล ผู้ชนะอันดับ 1 จะได้รับเงินรางวัล 4,000 บาท อันดับสอง 3,000 บาท อันดับสาม 2,000 บาท และรางวัลชมเชย 1,000 บาท
@@ รัฐปรับท่าที หันสนับสนุนกิจิกรรมซุ้มประตูชัย แต่งชุดมลายู
ฮารีรายอปีนี้ นับเป็นปีพิเศษสุด เมื่อหน่วยงานภาครัฐอย่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ประกาศสนับสนุนการจัดกิจกรรมรณรงค์แต่งกายชุดมลายู ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
กิจกรรมนี้กลุ่มเยาวชนร่วมกันจัดเป็นปีที่ 2 โดยจะมีการรวมตัวชายแต่งชุดมลายู ในวันรายอที่ 3 ของพี่น้องชาวมลายูในพื้นที่ ซึ่งปีนี้ กอ.รมน.ได้ประกาศให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่คอยอำนวยความสะดวกในเรื่องการจราจร การบริการทางการแพทย์ การบริการอาหาร และเครื่องดื่ม สิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่จัดงาน หลังจากปีที่แล้วมีความไม่เข้าใจเกิดขึ้น มีความพยายามสกัด และกดดันตรวจสอบ
นอกจากนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังได้สนับสนุนการทำประชาสัมพันธิ์ โดยการทำสกู๊ปข่าวเผยแพร่เรื่อง ”ความสวยงาม ณ แดนใต้” โดยเน้นไปที่ “ประตูชัยแห่งความสามัคคี” ส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม ความเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ โดยเน้นไปที่ “ปินตู กีรบัง”
กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังได้จัดทำ “รายการข่าว สันติสุขที่ปลายด้ามขวาน” ตอน “ปินตู กรือบัน” ประตูแห่งวัฒนธรรม ต้อนรับวันฮารีรายอด้วย พร้อมคำอธิบายข้อมูลว่า “ปินตู กรือบัน” ประตูแห่งวัฒนธรรม เพื่อต้อนรับเทศกาลวันฮารีรายอ เป็นกิจกรรมหนึ่งและหลายๆ กิจกรรมที่สำคัญนิยมทำในช่วงเวลากลางคืนในช่วงเดือนรอมฎอน โดยการมาร่วมกันสร้างซุ้มประตูชัย และออกแบบตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละท้องที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” และเป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชน เพื่อสร้างสีสันในช่วงวันเทศกาลวันฮารีรายอ
ขณะเดียวกันก็มีข่าวสนับสนับการแต่งกายชุดมลายู โดยประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านเพจ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ด้วยว่า ชุดมลายูเป็นเสน่ห์ความงดงามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องสะท้อนความภาคภูมิใจในความเป็นมลายู สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นสังคมมลายูที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสังคมที่เปิดรับความแตกต่าง พร้อมจะให้ผู้คนต่างวัฒนธรรมได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์ และยอมรับในการมีตัวตนของกันและกัน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่สวยงาม
สำหรับกิจกรรมการแต่งชุดมลายู จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 24 เม.ย.66 ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี สถานที่จัดงานเมื่อปีที่แล้วนั่นเอง
ด้าน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ก็ตื่นตัวไม่แพ้กัน ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เชิญชวนประชาชนร่วมประกวด “ซุ้มประตูชัย” (Pintu Gerbang) เนื่องในวันฮารีรายออีฎิลฟิตรี 1444ด้วย พร้อมเขียนข่าวประชาสัมพันธ์เชิญชวนอีกด้วย
ผู้ชนะเลิศจากการประกวดจะได้รับรางวัล 30,000 บาท รองชนะเลิศ ได้รับรางวัล 20,000 บาท และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่าอีกกว่า 20,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐ ทั้งอำเภอ หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ ได้ร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมทั้งการสร้าง “ซุ้มประตูชัย” และการแต่งชุดมลายูกันอย่างคึกคัก จนสร้างความแปลกใจให้กับคนในพื้นที่มากพอสมควร สำหรับการปรับท่าทีของหน่วยงานรัฐในครั้งนี้
สำหรับวันจันทร์ที่ 24 เม.ย.66 ถือเป็นวันหยุดราชการของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2556 ตามที่ ศอ.บต.ในยุคที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ กำหนดให้วันตรุษอีฎิลฟิตรี (วันรายอปอซอ) วันตรุษอีฎิลอัฎฮา (วันรายอฮัจยี) และวันตรุษจีน เป็นวันหยุดราชการประจำปีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และ จ.สตูล ทำให้วันจันทร์ที่ 24 เม.ย.66 เป็นวันหยุดชดเชยวันตรุษอีฎิลฟิตรี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 22 เม.ย.66