กระแสวิจารณ์เรื่อง “บีอาร์เอ็น” เบี้ยวนัดพูดคุยวงเล็กกับ “ตัวแทนรัฐบาลไทย” ใน “คณะทำงานเทคนิค” ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงวันที่ 14-17 มี.ค.66 ดังกระหึ่มในพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้ว
ความเคลื่อนไหวนี้ยิ่งสำคัญ เพราะห้วงเวลาของการ “เบี้ยวนัด” ใกล้เคียงกับห้วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม
ขณะที่เดือนรอมฎอนปีนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.66 ก็นับเป็นปีที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหนาแน่นในแง่ของจำนวน โดยเฉพาะห้วง 10 วันสุดท้าย ซึ่งทับซ้อนกับช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์
ทำให้มีการมองเชื่อมโยงกันว่า สถานการณ์ตึงเครียดและเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นถี่ในห้วงเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะ 10 วันสุดท้าย มีเหตุปัจจัยหนึ่งมาจาก “บีอาร์เอ็นเบี้ยวนัด” หรือไม่
และอะไรที่เป็นต้นสายปลายเหตุของการเบี้ยวนัดครั้งสำคัญ จนกลายเป็นความท้าทายว่า โต๊ะพูดคุยฯจะยัง “ไปต่อ” หรือไม่ ในช่วงเข้าไต้เข้าไฟ กำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลแบบนี้
@@ เปิดไทม์ไลน์โต๊ะพุดคุยเสี่ยงชะงัก
ข้อมูลที่เผยแพร่กันในสื่อสังคมออนไลน์สรุปได้แบบนี้...
21.23 ก.พ.66 การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 6 ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ทั้ง 2 ฝ่าย ที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ พล.อ.ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน เป็นผู้ประสานงาน
ผลของการพูดคุย คือทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุยให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง
14-17 มี.ค.66 มีการนัดหมายประชุมของ “คณะทำงานด้านเทคนิค” ของทั้งสองฝ่าย เพื่อทำงานในรายละเอียดต่อจากข้อตกลงของวงประชุมเต็มคณะเมื่อเดือน ก.พ.
ปรากฏว่าฝ่ายไทยไปรอที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่มา
หลัง 17 มี.ค.66 มีข่าวว่า พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ บินด่วนไปหารือกับผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ได้รับแจ้งว่าอาจจะมีการนัดกันใหม่ช่วงเดือนรอมฎอน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวบางคนในคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น
@@ “ปราโมทย์” ยอมรับปมเบี้ยวนัด - ย้ำไม่มีข้อตกลงยุติรุนแรงช่วงรอมฎอน
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถามไปยัง พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เกี่ยวกับข่าวที่ออกมา และมีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ปรากฏว่า พล.ต.ปราโมทย์ ไม่ได้ปฏิเสธข้อมูลที่มีการเผยแพร่
ขณะเดียวกัน รองแม่ทัพภาคที่ 4 อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอการยุติความรุนแรงใน JCPP (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม) ในการประชุมแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 เมื่อเดือน ก.พ. มีกรอบห้วงเวลาที่จะทดลองปฏิบัติตั้งแต่ ก.ค.66 ถึงสิ้นปี 67
“เราไม่ได้เสนอยุติความรุนแรงในห้วงรอมฎอนนะ แต่เป็นการปฏิบัติภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่เพื่อสร้างความปลอดภัย สนับสนุนและอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างบรรยากาศรอมฎอนสันติสุข แต่บีอาร์เอ็นยังคงก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง ดังที่ปรากฏให้เห็นในห้วงรอมฎอนปีนี้” พล.ต.ปราโมทย์ กล่าว
@@ บีอาร์เอ็น แจงเหตุไม่ร่วมวงคณะทำงานเทคนิค อ้างรัฐไม่จริงใจ
“ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายบีอาร์เอ็น เพื่อสอบถามถึงข่าวที่ออกมา ได้รับคำอธิบายว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้บีอาร์เอ็นไม่เข้าร่วมการประชุม “คณะทำงานด้านเทคนิค” เนื่องจากช่วงการพูดคุยแบบเต็มคณะ ระหว่างวันที่ 21-23 ก.พ.นั้น ในวันที่ 21 ก.พ. เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้น ก่อนยิงปะทะผู้ต้องสงสัยในพื้นที่หมู่ 1 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 1 ราย คือ นายอิบรอเฮม สาและ อายุ 42 ปี
“เหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นระหว่างที่คณะพูดคุยฯ กำลังพูดคุยบนโต๊ะ แต่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปปิดล้อม ทำให้มีคนตาย มันไม่ควรเกิดขึ้นในวันนั้น” แกนนำบีอาร์เอ็น กล่าว
และว่า “ฝั่งหนึ่งพูดคุย ฝั่งหนึ่งเจ้าหน้าที่นำกำลังไปปิดล้อมทำให้มีคนตาย มันสมควรแล้วหรือ แบบนี้ไม่มีความจริงใจ” เขากล่าว
ตัวแทนบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุย ยังบอกด้วยว่า เหตุผลรองนอกเหนือจากเรื่องนี้ ยังมีอีกหลายประเด็น แต่เป็นเพียงเหตุผลรอง ซึ่งก็ไม่เป็นไร ขอให้รู้เหตุผลข้อเดียวที่ทำให้ทางคณะไม่ได้ไปร่วมประชุมก็พอ
“จริงๆ แล้วก่อนจะแยกย้ายหลังประชุมเต็มคณะ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ทางบีอาร์เอ็นได้ย้ำถึงประเด็นที่รัฐไทยไม่มีความจริงใจ โดยเฉพาะข้อตกลงต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าบีอาร์เอ็นเห็นร่วมด้วยนั้น ความจริงทางคณะไม่ได้มีการพูดถึงจุดนั้น เพราะรัฐบาลไทยไม่ยอมทำข้อตกลง ทางคณะก็ไม่สามารถไปคุยเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น กรณีที่บอกว่าบีอาร์เอ็นเห็นด้วยกับการปกครองตนเอง ทั้งหมดแค่มีการกล่าวอ้างจากภาครัฐเท่านั้นเอง” แกนนำบีอาร์เอ็น กล่าว
@@ ฝ่ายความมั่นคงยัน “จริงใจ” ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องหลายข้อ
ด้านความเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคง ได้มีการอธิบายถึงความจริงใจของฝ่ายรัฐบาลไทยที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของบีอารเอ็น หรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มีความคืบหน้า เช่น
- ข้อเรียกร้องให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นไปตามโรดแมพที่วางเอาไว้ คือทยอยถอนทหาร ที่ผ่านมาในปี 2559-2560 กองทัพบกได้ถอนกำลังทหารหลักจากกองทัพภาค 1-2-3 กลับที่ตั้ง แล้ว คงมีแต่กำลังทหารของกองทัพภาคที่ 4 ที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และมีจำนวนไม่มาก
ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างความเข้มแข็งให้กับกองกำลัง อส.ประจำพื้นที่ และกองกำลังประจำถิ่น เช่น ชุดคุ้มครองตำบล
- ข้อเรียกร้องให้ปลดป้ายหมายจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 65
- ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกด่านตรวจ ได้ลดลงไปบางส่วนแล้ว แต่ไม่สามารถยกเลิกได้ทั้งหมด เพราะต้องดูแลความสงบเรียบร้อย อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ก็อุ่นใจ โดยในช่วงเดือนรอมฎอนได้ปรับจาก “จุดตรวจ” เป็น “จุดอำนวยความสะดวก” ดูแลความปลอดภัย ใช้ความละมุนละม่อมมากขึ้น
- ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ ที่ผ่านมาได้ยกเลิกอยู่แล้ว คาดว่าภายในปี 2570 จะยกเลิกได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย
- ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการปิดล้อมตรวจค้น เจ้าหน้าที่ก็ลดระดับลงแล้ว ยกเว้นการปิดล้อมตรวจค้นจากเหตุเฉพาะหน้า หรือที่จำเป็น แต่ยังมีการลาดตระเวน เพื่อรักษาความปลอดภัย