“หมอแว” เผยเส้นทางกลับสู่สนามการเมือง เหตุ “ลุงป้อม” ชวนเข้าพรรคพลังประชารัฐ หวังดูแลด้านสาธารณสุขให้ชาวบ้านชายแดนใต้ พร้อมดันทุนหมอ 1,000 คนลงสู่พื้นที่ ขณะที่ “หมอเพชรดาว” ขอพลังหญิงส่งเข้าสภา ด้าน “รอมละห์” แห่งพรรคประชาชาติ ขายนโยบายสวัสดิการตั้งแต่ปฏิสนธิถึงเชิงตะกอน
หลังจากการเปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ทำให้ทราบอย่างเป็นทางการถึงผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองในแต่ละพื้นที่ว่ามีใครกันบ้าง และผู้สมัครหลายคนเริ่มเดินหน้าลงพื้นที่หาเสียงพร้อมหมายเลขประจำตัวกันอย่างคึกคัก
นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ หรือ “หมอแว” ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ ก็เช่นกัน หลังจากสมัคร ส.ส.เป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ลงพื้นที่หาเสียงทันที โดยตะลุยวันเดียว 5 หมู่บ้านของ ต.ลุโบะบายะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส โดยการตระเวนเดินเท้าไปยังบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยวัยชรา ชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลุโบะบายะ
หมอแวะ ได้พูดคุยกับชาวบ้านถึงนโยบายของพรรคว่า มุ่งปลดทุกข์จากความยากจน รวมทั้งรื้อฟื้นนโยบายด้านสาธารณสุขที่ประชาชนทุกคนสามารถจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ หากได้รับเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเคยมีตำแหน่งทางการเมือง แต่ไม่สามารถต่อยอดนโยบายได้เป็นรูปธรรมจากปัญหาหลายประการ แต่คราวนี้หากได้รับเลือก หรือพรรคพลังประชารัฐได้ชัยชนะเป็นเสียงข้างมาก ก็จะสามารถผลักดันนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาระดับรากหญ้าได้ โดยเฉพาะในเรื่องสาธาณสุข
ในการเดินเท้าหาเสียงของ นายแพทย์แวมาฮาดี ในครั้งนี้ ปรากฏว่าได้รับสนใจจากประชาชนในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด โดยชาวบ้านบางครอบครัวได้หยิบยื่นอาหารคาวหวานให้นายแพทย์แวมาฮาดี และทีมงาน เพื่อนำไปละศีลอด หรือ เปิดปอซอ ในช่วงเย็นด้วย และได้ถือโอกาสขอบคุณที่ได้เดินทางเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน
“อดีตผมเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง หลังจากทำงานภาคประชาสังคมก็ถูกอุ้ม สิ่งที่ผมจะทำประโยชน์ต่อสังคมดีที่สุด คือการนำความคิดในด้านการยกระดับด้านสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีปัญหในด้านสุขภาพมากที่สุดในประเทศไทย มาแก้ไขให้ได้อย่างจริงจัง ผมติดต่อกับสถานทูตคิวบา เพื่อขอทุน จำนวน 1,000 ทุน ให้กับนักศึกษาที่นี่เพื่อไปเรียนแพทย์ และจะได้กลับมาประจำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่อไป”
“แต่เรื่องทุนก็มีเงื่อนไข คือต้องเชื่อมกับรัฐบาลให้ได้ ก็เลยมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อมาดูแลด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมมีเงื่อนไขว่าถ้าจะให้มาทำงานการเมืองอีกครั้ง ขอให้ดำเนินการเรื่องทุนหมอ 1,000 คน โดยได้ประสานกับทาง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ทันที และจัดทำโครงการแพทย์ 1,000 คนให้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้บรรจุในนโยบายแผนงานที่จะทำภายในปีนี้” หมอแว กล่าว
นายแพทย์แวมาฮาดี ซึ่งเคยเป็น ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2550 กล่าวถึงสาเหตุที่หวนคืนเวทีการเมืองว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ขอให้ตนลงสมัคร ส.ส.เขต 1 นราธิวาส เพื่อทดแทนคนที่ลาออกจากพรรค ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส.ส.ของพลังประชารัฐยังไม่มีใครที่มีความชำนาญด้านการศึกษาและสาธารณสุข ตนคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อสังคม จึงยอมลงสมัคร ส.ส.อีกครั้ง
@@ เปิดประวัติ “หมอแว”
นายแพทย์ แวมาฮาดี แวดาโอะ เป็นชาว จ.นราธิวาส โดยกำเนิด จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเปิดคลินิก กับโรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดนใต้
ต่อมาในปี 2546 เขาถูกจับกุมเพราะถูกซัดทอดจากสมาชิกกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือ “เจไอ” ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวในอินโดนีเซีย และเคยมีแกนนำลำดับ 2 ของเจไอ คือ คือ “ฮัมบาลี” ถูกจับในไทย ให้การซัดทอดว่า หมอแว เกี่ยวข้องกับเจไอ และมีแผนลอบวางระเบิดสถานทูต 5 แห่งในกรุงเทพฯ ช่วงการประชุมเอเปค ทำให้ หมอแว ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นานถึง 2 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์
สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการควบคุมตัว หมอแว ที่มีการเปิดเผยในเวลาต่อมา ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าสุ่มเสี่ยงละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะ และนำตัวไปกักขังในเซฟเฮาส์
ต่อมา หมอแว ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.นราธิวาส ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 แต่วุฒิสภาสิ้นสภาพลงหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 อย่างไรก็ดี หมอแว ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และเมื่อมีการเลือกตั้งปี 2550 ก็ได้เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อแผ่นดิน โดยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นราธิวาส เป็นหัวหน้ากลุ่มสัจจานุภาพ จากนั้นได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคมาตุภูมิ และย้ายไปลงสมัคร ส.ส.กับพรรคแทนคุณแผ่นดิน โดยลงปาร์ตี้ลิสต์ในปี 2554 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
@@ “หมอเพชรดาว” ขอพลังหญิงส่งเข้าสภา
ด้าน พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ผันตัวมาลงสมัครแบบแบ่งเขต ที่เขต 1 ปัตตานี กล่าวว่า เขต 1 อำเภอเมืองปัตตานี มี 13 ตำบล ผลงาน 4 ปีที่ผ่านมา ตนเป็นมุสลิมะฮ์คนเดียวของไทยที่ได้เข้าไปนั่งทำงานในสภาผู้แทนราษฏร
“อยากให้ผู้หญิงได้เข้าสภามากกว่านี้ ถ้าผู้ชายเข้าสภา ก็จะขอไฟฟ้า ถนน สาธารณูปโภค เมื่อผู้หญิงเข้าไปจะได้ไปดูแลสังคม ผู้หญิง เด็ก กลุ่มเปราะบาง และการเจรจาสันติภาพ"
ส่วนความเป็นผู้หญิงกับการทำงานการเมืองนั้น หมอเพชรดาว บอกว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีได้ฟัตวาว่า มุสลิมมะฮ์ สามารถเป็น ส.ส. และ ส.ว.ได้ เพราะเป็นผู้แทนของประชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้อง สามารถทำงานการเมืองได้ไม่แพ้ผู้ชาย
"ตอนนี้ผู้ชายจะบอกว่าไม่ต้องห่วง เพราะเวลาอยากจะเจอ ส.ส. ผู้หญิงจะเจอง่ายกว่าผู้ชายเยอะ มั่นใจว่าในครั้งนี้จะสามารถฝ่าด่านเข้าไปได้ด้วยผลงาน 4 ปีที่เป็น ส.ส. ได้อภิปรายมากที่สุดในสภากว่า 80 ครั้ง นำปัญหาของชาวบ้านเข้าไปแก้ปัญหาในสภาได้มากที่สุด เช่น เรื่องน้ำประปาที่ตำบลปูยุด เมื่อเราลงไปดู อิหม่ามมัสยิดปูยุดบอกว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่มี ส.ส.ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของคนปูยุด และนำไปพูดในสภาเลย แค่หมอพูดก็สะท้อนปัญหา จะแก้ได้เร็วช้าก็ไม่ใช่ปัญหาแล้ว”
“เรื่องเหล่านี้เป็นกำลังใจให้เราได้เหมือนกัน สิ่งที่เราทด้สะท้อนกลับมา ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ มั่นใจว่าโอกาส 4 ปีที่ผ่านมา อัลลอฮ์ประทานโอกาสให้กับงานการเมือง เราทำอย่างเต็มที่ ผลตอบรับทั้งกลุ่มผู้หญิงและผู้ชาย คิดว่าน่าจะมีโอกาส ผลงานพิสูจน์เราได้จริงๆ" หมอเพชรดาว กล่าว
@@ "รอมละห์" ชูประชาชาติให้โอกาสผู้หญิง
ด้าน น.ส.รอมละห์ แซเยะ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นชาว จ.นราธิวาส ที่มีจิตอาสาตั้งแต่เรียนในรั้ว ม.อ.ปัตตานี หรือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยตั้งแต่ช่วงเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ใหม่ๆ เธอรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ในนาม "กลุ่มเยาวชนใจอาสา" เป็นอาสาสมัครนักศึกษา เป็นล่ามแปลเรื่องราวในพื้นที่แก่สังคม และทำงานในพื้นที่เรื่อยมา
น.ส.รอมละห์ บอกถึงการทำงานทางการเมืองว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เธอได้มีโอกาสทำงานการเมืองกับพรรคประชาชาติ โดยการเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และได้ช่วยงานเลขาธิการพรรคประชาชาติ (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ทำให้ได้เห็นว่า ผู้หญิงไม่ได้ทำได้แค่เป็นแม่บ้าน
"มองว่าประชาชาติให้โอกาสผู้หญิงตั้งแต่ต้นที่ชวนเราเข้าร่วมในสมัยแรก ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค รองโฆษกพรรค ผู้ช่วย ส.ส. บทบาทเหล่านี้ทำให้มีโอกาสร่วมในนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่สำคัญพื้นที่ตรงนี้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่"
รอมละห์ บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาชาติตั้งใจเป็นรัฐบาล เราเป็นฝ่ายค้านมา 4 ปี เห็นบทบาท ส.ส ประชาชาติทำเต็มที่มาก ผลักดัน พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน (พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ.2565) พ.ร.บ.ปลดหนี้ กยศ. (พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับใหม่) ไม่เห็นด้วยในเรื่องไหนก็ค้านหัวชนฝา ต้องทำให้ได้ตามนโยบาย ทุกคนทำเต็มที่
“ท่านทวีเองก็มีบทบาททำได้หลายอย่าง เชื่อมั่นว่าครั้งนี้อาจได้ ส.ส.มากขึ้นถึง 10 คน ทำให้มีตัวแทนประชาชนมากขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้นแน่นอน นโยบายของพรรคมีครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเสียชีวิต” รอมละห์ กล่าว
และว่า “พรรคประชาชาติ หนุนศักดิ์ศรีสตรี ดูแลเด็ก และผู้ด้อยโอกาส...
1.ทารกตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงอายุ 7 ปี ต้องได้ 4,500 บาทต่อเดือน เพราะแม่ต้องเลี้ยงลูกตลอดเวลา นอกจากเด็กมีสวัสดิการแล้วแม่ต้องมีเงินเดือนด้วย
2.ส่งเสริมศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแม่ต้องทำงานเต็มเวลา หรือให้เด็กได้อยู่กับครอบครัว ได้รับค่าตอบแทน 4,500 บาทต่อเดือน
3.เรียนฟรีถึงปริญญาตรี มีเงินเดือน
4.ค่าครองชีพสูงกว่ารายจ่าย เพื่อความอยู่รอดของชีวิต พรรคกำหนดรายได้ขั้นต่ำ 700 บาทต่อวัน ต้องมีทั้งมาตรการค่าแรงขั้นต่ำ สร้างงานสร้างอาชีพ และลดค่าครองชีพให้ประชาชน
5.เบี้ยคนชรา 3,000 บาทต่อเดือน
6.สิทธิการลาคลอดบุตร ทั้งพ่อและแม่ คนละ 180 วัน โดยได้รับเงินเดือนปกติ
อยากจะให้เลือกใครที่เราพึ่งได้ และมีประโยชน์ต่อเรามากที่สุด ซึ่งก็คือพรรคประชาชาติ” รอมละห์ ฝากทิ้งท้าย