พรรคภูมิใจไทยเปิดชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งหมด 98 คนเรียบร้อย ส่วนใหญ่ไม่มีอะไรพลิกโผ
อันดับ 1 เป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค อันดับ 2 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค
แต่ที่สะดุดตาคนชายแดนใต้ คือมีชื่อ “ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ” จาก ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา อยู่ในลำดับที่ 39
ด้วยความเป็นเธอคนยะลา ทำงานกับผู้หญิงและเด็กมาตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ และเธอสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปถึง 4 คนจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ที่สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เป็นอย่างดี
กว่า 14 ปีที่เธอได้ทำงานในภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรี รวมถึงผู้ที่ได้รับผลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทั้งเรื่องการเยียวยา การให้คำปรึกษา การประสานกับฝ่ายรัฐในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ และสิทธิต่างๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทโดยตรงทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทำให้ "ปาตีเมาะ” รับรู้และต่อสู้ในแนวทางที่ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถทำได้ จนวันนี้เธอจึงตัดสินใจเข้าทำงานการเมืองในนามผู้สมัคร ส ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เพื่อเป็นปากเสียงให้กับผู้หญิงและเด็กชายแดนใต้ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ
“ทีมข่าวอิศรา” สัมภาษณ์พิเศษ “ปาตีเมาะ” ถึงความคาดหวังในการก้าวสู่เส้นทางการเมือง
@@ ประสบการณ์และการทำงานกับผู้หญิงและเด็กในพื้นที่กว่า 10 ปี สรุปบทเรียนว่าต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้หญิง?
ฉันเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริง สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนเป็นภาพความรู้สึก และพบเจอจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งแค่ฉันคนเดียวคงไม่สามารถทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงได้ หรือตะโกนดังพอที่จะทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงหยุดกระทำต่อเด็กและสตรี หรือแม้กระทั่งผู้มีอำนาจที่ลงมาแก้ไขปัญหาหรือเข้ามามีบทบาท
อยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี สิ่งที่ฉันไปพบเจอมาเป็นอย่างไร เราควรจะแก้ไขไปในทิศทางไหนให้ถูกต้องให้ถูกวิธี แต่เสียงฉันมันก็ยังดังไม่พอในฐานะที่ทำงานกับผู้หญิง พยายามเรียกร้องพื้นที่การตัดสินใจของผู้หญิงทุกระดับ จนวันนี้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันกำหนดอนาคตตนเอง กำหนดอนาคตบ้านของเราเอง เพราะฉันเกิดและเติบโตมาในพื้นที่ ย่อมรู้ปัญหา จะนำประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ ตลอดจนรับฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไปกำหนดเป็นนโยบายและวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทางที่ดีขึ้น
ทางเดียวที่จะสามารถทำได้คือ การเข้าสู่เส้นทางของนักการเมือง หลายคนคิดว่าผู้หญิงกับการเมืองจะไปกันได้อย่างไร อยากให้ประชาชนมองว่า การเมืองทุกวันนี้เต็มไปด้วยผู้ชาย หากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราต้องให้โอกาสผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในสภาเพิ่มขึ้น มันคงเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่ตรงกันข้ามหากมีผู้หญิงในสภาสัดส่วนใกล้เคียงกับผู้ชาย คงเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า
@@ เพิ่มสิทธิและบทบาทของผู้หญิง จะขยายไปถึงการมีส่วนร่วมบนโต๊ะเจรจา หรือโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯด้วยหรือไม่?
หากมีโอกาสได้เข้าสู่เส้นทางการเมือง สิ่งที่จะทำคือเรื่องของสิทธิและบทบาทของผู้หญิง รวมทั้งการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงโดยตรง การมีพื้นที่ตัดสินใจของผู้หญิงในทุกระดับ โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทเป็นคณะกรรมการต่างๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ถึงระดับนโยบายของประเทศ ต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 30% รวมทั้งในการออกกฎหมาย ออกระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ก็ต้องมีตัวแทนผู้หญิงเข้าไปนั่งด้วย
สันติภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ ในฐานะปาร์ตี้ C ต้องรู้ว่าเขาคุยหรือตกลงอะไรกัน เรามีส่วนในการเสนอการแก้ไขของเราเอง กระบวนการพูดคุยควรต้องเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่รัฐบาลชุดไหนเห็นความสำคัญก็เกิดขึ้น หรือบางชุดก็หยุดไป ในส่วนของงบประมาณประจำปีควรจะมีตัวเลขกลมๆในทุกระดับ มีในส่วนพัฒนาสตรีโดยเฉพาะถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ส่วนใหญ่เมื่อช่วยเหลือสตรี มักมองแค่เรื่องอาชีพ เย็บเสื้อผ้า ทำขนม หากไม่พัฒนาศักยภาพ 10 ปีก็ส่งเสริมเหมือนเดิม ไม่เกิดการต่อยอดและพัฒนา สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ต้นทุนงบประมาณ ซึ่งต้องจัดการกับงบประมาณเหล่านี้
@@ โครงสร้างทุกระดับการเมือง ควรมีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วม?
เราพยายามส่งเสียงอยู่ตลอด พัฒนาความเข้มแข็ง ความเชื่อมั่นให้กับผู้หญิง ผู้หญิงในพื้นที่ยังขาดโอกาส ขาดองค์ความรู้ ความรู้คืออำนาจ สิ่งแรกที่จะทำให้ผู้หญิงกล้ามีจุดยืนของตัวเอง ลุกขึ้นมาต่อสู้ คือความรู้ในประเด็นนั้นๆ กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้อง บอกความต้องการของตนเองเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา ต้องสร้างโอกาส เพราะมีความรู้แต่ขาดโอกาสก็เสียเปล่า ชุมชนและสังคมต้องเห็นคุณค่าในความเป็นผู้หญิง
คิดว่าถ้าจะผลักดันเฉพาะระดับข้างล่างคงไม่พอ จึงขออาสาเข้าไปนั่งในสภา เพื่อเป็นตัวแทนของผู้หญิงและสร้างโอกาสให้ผู้หญิงเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในคณะกรรมการต่างๆ
นโยบายที่จะลงมาพัฒนาพื้นที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ และต้องอยู่ได้เช่นกัน ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต หญิงหม้าย เด็กกำพร้า ระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อวิถีชีวิต รวมทั้งระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไรให้คนสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มันย่ำแย่ ตอนนี้เชื่อมั่นว่าไม่มีใครรู้ปัญหาได้ดีเท่ากับคนในพื้นที่
@@ มุมมองด้านศาสนา บางคนมองว่าผู้หญิงไม่ควรเกี่ยวข้องเรื่องการเมือง?
หญิงกับการเป็นผู้นำเป็นเรื่องถกเถียงกันมานาน จากผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้ชาย มีฟัตวาหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2562 พูดถึง "การที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ หมายถึงการเป็นตัวแทน ไม่ใช่ว่าเป็นผู้นำทางศาสนา การเป็นตัวแทนทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชน จึงไม่ผิดหลักศาสนา"
แต่คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ การกระจายข่าวสารฟัตวาจึงสำคัญในการที่จะจัดการให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจการเมือง เป็นตัวแทนของกลุ่มคนในการเข้าไปผลักดันนโยบายต่างๆ เราไม่ได้ไปนำละหมาด
@@ ทำไมถึงเชื่อมั่นภูมิใจไทยว่า "พูดแล้วทำ"
จากที่ไม่เคยคิดจะลงการเมืองอีก หลังจากลงสมัครกับพรรคหนึ่งในสมัยที่แล้ว แต่ประสบการณ์การทำงานในด้านการช่วยเหลือผู้หญิง การปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้หญิง การพัฒนาศักยภาพ การส่งเสริมความเท่าเทียม รวมถึงการส่งเสริมสันติภาพในชายแดนใต้ ทำให้เข้าใจปัญหาและข้อจำกัดของชายแดนใต้มากมาย จึงตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคภูมิใจไทย
สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทยด้วยเหตุผลที่ว่า “พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ" เมื่อรับปากแล้วก็ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม
เห็นว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ผู้สมัครของภูมิใจไทยลงเกาะพื้นที่ตลอด ว่าที่ผู้สมัครก็เช่นกัน ลงพื้นที่ไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อได้รับเลือกแล้วไม่ใช่แค่นั่งในสภาแล้วจบหรือทิ้งพื้นที่ ทำให้เห็นว่างานการเมืองไม่ใช่ 4 ปีมาให้ประชาชนเห็นหน้าก่อนเลือกตั้ง สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมเป็นการยกระดับชีวิตของคน
อย่างหมอคนที่ 1 ใกล้ประชาชนที่สุด คือ อสม. ช่วงโควิดที่ผ่านมา อสม.ทำงานหนักมาก ภูมิใจไทยชูนโยบายเงินตอบแทน อสม. 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ทำได้จริง เชื่อมั่นว่า นโยบายที่ให้ประชาชนรับรู้ ไม่ใช่นโยบายขายฝัน พูดแล้วทำได้จริง รอบนี้ไม่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ก็สามารถทำได้แน่นอน
อีกเรื่องที่เป็นส่วนในการตัดสินใจคืออุดมการณ์ของพรรค เป็นพรรคที่เพียบพร้อมไปด้วยคนที่มีความสามารถและมีศักยภาพ ที่มีหัวใจรักชาติบ้านเมือง จึงเลือกที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย สิ่งที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันสนับสนุนและจะก้าวผ่านความขัดแย้งไปด้วยกัน
@@ อยากจะฝากอะไรถึงคนในพื้นที่?
วันนี้ฉันพร้อมแล้วกับความมุ่งมั่นที่จะทำงานการเมืองที่เข้าใจผู้หญิงด้วยกัน และทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อจะกลับมาพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจ การศึกษา บทบาทของผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศให้กลับมาดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว
4 ปีไม่นาน ลองเลือกคนใหม่เข้าไป ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง สมัยหน้าก็ไม่ต้องเลือก ให้โอกาสผู้หญิงได้มีพื้นที่ทางการเมือง อุดมการณ์ที่อยากเปลี่ยนแปลงในพื้นที่และทั่วประเทศเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงให้ดียิ่งขึ้น