มติพรรคประชาชาติเสนอชื่อ “วันนอร์ - ทวี” แคนดิเดตนายกฯ หลังรับสมัคร ส.ส.เตรียมยกคณะนั่งรถไฟไปมาเลย์ ถึงยะโฮร์บารู เดินสายเยี่ยม “ต้มยำกุ้ง” ด้านภูมิใจไทยทำ “ไพรมารี่โหวต” เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส 5 เขต “นัดมุจดีน” ห่วงเลือกตั้งล่วงหน้าในมาเลเซียตรงกับรายอ หวั่นกระทบผู้มาใช้สิทธิ์
วันพฤหัสบดีที่ 30 มี.ค.66 ที่ประชุมกรรมการบริหารและ ส.ส.พรรคประชาชาติ ลงมติเกือบจะเป็นเอกฉันท์ ขาดไปเสียงเดียวเท่านั้นว่า พรรคประชาชาติสมควรเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ในการเลือกตั้งปี 66 โดยให้เสนอ 2 ชื่อจากที่รัฐธรรมนูญให้เสนอได้ 3 ชื่อ คือ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค
ส่วนผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) นั้น ทางพรรคสรุปแล้วเช่นกัน จะส่งทั้งหมด 77 รายชื่อ แต่ยังไม่ได้เรียงลำดับ โดยที่ประชุมพรรคมอบหมายให้ หัวหน้าพรรคกับเลขาธิการพรรคไปเรียงรายชื่อ จัดลำดับให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 3 เม.ย.66 เพื่อยื่นสมัครกับ กกต.ให้ทันวันที่ 4 เม.ย.และจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯไปพร้อมกันเลย
ย้อนกลับไปการเลือกตั้งปี 62 พรรคประชาชาติเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ 3 รายชื่อ ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม
นายวันมูหะมัดนอร์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมพรรคมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ว่าควรเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯหรือไม่ บางคนมองว่าไม่จำเป็นต้องเสนอ เพราะไม่น่าจะอยู่ในข่ายได้เสนอชื่อเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา แต่เสียงส่วนใหญ่มองว่า ควรเสนอชื่อ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่า พรรคสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชน ปรากฏว่าที่ประชุมลงมติเกือบเป็นเอกฉันท์ ให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ และเสนอ 2 ชื่อ มีเพียงเสียงเดียวเท่านั้นที่มองว่าไม่ควรเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ
สำหรับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมือง เพิ่งมีขึ้นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปปี 62 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 ซึ่งบัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นครั้งแรก อยู่ในมาตรา 88 บัญญัติว่า “ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ...พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้”
มาตรา 89 บัญญัติ การเสนอชื่อบุคคลตามมาตรา 88 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
(2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (1) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น
การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น
@@ ประชาชาติเตรียมพาผู้สมัครขึ้นรถไฟหาเสียงมาเลย์!
มีรายงานว่า หลังจากยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งในระบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาชาติเตรียมนำผู้สมัคร ส.ส.ทั้งหมด เดินทางไปหาเสียงยังประเทศมาเลเซียด้วย
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า ราวๆ วันที่ 7 หรือ 8 เม.ย.นี้ ทางพรรคประชาชาตินำโดย อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค จะพาผู้สมัคร ส.ส.ทั้งหมด นั่งรถไฟจากประเทศไทยไปมาเลเซีย โดยปลายทางที่กรุงกัวลาลัมเปอร์และรัฐยะโฮร์บารู ซึ่งเป็นรัฐปลายสุดของแหลมมลายู
วัตถุประสงค์เพื่อไปเยี่ยมพี่น้องชาว “ต้มยำกุ้ง” ที่ไปเปิดร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ทั้งเจ้าของร้าน เชฟ เด็กเสิร์ฟ เด็กล้างจาน ซึ่งมีแรงงานในวงจรธุรกิจนี้ราวๆ 1-2 แสนคน และมีร้านต้มยำที่เป็นของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณการว่าราวๆ 5,000 ร้านทั่วมาเลเซีย
แรงงานต้มยำ เหมือน “ฮีโร่” ของคนชายแดนใต้ เพราะยอมเหนื่อย ยอมลำบากไปทำงานต่างแดน ส่งเงินกลับบ้าน เนื่องจากในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่มีงานทำ (ด้วยปัญหาเศรษฐกิจ และระบบการศึกษา เรียนจบศาสนา ไม่มีงานรองรับ) ฉะนั้นหากมัดใจ “แรงงานต้มยำ” ได้ ก็จะได้คะแนนเป็นแสนคะแนน นับรวมครอบครัวของคนเหล่านี้อีก ก็จะเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ ชี้ขาดแพ้ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ปลายด้ามขวานได้เลยทีเดียว”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า พรรคประชาชาติเป็นแชมป์เก่าชายแดนใต้ เลือกตั้งปี 62 ได้ ส.ส. 6 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่ง โดยคะแนนเสียงส่วนหนึ่งมาจาก “แรงงานต้มยำ” ไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่สถานทูตไทยในมาเลเซีย ต่อคิวยาวไปถึงนอกถนนตลอดทั้งวัน บ้างก็ลงทุนลางานเดินทางข้ามแดนกลับมาเลือกตั้งกันเลยทีเดียว
“เลือกตั้งปี 66 พรรคประชาชาติหวังแลนด์สไลด์ชายแดนใต้ ซึ่งมีเก้าอี้ ส.ส.เพิ่มขึ้นเป็น 13 ที่นั่ง โดยพรรคประชาชาติส่งครบทุกเขต บวกกับ 2 เขตที่สงขลา สตูล และ 1 เขตที่นครศรีธรรมราช กับสุราษฎร์ธานี รวมส่ง ส.ส. 19 เขต หวังชนะ 13 เขต”
@@ ภูมิใจไทยทำไพรมารี่โหวต 5 เขตนราฯ
หลังจากที่ กกต.ประกาศกำหนดให้วันที่ 3 – 7 เม.ย.66 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และวันที่ 14 พ.ค.66 เป็นวันเลือกตั้ง ทำให้หลายพรรคการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครกันอย่างคึกคัก
ล่าสุด ณ ที่ทำการตัวแทนพรรคภูมิใจไทยประจำจังหวัดนราธิวาส อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส พรรคภูมิใจไทยได้มีการจัดประชุมสมาชิกพรรค เพื่อรับฟังความคิดเห็นการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นราธิวาส หรือ “ไพรมารีโหวต” (primary vote) เพื่อสรรหาผู้มีคุณสมบัติที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้ง 5 เขตของ จ.นราธิวาส
สำหรับบรรยากาศในการประชุม มีว่าที่ผู้สมัครและทีมงาน สมาชิก ผู้สนับสนุนพรรคภูมิใจไทยเดินทางเข้าร่วมประชุมกันอย่างคึกคัก โดยที่การประชุมสรรหาได้ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ครบทั้ง 5 เขตเลือกตั้งแล้ว ประกอบด้วย
เขตเลือกตั้งที่ 1 นายลุตฟี หะยีอีแต
เขตเลือกตั้งที่ 2 นายราชวัตร เด่นตุลาการ
เขตเลือกตั้งที่ 3 น.ท.สุกรี ศรีริกานนท์
เขตเลือกตั้งที่ 4 นายซาการียา สะอิ
เขตเลือกตั้งที่ 5 นายสุกรี มะเต๊ะ
นายนัจมุดดีน อูมา แกนนำพรรคภูมิใจไทย รับผิดชอบ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า พรรคภูมิใจไทยมีความพร้อมที่จะสู้ศึกเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาสนั้น ตนมีความเชื่อว่าทุกๆ นโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่ได้ประกาศทั้ง 9 ข้อ จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่ประกาศอะไรไปแล้วทำจริง ตามนโยบายของพรรคว่า “พูดแล้วทำ” ถึงแม้ว่าพรรคภูมิใจไทยจะโดนกระแสโจมตีก็ถือว่าเป็นเกมทางการเมือง ซึ่งพร้อมจะสู้ เพราะมั่นใจในนโยบายของพรรค
“จากการทำงานเกือบ 1 ปีของพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่นราธิวาส ยิ่งทำงานยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า วันนี้ทุกเขตน่าจะได้รับการพิจารณาและความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนทั้ง 5 เขต เพราะความพร้อมของหัวหน้าพรรคที่เป็นคนหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์ ประกอบกับนโยบายทั้ง 9 ข้อ”
ส่วนประเด็นที่มีการโจมตีในเรื่องของกัญชาเสรีนั้น นายนัจมุดดีน กล่าวว่า ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า “กัญชาเสรี” พรรคภูมิใจไทยก็ไม่เอาเช่นเดียวกัน เราเอาเพียงกัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น ที่สำคัญนโยบายในการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และจะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลไทยกำลังทำกับฝ่ายที่เห็นต่างอย่างเต็มที่
ส่วนเรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในทุกๆ ด้านนั้น เรามีการปรับปรุงพร้อมผลักดัน ในส่วนของยาเสพติด มองว่า ยาบ้ามีความรุนแรงกว่ากัญชาหลายเท่า แต่กัญชานั้นสามารถนำมาทำยาเพื่อสุขภาพได้ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยขอประกาศ ณ วันนี้ว่าเราจะทลายแก๊งสิ่งผิดกฎหมายทุกรูปแบบต่อไป
@@ เลือกตั้งล่วงหน้าในมาเลย์ตรงรายอ หวั่นกระทบผู้มาใช้สิทธิ
นายนัจมุดดีน กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยเฉพาะที่ประเทศมาเลเซีย เดิมจัดให้มีการเลือกตั้งที่เมืองที่สถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ เช่น โกตาบารู ปีนัง แต่ทราบมาว่าในปีนี้จะให้มีการเลือกตั้งที่กัวลาลัมเปอร์ และยะโฮร์บารู จึงเป็นห่วงพี่น้องคนไทยที่อยู่รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู หรือรัฐเคดาห์ จะไม่สะดวกไปเลือกตั้งที่เมืองหลวงและวันเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 22-23 เม.ย. ก็ตรงกับวันฮารีรายอ หรือวันอีดิลอัฎฮาของพี่น้องมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านกัน
อยากให้ทาง กกต.ช่วยหาทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ควรจะเพิ่มหน่วยเลือกตั้งที่โกตาบารู รัฐกลันตัน และรัฐปีนังที่สำนักงานกงสุลใหญ่เหมือนเดิม และควรมีการขยับเลื่อนวันเลือกตั้งไปอีกสัปดาห์ เพื่อให้พี่น้องมุสลิมมีเวลาในการเดินทางกลับมาเลือกตั้งด้วย