การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะมีสัญญาณดีขึ้นหลังจบการพูดคุยแบบเต็มคณะที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 22 ก.พ.66
เป็นการพบปะพูดคุยกันแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 ของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นครั้งแรกของ พล.อ.ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยคนใหม่ ที่รัฐบาลมาเลเซียแต่งตั้ง
โดย “ตันศรี ซุลกีฟลี” เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย และทำงานด้านวิชาการมาก่อน
ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียก็เป็นรัฐบาลชุดใหม่ที่เพิ่งเข้าบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง เมื่อ19 พ.ย.ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรี
ความคืบหน้าอย่างสำคัญของการพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 ก็คือ “ตันศรี ซุลกิฟลี” แสดงความคาดหวังว่า หัวหน้าของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยในคราวหน้า ซึ่งจะเป็นการเข้าร่วมเจรจาครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2561 ที่บีอาร์เอ็นได้ผูกขาดการพูดคุยเพียงกลุ่มเดียว
แต่ล่าสุดบีอาร์เอ็นเห็นด้วยในหลักการที่จะเชิญ “กลุ่มอื่น” เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยและกลุ่มเหล่านั้นก็ต้องการมีส่วนร่วมในการเจรจา
ส่วนผลการพูดคุยในประเด็นอื่นที่เผยแพร่ผ่านแถลงการณ์ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) ยังคงวนเวียน หรือตอกย้ำใน 2 ประเด็นเดิม นั่นก็คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองและมีกรอบเวลาที่ชัดเจน
ที่สำคัญมีการคาดการณ์กรอบเวลากันเอาไว้ว่า จะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้ง และนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการพูดคุยไปสู่การปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาและนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
หากมองในมุมบวก นี่คือก้าวย่างครั้งสำคัญของโต๊ะพูดคุยสันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับบีอาร์เอ็น ซึ่งนำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน
โดยเฉพาะการเปิดให้ “กลุ่มอื่น” เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย และการกำหนดกรอบเวลาคร่าวๆ ว่าน่าจะบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งได้ภายในปีหน้า (พ.ศ.2567)
แต่หากมองในมุมของความเป็นไปได้ จะพบว่ากระบวนการพูดคุยยังอยู่ในสถานะ “เปราะบางอย่างยิ่ง” เพราะ
1. ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย แต่เป็นรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย
หรืออาจล้มกระบวนการ หรือเปลี่ยนรูปแบบไปเลยก็ได้ ซึ่งหากเป็นแบบนั้น กระบวนการนี้ก็จะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
2.การยุติความรุนแรงซึ่งฝ่ายไทยมองว่าเป็นการแสดงความจริงใจจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และการยืนยันว่าเป็น “ตัวจริง” ควบคุมสถานการณ์ได้ ยังมองไม่เห็นว่าจะบรรลุข้อตกลงได้อย่างไร เพราะฝ่ายขบวนการย่อมใช้ปฏิบัติการทางทหารกดดันกระบวนการพูดคุยเป็นระยะอย่างแน่นอน
พูดง่ายๆ คือ “จุดโฟกัส” ของแต่ละฝ่ายยังอยู่คนละจุดกัน
3.การเปิดให้ “กลุ่มอื่น” เข้ามาร่วมโต๊ะพูดคุย เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพจริงหรือไม่ เพราะในยุคการพูดคุยช่วงต้นรัฐบาล คสช. คือราวๆ ปี 2558-2560 ก็เปิดการพูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนขบวนการ หรือผู้เห็นต่างจากรัฐถึง 6 กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ซ้ำยังอ้างว่ามีบีอาร์เอ็นรวมอยู่ด้วย
@@ “ตันศรีฯ” มั่นใจบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุย “ตัวจริง”
หลังจบการพูดคุยแบบเต็มคณะครั้งที่ 6 เมื่อ 22 ก.พ. “ตันศรี ซุลกีฟลี” ก็เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น รวมถึง “รับฟัง” ข้อมูล ความรู้สึกจากกลุ่มคนมากมาย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาชน รวมถึงพี่น้องชาวไทยพุทธ
มีภาพ “ตันศรี ซุลกีฟลี” เดินทางไปวัดช้างให้ จ.ปัตตานี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพศรัทธาสูงสุดของชาวพุทธทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อให้เห็นภาพการสนับสนุน “พหุวัฒนธรรม”
“ตันศรี ซุลกีฟลี” ให้สัมภาษณ์หลายครั้งระหว่างอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ครั้งหนึ่งแสดงความมั่นใจว่า คณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น คือ “ตัวจริง” ที่ควบคุมสถานการณ์ได้
“ผมเองได้พูดคุยกับผู้นำเหล่านี้ ซึ่งดูจะค่อนข้างมั่นใจว่าจะควบคุมได้" เขากล่าวถึงผู้นำบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุย
เมื่อถามว่าหมายถึงขบวนการบีอาร์เอ็นหรือไม่ คำตอบของ “ตันศรี ซุลกีฟลี” ก็คือ...
“ผมคงต้องพูดว่าใช่ มันมีท่าทีที่ค่อนข้างเป็นบวก เรามาช่วยกันสวดมนต์ตามความเชื่อที่เรามีให้พระผู้เป็นเจ้าตอบรับในสิ่งที่เราได้ร้องขอไป"
@@ เหตุรุนแรงถี่ ห้วง “ตันศรี” เยือนชายแดนใต้
จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ห้วงเวลาที่ “ตันศรี ซุลกีฟลี” อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ คือระหว่างวันที่ 28 ก.พ. ถึง 4 มี.ค. เกิดเหตุรุนแรงแทบทุกวัน
2 มี.ค. คนร้ายขว้างระเบิดไปป์บอมบ์ถล่มฐานปฏิบัติการ ร้อย ทพ.4906 อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
3 มี.ค. คนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ของคณะรองแม่ทัพภาค 4 เจ้าหน้าที่อีโอดีทหารเสียชีวิต 2 นาย
4 มี.ค. คนร้ายลอบขว้างไปป์บอมบ์ถล่มฐานทหารพราน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด หรือแสดงว่ากองกำลังในพื้นที่แข็งแกร่งจริงหรือไม่ ย่อมหาคำตอบยาก
แต่สิ่งที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกแน่ๆ ก็คือ เหตุการณ์ร้ายสะท้อนถึงสถานการณ์ภาพรวมของชายแดนใต้ที่น่าจะ “สงบยาก” เพราะแม้ “คนกลาง” ที่จะช่วยในกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” พำนักและทำกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ ก็ยังมีบางกลุ่มออกมาก่อเหตุท้าทาย และแสดงศักยภาพว่าพวกตนยังมีกำลังคน กำลังอาวุธ และก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ได้ตลอดเวลา
ต้องไม่ลืมว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เป็นการลอบวางระเบิดขบวนรถของแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้สูญเสีย 1 ใน 2 นายเป็นนายทหารยศพันตรี
@@ เชื้อไฟที่ปลายด้ามขวานถูกดับแล้วจริงหรือ?
แม้จะมีคำพูดสวยหรูอธิบายเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างทางของกระบวนการสันติภาพว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากพิจารณา “สารัตถะ” ที่แท้จริงของปัญหาไฟใต้ จะพบว่ายังแทบมองไม่เห็นจุดจบจากสถานการณ์ปัจจุบันเลย เพราะ
1.ประชาชนในพื้นที่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็นชาวมลายูมุสลิม ยังไม่ยอมรับเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาที่ดำเนินการอยู่ คือ ใช้กำลังทหาร ใช้กฎหมายพิเศษ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผ่านโครงการเมกะโปรเจคขนาดใหญ่ที่มุ่งเรื่องเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลัก
2.ความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมที่มองรัฐไทยยังไม่ดีขึ้นมากนัก หรืออาจไม่ดีขึ้นเลย สืบเนื่องจากขบวนการไอโอ (ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) ที่สาดเข้าใส่กันทั้งสองฝ่าย และหลากหลายวิธี
3.ข้อเรียกร้องหรือความต้องการเกี่ยวกับการ “คงอัตลักษณ์มลายูมุสลิม” ยังแบ่งเป็นหลายระดับ หลายเฉดสี ไม่ได้เป็นเอกภาพ และยังคงถูกมองแง่ลบจากคนไทยในภูมิภาคอื่น ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมเท่านั้น
4.วงจรความรุนแรงในพื้นที่ยังคงถูกขยายออกไป และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกลุ่มคนที่ก่อเหตุ และแรงจูงใจในการกระทำ ข้อมูลจากฝ่ายบีอาร์เอ็นเองก็เคยยอมรับว่า ไม่สามารถควบคุมกองกำลังในพื้นที่ได้ทั้งหมด แต่อ้างว่าเป็นเพราะมีบางเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดจากกลุ่มของพวกเขา ทั้งที่ในความเป็นจริง บีอาร์เอ็นอาจสูญเสียการควบคุมกองกำลังบางส่วนไปแล้วก็เป็นได้
นี่คือปัญหาพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หนำซ้ำบางข้อยัง “แตกแยก และแตกต่าง” มากขึ้นไปอีก สืบเนื่องจากแนวทางแก้ไขปัญหาแบบ “ใช้ไม้แข็ง” ของรัฐ และใช้ “การทหารนำการเมืองและความยุติธรรม” (ซึ่งแน่นอนว่า ความยุติธรรมก็มีหลายระดับ หลายเฉดสี อีกเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นความยุติธรรมของใคร)
@@ 6 ประเด็นที่ยังมองไม่เห็น...แสงสว่างปลายอุโมงค์
เมื่อสถานะของปัญหาที่แท้จริงยังเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความคืบหน้าอย่างสำคัญของการพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 โดยเฉพาะการเปิดกว้างให้กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วยนั้น กลายเป็นคำถามว่าส่งผลดีต่อสถานการณ์จริงหรือไม่
อดีตหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง ตอบแบบตรงๆ ว่า “ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจะทำให้เราเสียเปรียบมาก”
เหตุผลที่หยิบยกมาอธิบายก็คือ
1.การพูดคุยรอบนี้ ไทยและมาเลเซียดูจะเร่งรีบให้เห็นผลเป็นรูปธรรมก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะไทยกำลังจะเลือกตั้ง ขณะที่การเมืองในมาเลเซียเองก็เปราะบาง เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงในสภาไม่มากพอจะเป็นหลักประกันได้ว่าจะอยู่ได้นานมากน้อยเพียงใด
2.การทำความตกลงที่จะเชิญกลุ่มเห็นต่างอื่นๆ เข้าร่วมด้วย สุดท้ายคงหนีไม่พ้นกลุ่ม “มารา ปาตานี” ซึ่งเคยมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเรียกร้องบางข้อที่เสนอในช่วงที่ยังพูดคุยกันอยู่ และตกลงกันไม่ได้ จนโต๊ะพูดคุยล้มไป
ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็นก็รอจังหวะนำข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อ ที่ยื่นสมัยโต๊ะพูดคุยในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 2556-2557) มาเป็นส่วนสำคัญในข้อตกลงใหม่ของโต๊ะพูดคุยรอบนี้ ซึ่งข้อตกลงทั้ง 5 ข้อถือว่า “แข็งกร้าว” และยากที่จะสร้างฉันทามติร่วมกันได้
3.ทิศทางของโต๊ะพูดคุยจะมีการเปิดโอกาสให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาร่วมหารือด้วย ซึ่งองค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ยืนอยู่ข้างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทั้งสิ้น
4.มีประเด็นที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นเรียกร้องในขณะนี้ คือ ขอให้ไทยเปิดโอกาสให้ตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นเข้ามาพบปะกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ เรื่องนี้เป็น “จุดเปราะบางอย่างสำคัญ” เพราะจะทำให้แกนนำของขบวนการที่เคลื่อนไหวในประเทศ กับแกนนำที่พำนักในมาเลเซีย สามารถผนึกเป็นหนึ่งเดียว
ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คนในพื้นที่กับแกนนำว่าสามารถเข้ามามีบทบาทได้ จนเกิดความฮึกเหิม พูดให้ชัดก็คือ จะทำให้ฝ่ายไทยสูญเสียความได้เปรียบด้านการปกครองพื้นที่
นอกจากนั้นยังมีประเด็นข้อกฎหมายว่า การเปิดโอกาสให้แกนนำบีอาร์เอ็นที่มีหมายจับเดินทางเข้าพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ไทยช่วยอำนวยความสะดวกนั้น จะใช้อำนาจจากกฎหมายฉบับใดไปเป็นข้อยกเว้นให้ผู้กระทำทำผิดอาญาเหล่านั้นได้
5.ประเด็นการพูดคุยและการเตรียมการของฝ่ายการเมืองที่เป็นองค์กรหน้าฉากของบีอาร์เอ็น เป้าหมายแรกคือการทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็น “เขตปกครองพิเศษ” ซึ่งฝ่ายไทยอาจคิดว่าจบ เพราะระยะหลังๆ ก็เริ่มมีการพูดเรื่องนี้หนาหูมากขึ้น แม้แต่คนในคณะพูดคุยซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเอง
แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นมองอีกด้านหนึ่งว่า “เขตปกครองพิเศษ” คือก้าวแรกที่จะนำไปสู่การลงประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดน
6.ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย ควรทำหน้าที่เพียงแค่นำทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน และไม่ควรแสดงความเห็นใดๆ แต่สำหรับผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย กลับแสดงความเห็นถึงแผนการพูดคุยด้วยซ้ำ
ขณะที่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย กับขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา กระทั่งสามารถทำข้อตกลงสันติภาพ และยุติการสู้รบลงได้ ตั้งคำถามว่า สิ่งที่ได้จากการพูดคุยที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นความคืบหน้าแน่หรือ ปัญหานี้จะจบลงเมื่อใด และจุดหมายปลายทางคืออะไร
เพราะต้องไม่ลืมว่าแต่ละเดือน แต่ละปี แต่ละการพบปะที่ผ่านไป ล้วนเป็นงบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศทั้งสิ้น (งบของคณะพูดคุยฯ ราวๆ ปีละ 20 ล้านบาท)
พล.อ.อกนิษฐ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังบอกด้วยว่า การรวมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมาร่วมโต๊ะพูดคุยกับบีอาร์เอ็น ไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะเสี่ยงขัดแย้งกันเองแล้ว ยังคุยจบยาก อาจมีปัญหาเรื่องกลุ่มใดควรมี “บทบาทนำ”
“ทำไมไม่เปิด track 2 track 3 คุยกับกลุ่มอื่นๆ ไปพร้อมกัน กลุ่มไหนตกลงกับเราได้ ก็ประกาศออกมา ก็เดินหน้าพัฒนาหรือทำงานร่วมกันไป เพื่อกดดันให้ track 1 เร่งบรรลุข้อตกลง” อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ดูเหมือนมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพของฝ่ายไทยเอง ก็มีหลายระดับ และหลายเฉดสีด้วยเช่นกัน!